วันอังคารที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา (1)



(1,254 ครั้ง)
     ผมยังไม่เคยเห็นสังคมไหนที่ไม่มีความขัดแย้ง ถ้าจะกล่าวว่า ความขัดแย้งในสังคมย่อมมีเกิดขึ้นเสมอๆเป็นธรรมดา คำกล่าวนี้คงไม่เกินเลยความจริงนักนะครับ คราวนี้จึงชวนชาวเรามองเรื่องของความขัดแย้งแบบพินิจพิเคราะห์ให้ละเอียดขึ้น
ดวงอาทิตย์ส่องแสงแรงกล้า
พุ่งผ่านปัทมาบนน้ำใส
ทั้งที่ตูมแต่มองเห็นเด่นภายใน
แปลกฤทัยใยแสงจึงแรงนัก
ดุจรังสีสาดส่องกายา
ผ่านออกมาภายในจึงประจักษ์
ธรรมชาติลิขิตไว้ประหลาดนัก
ให้ทายทักโรคได้สบายเอย

ชาวเราได้ผ่านการเรียนในห้องเรียน ห้องฝึกปฏิบัติการ เรียนกับสถานการณ์จริง เพื่อให้มีสมรรถนะครบตามมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพ ทำงานแล้วก็ยังต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ได้เรียนรู้ทั้ง สิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่เป็นจริง ชาวเราหลายคนอาจคิดว่ามันเหมือนกัน ไม่เหมือนกันหรอก มันต่างกันเด็ดขาดครับ สิ่งที่ถูกต้อง มันจะถูกต้องภายใต้เงื่อนไขหนึ่งก็ได้ มันขึ้นกับ space&time ถูกต้องวันนี้ วันต่อไปอาจผิดก็ได้ แต่สิ่งที่เป็นจริง ไม่มีเงื่อนไขอะไร มันเป็นเช่นนั้น space&timeไม่มีอิทธิพลต่อความเป็นจริง”  
หากชาวเรามองภาพเอกซเรย์ที่เกิดจากการใช้หลักการ shadow technique มีสิ่งหนึ่งซึ่งสอนใจเรา คือ  สิ่งที่เห็นคือสิ่งที่มี สิ่งที่ไม่เห็นคือสิ่งที่ไม่มีหรืออาจมีก็เป็นได้ จริงไหม? เช่น สุริยุปราคาเต็มดวงที่เรารู้สึกว่าเห็นดวงอาทิตย์เป็นสีดำ แต่ความเป็นจริงคือเราเห็นดวงจันทร์เป็นรูปวงกลมสีดำ โดยไม่เห็นดวงอาทิตย์ ซึ่งเราก็รู้อยู่แก่ใจเราว่า ยังไงมันก็ยังมีดวงอาทิตย์อยู่ ไม่ได้หายไปไหน มันขึ้นกับตำแหน่งวัตถุและมุมมองของเรา
นักรังสีเทคนิคมีความสามารถหลายอย่าง เรื่องการสร้างภาพรังสีทางการแพทย์ก็เป็นความสามารถหนึ่ง ชาวเราย่อมเข้าใจดีว่า จะเห็นภาพรังสีเหล่านั้นได้เพราะมีความแตกต่างของความดำ-ขาวเกิดขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า เพราะมีความสว่างจึงรู้ว่ามีความมืด เพราะมีความมืดจึงรู้ว่ามีความสว่าง นั่นแหล่ะ Radiographic Contrast”
จริงหรือไม่ที่คนเราโดยส่วนมากมัก มองเห็นความแตกต่างกันมากกว่าความเหมือนกัน คนเรานั้นเหมือนกันเยอะมาก ทางกายภาพ เช่น หายใจ กินอาหาร ขับถ่าย ขยายพันธ์ ฯลฯ เหมือนกันหมด ในเรื่องของสติปัญญา ความรู้ จิตใจ ก็เหมือนกัน ทั้งหมดนั้นอาจแตกต่างกันบ้าง คือมี contrast เกิดขึ้นบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าใครดีกว่าใคร ซึ่งความแตกต่างนี้ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับทั้งหมดของความเป็นมนุษย์ แต่คนเราก็มักจะมองเห็นความแตกต่างอันน้อยนิดนี้ได้อย่างชัดเจน โดยอาจลืมหรือมองไม่เห็นสิ่งที่เหมือนกันเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อความแตกต่างนั้นผูกโยงกับผลประโยชน์แล้วไซร้ ความขัดแย้งก็จะบังเกิดขึ้นนำไปสู่การปะทะกันระหว่างคู่ขัดแย้ง เมื่อปะทะกันแล้วผลเสียหายจะเกิดตามมาแบบคาดไม่ถูกเลยครับ และมองหาประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการปะทะกันได้ยากมากๆ หรือไม่เกิดประโยชน์เลย
ลองคิดถึง annihilation radiation ที่เกิดขึ้นระหว่าง positron และ electron เรื่องนี้ชาวเราทราบดีว่า อนุภาคคู่นี้ มีมวลเท่ากัน ประจุเท่ากัน สปินเท่ากัน อะไรๆก็เท่ากันมีความเหมือนกันเยอะมาก แตกต่างกันแค่นิดเดียวคือชนิดของประจุไฟฟ้า เจ้าตัว positron มีประจุบวก ส่วน electron มีประจุลบ แค่นี้เป็นเรื่องเลยครับ คู่นี้ถูกจัดให้เป็น antiparticle ของกันและกัน เจอกันเมื่อไรก็วินาศสันตะโรหรือบรรลัยกัลป์ เกิดระเบิดอย่างรุนแรง การระเบิดของมันได้โฟตอน 2 ตัววิ่งในทิศทางตรงข้ามกันเป็นไปตามกฎ conservation of energy and momentum โฟตอนที่เกิดขึ้นนั้นนักรังสีเทคนิคสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างภาพการทำงานของอวัยวะภายในของผู้ป่วยได้ เป็นความแตกต่างและการปะทะกันที่เกิดประโยชน์ ไม่เหมือนการปะทะกันระหว่างคู่ขัดแย้งที่เป็นคน
เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ชาวเรามักจะถูกชักนำหรือมีแรงดึงดูดให้ไปอยู่กับข้างใดข้างหนึ่งจนได้ หาคนที่จะยืนอยู่ตรงกลางได้ลำบาก แม้คนๆนั้นจะยืนอยู่ตรงกลางได้ ก็ยืนได้ลำบากมาก เพราะจะถูกมองจากทั้งสองข้างแบบผลักไสไปข้างโน้นทีข้างนี้ที
เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นแล้ว ชาวเรามีวิธีการมองเรื่องความขัดแย้งอย่างไร ผมแนะนำว่า ชาวเราไม่ควรเลือกข้างใดข้างหนึ่งเพียงเพราะว่า...
#เพราะเรามีความศรัทธา-เชื่ออย่างนั้น แล้วมันตรงกับสิ่งที่เราเชื่อ
#เพราะข้างนั้น มีคนที่เรานับถือศรัทธา และจะคอยฟังคนๆนั้นว่าจะคิดและทำอะไร
#เพราะมันสอดคล้องกับหลักการและเหตุผลของเรา
#เพราะข้างนั้นมีข้อมูลน่าเชื่อถือมากๆ
#เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยอยู่ข้างนั้น
#เพราะเขาเป็นพวกเดียวกันกับเรา
#เพราะเรากลัวแพ้ อยู่ข้างนี้ดีกว่าชนะแน่ๆ
#เพราะเราได้รับประโยชน์จากการไปอยู่ข้างนั้น
#เพราะมีความรักข้างนี้เลยอยู่ข้างนี้ มีความเกลียดข้างนั้นเลยมาอยู่ข้างนี้
สิ่งทีชาวเราควรทำคือ มองและค้นหาให้เห็นความจริงว่ามันคืออะไร พิจารณาความจริงให้ถ่องแท้ ด้วยวิจารณญาณอันสุดยอดของเราเสียก่อน ก่อนตัดสินใจจะอยู่ข้างใด หากพิจารณาแล้วพบความจริงว่าผิดทั้งสองข้าง ก็อย่าไปเลือกข้าง.อันนี้เป็นเรื่องที่ยากมากๆ แต่ก็ควรทำให้ได้ ประเด็นนี้ คนส่วนใหญ่จะมีแนวโน้มรับฟังการตัดสินใจของคนที่เขาเคารพและศรัทธา แล้วก็เลือกคิดไปตามนั้น
หากให้ชาวเราเลือกระหว่างข้างดีและข้างเลว เชื่อว่าชาวเราเลือกข้างดี แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าข้างไหนเลวหรือข้างไหนดี อันนี้ยากมากอย่างที่บอก และเมื่อเลือกข้างดีแล้วต้องระวังมากๆคือ อย่าติดดี ก็แล้วกัน เพราะเราอาจทำความเลวในความดีได้ ... เพราะข้างนั้นมันเลวและเราดีไงล่ะ เราจึงมีความชอบธรรม(คิดเอง)ที่จะทำอะไรข้างนั้นก็ได้ ด่ามันก็ได้ ประณามมันก็ได้ กลั่นแกล้งมันก็ได้ หรืออาจถึงขั้นทำร้ายให้เจ็บให้ตายก็ได้ เพราะมันเลวไงเราจึงทำได้ ยิ่งถ้าข้างนั้นทำให้เราเจ็บใจเจ็บกายก็ยิ่งต้องตอบโต้ให้สาสม...อันนี้คือทำความเลวโดยอ้างความชอบธรรมในความดี ไม่ควรอย่างยิ่ง ในสังคมเรานั้นมีตัวอย่างมากมายเรื่องการทำความเลวในความดี
เมื่อเป็นฝักเป็นฝ่าย แบ่งเป็นข้าง แล้วขัดแย้งกัน แต่ละข้างอาจรู้สึกว่าข้างของตัวถูกทำร้าย ข้างโน้นก็บอกว่า
เราถูกทำร้าย ไม่ได้รับความยุติธรรม ถูกโกง ฯลฯ ฉอดๆๆๆๆ
ก็เลยมองอีกข้างว่าเลวว่าชั่ว ... ส่วนอีกข้างหนึ่งนั้นก็บอกเหมือนๆกันว่า 
เราถูกทำร้าย ไม่ได้รับความยุติธรรม ถูกโกง ฯลฯ บลาๆๆๆ
และมองข้างโน้นว่าเลวว่าชั่วเหมือนกัน แล้วมันจะจบอย่างไรล่ะ เมื่อทั้งสองข้างที่ขัดแย้งกันนั้นยืนยันฟันธงกันอย่างนี้ มันก็จะมีแต่แรงผลักกันทางความคิด เข้ากันไม่ได้ ... หากตั้งสติดีๆ ค่อยๆคิด เอาเถอะถ้าแต่ละข้างคิดว่าถูกทำร้าย จะเห็นว่า จริงๆแล้ว ไม่น่าจะมีข้างไหนถูกทำร้ายข้างเดียว ไม่ได้รับความยุติธรรมข้างเดียว หรือเข้าใจว่าถูกโกงข้างเดียวหรอก ... หลักกลศาสตร์ของนิวตันง่ายๆบอกไว้ว่า action=reaction คือ ไม่ว่าข้างไหนจะคิด-ทำอะไรเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม ก็จะส่งผลกระทบถึงอีกข้างอยู่ดี ผลกระทบนั้นทำให้อีกข้างนั้นไม่ได้รับความเป็นธรรมด้วย มันหลีกไม่พ้น แต่ละข้างจึงควรมองด้วยความเข้าใจให้เห็นความจริงตรงนี้ และไม่ควรปิดผนึกล็อคหัวใจไว้ เพราะมันจะทำให้ไม่ยอมรับรู้รับฟังความเดือดร้อนของข้างที่คิดว่าอยู่ตรงข้ามกัน...
อีกประการหนึ่ง ใครบางคนทำบางสิ่งลงไป ที่มีผลกระทบต่อผู้อื่นหรือมีผลกระทบต่อส่วนรวม เขาย่อมมีเหตุผลของเขา ดีหรือไม่ดี เร็วหรือช้า ไม่ควรไปตัดสินเขาครับ ชาวเราไม่อาจเข้าใจได้หรอกว่าเขาทำแบบนั้นตอนนั้นทำไม เราไม่ใช่เขา เขาก็ไม่ใช่เรา และเมื่อใช้เหตุผลมาจับ มันอาจผิดในมุมมองของเราแต่อาจถูกในมุมมองของเขา แนะนำว่าไม่ควรไปตัดสินครับ มองเฉยๆทำตัวเป็นนิวตรอนดีกว่า เป็นกลางดีกว่า  วันเวลาผ่านไป เมื่อมองย้อนกลับไป เราอาจคิดผิดก็ได้ เว้นเสียแต่ว่าเรื่องนั้นความจริงประจักษ์ชัดเจนว่าจะเกิดผลเสียหายร้ายแรง อย่างไรก็ตาม ใครก็ตามไม่ว่าจะคิดและทำอะไร ก็ควรยืนบนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ตน เรื่องดีหรือไม่ดี เร็วหรือช้า ล้วนเป็นเรื่องของ relativity เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพัทธ์ ถ้ามีใครบอกว่า คุณเดินเร็วไปแล้วนะ แสดงว่าใจของเขาต้องการเดินให้มันช้ากว่าใช่ไหม
โชคชะตา จังหวะก้าวเดินของชีวิต อาจเป็นสิ่งที่ทำให้ผมตกอยู่ในท่ามกลางความขัดแย้งมาหลายครั้งหลายครา และได้ค้นพบว่า ความขัดแย้งมักคลี่คลายลงจริงๆ (ไม่ใช่ดูเหมือนคลี่คลาย) ด้วยการที่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะคู่ขัดแย้งมองให้เห็นความจริงถึงความทุกข์ร้อนของคู่ขัดแย้ง ปล่อยวางซะ (ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย) ไม่มองว่าคู่ขัดแย้งเป็นศัตรู มองคู่ขัดแย้งว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียร่วมกัน และพยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ครับ
จึงขอฝากมุมองเรื่อง ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาไว้ให้ชาวเราได้พิจารณา
การเขียนเรื่อง ความขัดแย้ง เป็นการเขียนที่ยากที่สุดเท่าที่เคยเขียนมา เพราะ สถานการณ์ขณะที่เขียนอยู่นี้มีความเสี่ยงสูงที่ผู้เขียนจะ เปลืองตัว เก่งกาจขนาดไหนกันเชียวจึงเที่ยวมาแนะนำโน่นนี่นั่น

อย่างที่บอกครับว่า ผมตกอยู่ในท่ามกลางความขัดแย้งมาหลายครั้ง ได้รู้ได้เห็นสิ่งต่างๆมากมาย มีบางครั้งเจ็บตัวและเกือบถอดใจ สำหรับคราวนี้ เมื่อตัดสินใจเขียนแล้วก็ไม่กลัวเปลืองตัวอีกแล้ว พยายามคิดว่า ไม่มีตัวตน ที่จะทำให้สิ้นเปลือง แต่ก็นั่นแหล่ะ ผมก็ยังเป็นคนธรรมดา ยังเจ็บได้ และหากเจ็บนี้จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม เกิดสันติสุขในหมู่ชาวเรา win-win กันทุกฝ่าย ก็ยอมเจ็บยอมเปลืองตัวครับ

7 ความคิดเห็น:

  1. ธรรมรังสิโณทัย.........อยากให้ทุกผู้ทุกนามที่ติดคาในพอใจและไม่พอใจได้อ่านและสว่างสไวในเนื้อหาจะได้วาง....ว่าง...จากสมุทัยทั้งปวง.........ขอบพระคุณอาจารย์ที่ถ่ายทอดเนื้อหา.......สาธุครับ

    ตอบลบ
  2. จาก FB:.........

    Nuntawat Udee:.....
    บทความที่ดีมาก ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ครับ พวกเราควรใจเย็นลงแล้ววิเคราะห์ถึงสิ่งที่ได้รับรู้มาว่ามีความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด หากข้อมูลที่ได้มาไม่ครบถ้วนสมบูรณ์แล้วรีบตัดสินด้วยการทำตามอารมณ์ที่มาจากสิ่งเร้ารอบตัว... อาจเกิดความเสียหายตามมาที่ไม่อาจประเมินได้
    อย่างไรก็ตาม "ผู้ไม่รู้ย่อมไม่ผิด"

    ตอบลบ
  3. จาก FB:....

    Puay Chatcha:...
    ขอบคุณค่ะอาจารย์

    เครซี่แมน จริง จริง:...
    ด้วยความเคารพครับอาจารย์

    Aunchalee Sengsomvang:...
    ขอบคุณนะค่ะอาจารย์


    Anakin Xman:... ผมว่ามีหลายคนยังไม่เข้าใจหลายๆเรื่อง เช่น หน้าที่ของแต่ละวิชาชีพ มันเป็นอย่างไร ซ้อนทับกันตรงไหน ถ้ามีคนมีอธิบายให้มันชัดเจน น่าจะลดความขัดแย้งกันได้

    ตอบลบ
  4. จาก FB:....

    Piyatas Sangdao:....
    ขอแสดงความนับถือครับอาจารย์ ขออนุญาติแชร์นะครับ

    ตอบลบ
  5. จาก FB:...

    Jira Sud:...
    สุดยอดอาจารย์เลยคะ่

    Weerasak Kong-ngoen:...
    น่าจะลำบากใจ ไม่น้อย นี่ก็เพื่อน นั่นก็น้อง..ร่วมท้องเดียวกันก็ว่าได้ อึกอัก ยึกยัก...พอๆ น้ำท่วมปาก
    ..ปัญหา บางครั้งไม่ต้องทำอะไรเลย ปล่อยไว้ นานวันมันกลับคลี่คลาย
    ...บางเรื่อง เหมือนไฟไหม้ ต้องรีบดับ ทันที รอเวลาไม่ได้
    ...ฝ่ายหนึ่งมีประจักษ์หลักฐาน มีตัวตน เปิดเผย พร้อมคลี่คลาย
    ...ฝ่ายหนึ่งอยู่ที่มืด ใช้จารยุทธ พร้อมจะเสียบเมื่อโอกาสเปิด
    ...ฝ่ายหนึ่ง ส่วนใหญ่ เดือดร้อน ถ้าการฯสำเร็จ
    ...ฝ่ายหนึ่ง ส่วนน้อย เริ่มใช้อวิชชา
    ...ผมเคารพในทุกสายอาชีพ ถ้ามีเกียรติอันสง่างาม..
    ...อาจารย์ เขียนได้นุ่มลึกมากกกกก สอดแทรกวิทยาศาสตร์ แล ธรรม(ชาติ) ผมชอบมากตรงเปรียบเทียบ action=reaction ซึ่งในทางพุทธคือกรรมะ ทุกสิ่งเกิดขึ้น ย่อมมีเหตุ จึงมีผล
    ...รอติดตามบทความจากอาจารย์ แม้จะ"เปลืองตัว" แต่ได้ทิ้งประกายวูบวาบ ทาบทาปัญหาอยู่รางๆ รอติดตามด้วยใจระทึกครับ ขอบคุณที่"เปลืองตัว"

    ตอบลบ
  6. เสธ. ก๊องส์:...
    เปลืองตัวก็ต้องจำยอมนะครับอาจารย์ รู้ว่าทุกปัญหามีทางออก แต่ตอนนี้ยังหาไม่เจอ...หวังว่าอาจารย์จะช่วยเป็นแสงเทียนส่องทางให้เห็นทางเดิน อย่าปล่อยให้ลูกศิษย์ยืนท่ามกลางความขัดแย้งอยู่เลย

    รังสีชุมชน คนโคราช:...
    ตราบที่ชีวิตต้องเดินไปข้างหน้า เดินบนโลกบาปทีมากไปด้วย กิเลสแห่งการเอาตัวรอดและชิงดีชิงเด่นหาประโยชน์ใส่ตน สร้างให้จิตใจของมนุษย์มีความเห็นแก่ตัวมากกว่าส่วนรวม ก่อให้เกิดปัญหาบนโลกใบนี้ วิธีแก้ปัญหา คือ การไม่ทำให้ปัญหานั้นเกิดขึ้น แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว จึงหลีกหนีความขัดแย้งไม่ได้ ส่วนตัวเห็นว่าทางออกที่ดีที่สุด คือ ผู้สร้างปัญหา ควรยุติสิ่งที่ตนเองสร้างขึ้น และดำเนินต่อในสิ่งที่ไม่เกิดปัญหาต่อไป เริ่มต้นใหม่ในสิ่งที่ดีและถูกต้องดีกว่าจะฝืนดันให้เกิดปัญหาต่อไปไม่รู้จบ..... ขอบคุณ อาจารย์ที่ชื้แนะ ครับ

    Boonsong Wattanasin:...
    ใช้ความสงบสยบความวุ่นวายมิได้ดอก

    ตอบลบ
  7. จาก FB:....

    Niwat Rassameemaneepong:.... ·
    บางเรื่องมันขัดเราก็ต้องแย้ง การปล่อย หรือนั่งดูความขัดแย้ง หรือรู้ทั้งรู้ว่าปล่อยไปมันจะต้องมีเรื่องขัดแย้ง แต่เรากลับนิ่งเฉย เราสบายใจหรือครับอาจารย์

    ตอบลบ