วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

วันรังสีเทคนิคโลก VS สภารังสีเทคนิคไทย

วันที่ 8 พฤศจิกายน ปีนี้ เป็นวันครบรอบปีที่ 123 แห่งการค้นพบเอกซเรย์โดยศาสตราจารย์เรินทเกน ที่เชื่อว่าหลายท่านจะรู้จักชื่อนี้ดี ทำให้ศาสตร์ทางรังสีวิทยาเกิดขึ้นนับจากนั้น และเอกซเรย์ได้ถูกนำไปใช้เพื่อการวินิจฉัยโรคและรักษาโรค

วันนี้เป็นวันที่สังคมให้ความสำคัญเพราะตระหนักดีว่า เอกซเรย์มีประโยชน์ต่อมวลมนุษย์อย่างมหาศาลและยาวนาน ทั้งการแพทย์ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม ฯลฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรังสีทางการแพทย์ วันนี้จึงถูกกำหนดให้เป็นวันรังสีเทคนิคโลกหรือ World Radiography Day เพื่อระลึกถึงการค้นพบเอกซเรย์ในวันนั้นเมื่อ 123 ปีที่ผ่านมา

สำหรับประเทศไทย มีการจัดกิจกรรมเพื่อระลึกถึงวันรังสีเทคนิคโลกกันจำนวนมาก รวมถึงคณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต ก็ได้จัดงานวันรังสีเทคนิคโลกขึ้นด้วยเช่นกัน และจัดเป็นปีที่ 3 แล้ว ปีนี้นักศึกษาเป็นผู้จัดงาน โดยมีอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล เชียงใหม่ ธรรมศาสตร์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ฯลฯ รวมทั้งพี่ๆนักรังสีเทคนิคจากโรงพยาบาลต่างๆ เช่น BDMS โรงพยาบาลสิงห์บุรี ฯลฯ เข้าร่วมงานจำนวนกว่า 200 คน ได้ชูประเด็น "Let the RT's Story Begin" เน้นไปที่รังสีรักษา
สำหรับสมาคมนักรังสีเทคนิคนานาชาติ ISRRT ได้ออกโปสเตอร์เนื่องในวันรังสีเทคนิคโลกประจำปีนี้ชูประเด็นเรื่อง Precission และ Compassion
วันนี้การใช้เอกซเรย์ทางด้านการแพทย์กับผู้ป่วย ดำเนินการโดย รังสีแพทย์และนักรังสีเทคนิค ได้มีวิวัฒนาการแตกต่างจากเมื่อก่อนอย่างมากมาย จากการถ่ายภาพอวัยวะภายในร่างการมนุษย์ด้วยเทคนิคการเกิดเงาแบบธรรมดาและบันทึกภาพด้วยฟิล์ม พัฒนามาสู่ระบบดิจิทัล พัฒนาเทคนิคการถ่ายภาพธรรมดามาสู่การสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ เกิดเป็นเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือ CT และการพัฒนาศาสตร์ทางด้านนี้ได้แตกแขนงไปหลากหลายสาขามากมาย จนทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ ทั้งทางด้านวินิจฉัยและรักษาด้วยรังสี

นักรังสีเทคนิคในอนาคตจะเจออะไรบ้าง?? เชิญติดตามอ่านเรื่อง "รังสีเทคนิคไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า" ซึ่งได้เปิดมุมมองแนวโน้ม 6 ประการที่มีผลกระทบ ได้แก่ สังคมผู้สูงอายุ ความผูกพันของผู้ป่วย เทคโนโลยีสารสนเทศ การสร้างภาพระบบไฮบริด ความปลอดภัยของผู้ป่วย และความเชี่ยวชาญย่อยกับความเป็นเอกภาพของนักรังสีเทคนิค

การที่ชุมชนรังสีเทคนิคมีประชากรเพิ่มขึ้นเกือบ 5,000 คนแล้ว การเดินหน้าสู่สภาวิชาชีพ จึงเป็นเรื่องที่ควรมีความคืบหน้าและชัดเจนมากขึ้น โดยเมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการวิชาชีพฯตามข้อเสนอของสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย ได้เสนอเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการประกอบโรคศิลปะเพื่อพิจารณาและที่ประชุมสนับสนุนให้ดำเนินการต่อไป ซึ่งช่วงนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการตามลำดับขั้นต่อไป คงได้เห็นรูปร่างของสภารังสีเทคนิคชัดเจนขึ้นในไม่ช้าไม่นานนี้


วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

บันทึกลำดับเวลาวิชาชีพรังสีเทคนิค

  (2,562 ครั้ง) 
บันทึกนี้ เป็นเรื่องราวลำดับเวลาที่สำคัญของวิชาชีพรังสีเทคนิค บันทึกไว้เพื่อเป็นข้อมูลให้สืบค้นได้ หากอยู่แค่ในความทรงจำ ก็จะรอวันที่สิ่งเหล่านี้ค่อยๆเลือนลางหายไป

พ.ศ. 2510 บัณฑิตรังสีเทคนิครุ่นแรกของประเทศไทยจำนวน 11 คน มาจากโรงเรียนรังสีเทคนิค (ปัจจุบันคือภาควิชารังสีเทคนิค) มหาวิทยาลัยมหิดล
10 พฤษภาคม 2542 ประกาศใช้พระราชบัญญัติการประกอบโรศิลปะ

23 กรกฎาคม 2545 ประกาศใช้กฤษฎีกากำหนดให้รังสีเทคนิคเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ (ปัจจุบันกฤษฎีกานี้ได้ยกเลิกแล้ว แต่ได้ยกข้อความสำคัญไปไว้ในพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2556) จากนั้นจึงได้มีการดำเนินการให้นักรังสีเทคนิคมาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค

27 พฤษภาคม 2547 นักรังสีเทคนิคจำนวน 56 คน สอบผ่านได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค เป็นกลุ่มแรก คุณสมบัติของกลุ่มนี้คือ เป็นผู้มีประสบการณ์ทำงานด้านรังสีเทคนิคมากกว่า 25 ปี

10 สิงหาคม 2547 ประกาศใช้ระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการรักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพของผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค (ปัจจุบันระเบียบนี้ถูกยกเลิกแล้ว และใช้จรรยาบรรณกลางแทน คือ ระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการรักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพของผู้ประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2559)

12 ธันวาคม 2547 นักรังสีเทคนิคทั่วประเทศเข้าสอบเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค จำนวน 1,256 คน สนามสอบจัดขึ้นที่ ห้องประชุมชั้นที่ 12 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพ
น่าจะกล่าวได้ว่า เป็นการรวมตัวของนักรังสีเทคนิคมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา การสอบครั้งนี้ใช้เวลาวันเดียว ภาคเช้าและบ่าย ภาคเช้าเป็นการสอบวัดความรู้พื้นฐานในวิชาชีพรังสีเทคนิคใช้เวลาสอบ 3 ชั่วโมง ส่วนภาคบ่ายเป็นการสอบวัดความรู้ทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องใช้เวลาสอบ 1.5 ชั่วโมง

นักรังสีเทคนิคที่เข้าสอบครั้งนี้ต่างแสดงความยินดี ที่กำลังจะมีใบประกอบโรคศิลปะฯหลังจากที่รอคอยมานาน และต่างรู้สึกภาคภูมิใจ ที่สังคมไทยให้การยอมรับวิชาชีพรังสีเทคนิค หลายคนบอกว่ารักวิชาชีพนี้ขึ้นอีกมากและจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ให้สมกับที่สังคมให้ความไว้วางใจ

ผู้เข้าสอบหลายคนเตรียมความพร้อมมาอย่างดี เนื่องจากก่อนหน้าจะถึงวันสอบได้มีการจัดอบรมฟื้นฟูความรู้เกี่ยวกับรังสีเทคนิค ซึ่งจัดโดยหลายองค์กร หลายคณะ และครั้งสุดท้ายก่อนวันสอบหนึ่งวัน กองการประกอบโรคศิลปะก็ได้จัดให้มีการอบรมเพื่อฟื้นฟูความรู้ของผู้ที่จะเข้าสอบอีกด้วย สำหรับจำนวนผู้เข้าสอบมาจากโรงพยาบาลตามอำเภอและจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ มีผู้เข้าสอบที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดลจำนวน 50% มหาวิทยาลัยรามคำแหง 27% มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 15% มหาววิทยาลัยนเรศวร 5% และมหาวิทยาลัยขอนแก่น 3% ทั้งหมดรวม 1,256 คน

ชาวรังสีเทคนิคที่เข้าสอบทั้งสิ้น 1256 คนในคราวนั้น ต่างแสดงความยินดีกันทั่วหน้า หลังรอลุ้นว่าผลการสอบจะออกมาอย่างไร เมื่อคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค (ก.ช.) ได้ประกาศผลการสอบอย่างเป็นทางการแล้ว ทั้งทางเว้ปไซต์ของสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย เว้ปไซต์ของกองการประกอบโรคศิลปะ และหนังสือแจ้งผลการสอบไปยังผู้เข้าสอบทุกคน โดยในเว้ปไซต์นั้นสามารถเข้าดูผลการสอบได้ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2548 

ในคราวนั้นซึ่งเป็นครั้งแรกของการสอบในประวัติศาสตร์ของรังสีเทคนิค มีผู้ที่สามารถทำคะแนนได้ตามเกณฑ์ที่ ก.ช. กำหนดคือ ได้คะแนนสอบตั้งแต่ 60% ขึ้นไปทั้งสองวิชาจำนวน 1072 คน (85%) และมีผู้สอบไม่ถึงเกณฑ์ที่ ก.ช. กำหนดจำนวน 184 คนหรือประมาณ 15% ของจำนวนผู้เข้าสอบทั้งหมด เป็นที่น่าสังเกตว่า ในจำนวนผู้ที่สอบไม่ถึงตามเกณฑ์ที่ ก.ช. กำหนดนั้น ส่วนใหญ่จะสอบไม่ผ่านวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ


5 สิงหาคม 2551 ประกาศคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคเรื่อง สมรรถนะและมาตรฐานวิชาชีพสำหรับผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค ทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องมาตรฐานและสมรรถนะของนักรังสีเทคนิคไทย ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนรังสีเทคนิคของสถาบันต่างๆ นำไปสู่การที่คณะกรรมการต้องเข้าไปประเมินเพื่อรับรองสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตสาขารังสีเทคนิค และเริ่มการประเมินรับรองสถาบันต่างๆในเดือนพฤศจิกายน 2553 ตามที่กฎหมายกำหนด


22 กรกฎาคม 2561 วันสอบขึ้นทะเบียนใบประกอบโรคศิลปะ สาขารังสีเทคนิค ประจำปี 2561 ล่าสุด จัดขึ้น ณ ห้องประชุม 1 และ 4 ชั้น9 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณะสุข มีผู้เข้าสอบ 237 คน
ปัจจุบัน ( พค. 2561) มีจำนวนนักรังสีเทคนิคที่มีใบ รส. ทั้งสิ้น 4,485 คน

ขอชาวเราจงเชื่อมั่นว่า...“การบริการด้านรังสีเทคนิคของไทย เป็นบริการที่มีคุณภาพ น่าไว้วางใจในทุกมิติ ทุกขั้นตอน ทุกเวลา สำหรับทุกคน ก็ด้วยการพัฒนาอย่างไม่ออมมือ เต็มศักยภาพที่มนุษย์สร้างสรรค์พึงทำได้”

วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ชุมนุมปรมาจารย์รังสีเทคนิคครั้งที่ 16

ใช้ชื่อว่า "ชุมนุมปรมาจารย์รังสีเทคนิคครั้งที่ 16" หลายคนอาจงงๆว่าชุนนุมอะไร จริงๆก็คือ การประชุมสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค หรือ RT Consortium นั่นเอง การประชุมดำเนินมาถึงครั้งที่ 16 แล้วนับจากการประชุมครั้งแรกเมื่อปี 2550 ที่ ภาควิชารังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ

สำหรับในครั้งที่ 16 นี้ คณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นที่หอประชุมศาลาดนตรีสุริยเทพ  ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2561 โดยคาดว่าจะมีอาจารย์รังสีเทคนิคและที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันประมาณ 100 คน

หัวข้อที่พูดคุยกันที่สำคัญคือ
     รังสีเทคนิค 4.0
     การจัดการศึกษาที่เป็นเลิศตามเกณฑ์ประกันคุณภาพการศึกษาในมิติต่างๆ
     การจัดการนักศึกษาฝึกงาน
เป็นต้น