วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

แค่น้ำหยดเดียวก็มีค่ายิ่ง

  ผมได้เคยเขียนเรื่อง "ลิงเหมือนคน?" ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ genetic coding หรือ การทำตามๆกันมาโดยปราศจากการพัฒนา ปราศจากการคิดวิเคราะห์ที่เกิดจากตัวเรา ถ้าพูดแรงๆก็คือคิดไม่เป็น หรือไม่กล้าคิดแหวกแนว ทำให้เราไม่กล้าที่จะทำในสิ่งที่แตกต่างเพราะกลัวผิด ผมไม่ได้หมายความว่าทุกเรื่องนะครับ เรื่องไม่ดีเราจะทำไปทำไม เราต้องกล้าทำเรื่องดีๆในสิ่งที่แตกต่าง เพื่อให้เกิดการพัฒนา เพื่อให้มันดีขึ้น ไม่ใช่ให้มันแย่ลง หลายคนก็คิดไปว่า ผมกำลังตั้งตัวเป็นผู้รู้มาเที่ยวสอนชาวเรา หรือผมกำลังอวดศักดาอะไรประมาณนั้น จริงๆแล้ว ผมไม่ได้รู้อะไรมากนักหรอก อาจารย์ที่ผมเคารพนับถือท่านก็คอยเตือนเสมอๆว่า อย่าอวดตนเองว่าดีว่าเก่งกว่าผู้อื่นเขาจะดูไม่เข้าทีหรือทุเรศ ผมก็ระวังตัวและเตือนตัวเองอยู่เสมอ สิ่งที่เขียนแสดงออกไปนั้น มันออกมาจากใจเมื่อได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นและกำลังจะเป็นไปตามเหตุและปัจจัย ก็เท่านั้นเองครับ ชาวเราที่มีมุมมองในเชิงสร้าสรรก็สามารถแสดงออกได้ 



  วกมาเรื่องที่ตั้งใจจะเขียนดีกว่า มีหลายคนที่มีความกล้าที่จะทำในสิ่งที่แตกต่างเพื่อให้ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกับรังสีเทคนิคไทย คำว่ารังสีเทคนิคไทยผมหมายรวมถึง นักรังสีเทคนิค จิต วิญญาณ เกียรติภูมิ ความเป็นนักรังสีเทคนิค และทุกๆอย่างที่เกี่ยวกับรังสีเทคนิคของประเทศไทย แต่หลายคนเหล่านั้นอาจชอกช้ำเพราะมีชาวเราอีกหลายคนที่ไม่เข้าใจสิ่งที่เขาเหล่านั้นได้ทำไป โรคท้อก็ถามหา บางคนที่ทุ่มเทก็ฝ่อและเหี่ยวไปเลยอย่างน่าเสียดาย การให้เกียรติกัน การให้กำลังใจกัน การเห็นคุณค่าของกันและกัน ในยุคแห่งการเริ่มต้นบุกเบิก (โดยเฉพาะคนที่ใกล้ๆกัน ในชุมชนเดียวกัน) น่าจะดีกว่าอย่างมากๆๆไหมครับ มันจะดีกว่าการที่เรา พูดถึง รู้สึก แสดงออก ในเชิงเห็นคุณค่าหรือยกย่องใครก็ไม่รู้ที่อยู่ไกลจากชุมชนเราเหลือเกิน ว่าเก่ง ว่าดี ว่าเจ๋ง แม้ใครคนนั้นไม่ได้สนใจเรา ไม่ได้ให้คุณอะไรกับชุมชนของเราเลยแม้แต่น้อย

  ชาวเราหลายคนที่ทำงานในโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งมีแค่เครื่องเอกซเรย์ธรรมดา ไม่มีเครื่องมือรังสีที่ทันสมัย ราคาแพง เรียกว่าอยู่ในที่แห้งแล้งกันดานทางเครื่องมือและเทคโนโลยีมาก มาบ่นกับผมทำนองน้อยเนื้อต่ำใจ ที่ต้องทำงานในสภาพนี้ ดูไม่ค่อยน่าตื่นเต้น และก็ไม่มีใครเหลียวแล เรียนมาแทบเป็นแทบตาย แต่ให้ทำแค่นี้ ผมก็ให้กำลังใจไปว่า เราต้องมีศัทรา เอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ทำงานให้เกิดความสนุกสนาน ทำตรงนั้นให้ดีที่สุดจนสุดความสามารถของเรา เสมือนว่าตรงนั้นคือบ้านของเรา ถ้าเราทำจนบ้านดีน่าอยู่อาศัย เราก็อยู่ดีมีสุขไปด้วย ถ้าเราหนีไปทำงานในที่ที่มันมีอะไรพร้อมหมดแล้ว มองอีกด้านหนึ่งมันจะสนุกหรือมันตรงไหน เพราะพร้อมหมดแล้ว เราจะไปทำอะไรได้ ก็มีชาวเราที่ทำงานในที่ที่อุดมสมบูรณ์เกือบจะทุกอย่าง มาบ่นให้ผมฟังเหมือนกันว่าทำไมที่ที่ทำงานอยู่มันแห้งแล้งน้ำใจเหลือเกิน ผมก็ได้แต่รำพึงในใจว่าโลกนี้หาความพอดียาก เลยคิดถึงคำพระที่ว่า จงพอใจในสิ่งที่ตนมี วงเล็บอย่างถูกต้อง หมายความว่า ไอ้ที่เราได้มาหรือมีนั้นจะต้องมีหรือได้มาอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ไม่ทุจริต ฉ้อโกง หรือใช่เล่ห์กลเอามาเป็นของตนเอง

  อาจารย์สุพจน์ อ่างแก้ว ชื่อนี้ชาวเรารู้จักดี ท่านเป็นผู้ให้กำเนิดวิชาชีพนี้ครั้งแรกในประเทศไทย อาจารย์สุพจน์ต้องลำบากและขมขื่นแสนสาหัส กว่าวิชาชีพนี้จะเป็นตัวตนได้อย่างปัจจุบันนี้ ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับอาจารย์สุพจน์ค่อนข้างบ่อยมากในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาและหลังจากที่อาจารย์เกษียณแล้ว ทุกครั้งที่คุยกัน อาจารย์จะมีเรื่องดีๆ ข้อคิดดีๆ มาให้ผมได้ขบคิด บางเรื่องก็นำไปปฏิบัติในชีวิตจริง หลังเกษียณอาจารย์สุพจน์ท่านจะมาที่คณะฯที่ที่ท่านเคยทำงานอยู่ที่เดียวกับผม เพื่อสอนนักศึกษา และอ่านฟิล์มเอกซเรย์ที่ออกบริการชุมชนทุกอาทิตย์แต่ระยะหลังสุขภาพท่านไม่เอื้ออำนวย ท่านมักจะแวะเข้ามาหาผมที่ห้องทำงานและพูดคุยกัน อาจารย์สุพจน์สามารถคุยได้ทุกเรื่อง และเป็นเรื่องที่มีสาระเสมอ และผมจะรู้สึกเหมือนว่าอาจารย์มาช่วยเคาะสนิมในตัวผม ทำให้ผมโล่งและตาสว่างหลายเรื่อง วันหนึ่งได้คุยกับท่านและผมถามท่านว่า สมัยที่ท่านไปดูงานรังสีเทคนิคในต่างประเทศ ท่านมีโอกาสที่จะอยู่อาศัยและทำงานในต่างประเทศได้เลย เพียงแค่ใช้ทุนรัฐบาล และเงินเดือนที่ต่างประเทศก็สูงมากด้วย ทำงานไม่นานก็คุ้มกับเงินที่ชดใช้รัฐบาลแล้ว ท่านฟังจบแล้วก็ยิ้มพร้อมกับตอบว่า "ถ้าจะบีบคั้นหาความสามารถและความดีในตัวผม คงได้เป็นน้ำสักหยดหนึ่งเห็นจะได้ น้ำหยดนี้ ถ้าเราไปหยดในที่ที่ชุ่มชื้นอยู่แล้ว มันคงไม่มีค่าหรือมีความหมายสักเท่าไร เพราะมันชื้นแฉะอยู่แล้ว เหมือนในต่างประเทศที่เข้าพร้อมอยู่แล้ว ตัวผมคงไม่สามารถทำอะไรให้เขาได้มากเท่าไร แต่ถ้าเราเอาหยดน้ำนี้ไปหยดในที่ที่แห้งแล้ง แม้เพียงหยดเดียวก็ดูมีค่ายิ่ง เหมือนประเทศไทยของเรา ที่แห้งแล้งและขาดแคลนอย่างมากในเรื่องรังสี ถ้าผมมาอยู่ตรงนี้ที่ประเทศไทย ผมก็จะช่วยทำประโยชน์ได้มาก"

ถ่ายที่คณะวิศวกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่
  ผมฟังอาจารย์สุพจน์พูดจบแล้ว มีความรู้สึกซาบซึ้งจับใจมากอย่างบอกไม่ถูกทีเดียว อาจารย์สุพจน์เปรียบเทียบชนิดเห็นภาพทะลุทะลวงโปร่งตลอดไม่มีอะไรติดขัด และผมก็ไม่อยากจะเก็บความรู้สึกนี้ไว้คนเดียว เรียนอาจารย์สุพจน์ว่าผมขออนุญาตเอาคำพูดที่อาจารย์คุยกับผม มาเขียนในบันทึกประกายรังสีเพื่อให้ชาวเราได้รับทราบด้วย โดยเฉพาะชาวเราในที่แห้งแล้งที่กำลังคิดว่าเรียนมาแทบตายแล้วให้ทำแค่นี้ ซึ่งท่านก็อนุญาต แต่ท่านเตือนว่า ระวังเขาจะหาว่าเรายกตัวเองสูงกว่าผู้อื่น อาจหาญไปสอนเขา ผมหวังว่าชาวเราคงไม่คิดเช่นนั้นนะครับ เพราะเจตนาผมไม่ต้องการเช่นนั้นเลย เพียงแค่พบอะไรดีๆก็เอามาฝากครับ เป็นกำลังใจเล็กๆกับชาวเราที่กำลังหดหู่อยู่ในเวลานี้ครับ


มานัส มงคลสุข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น