วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

คุณนั่นแหละผิด


(582 ครั้ง)

เราคิดอย่างไรกับคำว่า “ถูก” และ "ผิด”

ที่นี่ประเทศไทย  ตามปกตินิสัยของคนทั่วไปโดยเฉพาะคนไทยไม่ชอบให้ใครมาชี้หน้าว่าด้วยประโยคอมตะ “คุณนั่นแหละผิด” จริงไหม (ทั้งๆที่บางทีตัวเองก็ผิดจริงๆ) คนที่ถูกว่าว่าผิดจะโกรธมากถ้าจิตของเขาไปผูกติดกับสิ่งที่ได้ยินแล้วคิดฟุ้งซ่านไปเรื่อย และคนที่ไม่รู้จักยับยั้งใจและปากไวไปว่าเค้าก็อาจจะอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเจ็บตัวเอาง่ายๆ

ในการประชุมปรึกษาหารือกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเล็กหรือใหญ่ ลองสังเกตว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีใครที่จะกล้าว่าใครผิดชนิดตรงไปตรงมาแบบไม่อ้อมค้อมหรือไม่พูดซะเลย (แต่ลับหลังแล้วไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร ชอบไปพูดขยายความแบบตรงไปตรงมาอย่างเมามันกับคนที่สาม แล้วคนที่สามก็ตั้งอกตั้งใจฟังอย่างเมามันและนำไปขยายต่ออย่างสนุกสนาน) มันก็เป็นความน่ารักน่าชังของคนไทยอีกแบบหนึ่งที่คนชาติอื่นไม่ค่อยจะมี ทำให้สังคมไทยไม่ค่อยจะมีการชกต่อยกันในที่ประชุม ถ้าจะมีการว่าใครผิดสักคนหนึ่งแล้วส่วนใหญ่คนที่ว่าจะใช้สำนวนโวหารอ้อมไปอ้อมมาฟังแล้วบางทีคนพูดก็งง คนถูกว่าก็งง สรุปแล้วคนว่าไม่กล้าพูดตรงๆ และคนถูกว่าก็ไม่รู้ว่าถูกว่า บางทีเข้าใจผิดคิดว่าเค้าชมเราเสียอีกด้วย

สมมติใครสักคนโชคร้าย เจอสถานะการณ์ที่มีใครสักคน(ใจถึงมาก)มาชี้หน้าว่าฉอดๆๆๆ ว่า “คุณเป็นคนผิด คุณเลวมาก” นอกจากนั้นยังใช้วาจาหยาบคายไม่รู้จักว่าใครเป็นเด็กใครเป็นผู้ใหญ่กราดใส่เราชนิดไม่ให้ตั้งตัว เราจะทำตัวทำใจอย่างไร เพราะสิ่งที่เกิดกับเรานั้นปานประหนึ่งว่าเราถูก Excited คือถูกกระตุ้นอย่างแรงทันทีทันใด ถ้าจิตของเราผูกติดกับสิ่งที่ได้ยินและปรุงแต่งเร็วจนชิน ความเค้นจะเกิดอย่างรวดเร็ว ตามมาด้วยความเครียด

เหมือนอะตอมถูกกระตุ้นด้วยพลังงานจากภายนอกอะตอม อะตอมก็ตื่นเต้น แต่ธรรมชาติของอะตอมทั่วไปมันจะตื่นเต้นชั่วครู่ประมาณ 1 ส่วนร้อยล้านวินาทีเท่านั้น คือเร็วมากไม่ทันตั้งตัว มันจะกลับสู่ Ground State ทันทีพร้อมคายพลังงานแบบพรวดเดียวออกมา (Spontaneous) 

เมื่อเราตื่นเต้น เค้น และเครียด เราจะเหมือนอะตอมที่ตื่นเต้นไหม?? ถ้าเหมือนเราก็จะตอบโต้ผู้พูดด้วยแสนยานุภาพของเราที่มีอยู่ทั้งหมด ปานประหนึ่งการคายพลังงานของอะตอมแบบพรวดเดียวสู่ Ground State แต่ถ้าเรานิ่งเป็นซื่อบื้ออารมย์ค้าง ปานประหนึ่งอะตอมที่อยู่ใน Meta-stable State คือ อะตอมที่ตื่นเต้นอยู่นานกว่า Spontaneous ประมาณ 1,000 เท่า กรณีนี้ต้องรออีกนาน การคายพลังงานจึงเกิดขึ้นตามหลังความตื่นเต้น เราจะเป็นแบบไหน

อาจารย์ของผมเคยสอนไว้ว่า ถ้าเราเจอกรณีอย่างนี้จง อดทนอดกลั้น (ย้อนกลับไปอ่าน ขันติเป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์) ทำใจให้นิ่งเข้าไว้และควบคุมร่างกายของเราให้ได้โดยเฉพาะมือและเท้า (ให้คนที่ว่าเรางงไปเลยและชักระแวงว่า เราคงจะมีไม้เด็ดเล่นงานเค้าแน่ๆ ) ขณะเดียวกันให้มีสติรู้ตัวตลอดเวลาว่าเค้ากำลังว่าเรา (ไม่ใช่ซื่อบื้อไม่รู้ว่าเค้ากำลังว่าเรา) แต่ไม่ให้มีอารมย์คล้อยตามไปกับสิ่งที่เค้ากำลังว่าเรา พิจารณาว่าที่เค้าว่าเราจริงไหม เราทำอย่างที่เค้าว่าเราไหม?? และให้มองคนที่ว่าเราด้วยความเมตตาสงสารและหาทางช่วยเหลือเขา ฟังแล้ว ลองค่อยๆคิดดูว่าวิธีนี้ดีไหม สำหรับผมแล้วผมเห็นด้วยกับวิธีนี้ เพราะอะไร ก็เพราะว่าถูกหรือผิดเป็นของสมมติไม่มีอยู่จริง ไม่ใช่สิ่งที่เราจะเป็นผู้กำหนดได้ เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ต่างคนต่างมุมมองยากที่ทุกคนจะมองเรื่องเดียวกันว่าถูกหรือผิดเหมือนกันหมด

สมัยเรียนหนังสือ อาจารย์ผมเคยเล่านิทานเรื่องหนึ่งให้ฟัง ยังพอจำได้ว่า ที่วัดแห่งหนึ่ง ทุกวันพระจะเดินจากกุฏิไปโบสถ์ตามทางเดินเพื่อไปทำวัตร ทางที่เดินไปนั้นมีหอยทากออกมาเดินเต็มไปหมด ขณะที่พระเดินไปตามทางก็จะเหยียบหอยทากตายทุกวัน เณรซึ่งมีหน้าที่ทำความสะอาดบริเวณวัดสังเกตเห็นทุกวัน เณรไม่ต้องการให้พระทำบาปเพราะฆ่าหอยทากและต้องการรักษาชีวิตหอยทากเอาไว้ เณรจึงทำการเก็บหอยทากตามทางเดินโยนข้ามกำแพงวัดไป ซึ่งบริเวณที่ติดกับวัดนั้นเป็นสวนผักของชาวบ้านซึ่งเณรก็ทราบแต่เพราะต้องการให้หอยทากมีชีวิตอยู่จึงต้องทำ

เมื่อหอยทากตกอยู่ในสวนผักของชาวบ้าน หอยทากก็มีชีวิตต่อไปอย่างอุดมสมบูรณ์ด้วยการกินผักที่ชาวบ้านปลูกไว้เป็นอาหาร ทำให้ผักของชาวบ้านเสียหายสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ชาวบ้านเมื่อทราบเรื่องก็โกรธและทะเลาะกับเณร และเถียงกันรุนแรง ในที่สุดชาวบ้านก็จับหอยทากโยนข้ามกำแพงวัดกลับเข้าไปในวัดอีก เหตุการณ์ดำเนินต่อไปในลักษณะที่มีการโยนหอยทากกลับไปกลับมา


เจ้าอาวาสทราบเรื่อง ก็เรียกเณรและชาวบ้านมาเพื่อเจรจาสงบศึก เจ้าอาวาสถามเณรว่าเรื่องเป็นอย่างไร เณรก็เล่าให้ฟัง เจ้าอาวาสจึงหันไปถามที่ปรึกษาว่าเณรผิดไหม ที่ปรึกษาก็บอกว่า “เณรทำถูก” เจ้าอาวาสจึงถามชาวบ้านว่าเรื่องเป็นอย่างไร ชาวบ้านก็เล่าให้ฟัง เจ้าอาวาสก็ถามที่ปรึกษาว่าชาวบ้านผิดไหม ที่ปรึกษาบอกว่า “เออชาวบ้านก็ถูก”

ท่านคิดว่าเรื่องนี้ใครผิดใครถูก เชื่อว่าแต่ละคนจะมีมุมมองที่ไม่เหมือนกัน แต่ละคนก็จะมีเหตุผลของตัวเองบนพื้นฐานที่แตกต่างกัน เรื่องแบบนี้ไม่เหมือนโจทย์ทางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ที่ถามว่า (2x3)+(5-2) มีค่าเท่าไร ถ้าใครตอบว่ามีค่าเท่ากับ 9 ก็ถูก และถ้าใครตอบเป็นค่าอื่นก็ผิด เรื่องทางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์มีการกำหนดกฏเกณฑ์เงื่อนไขไว้ชัดเจนว่าอย่างไรผิดอย่างไรถูก แต่เรื่องที่เกี่ยวกับแง่มุมความผิดถูกของคนเป็นเรื่องยากกว่าอย่างมาก หากถามว่าการฆ่าคนมีความผิดต้องได้รับโทษจำคุกไหม คำตอบคือบางกรณีก็มีความผิดดังว่า เช่น ผู้ร้ายฆ่าเจ้าทรัพย์เพื่อชิงทรัพย์ แต่บางกรณีผู้ที่ฆ่าคนตายเป็นฮีโร่ เช่นที่หน่วยคอมมานโดบุกเข้าช่วยตัวประกันที่โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรีเมื่อพ.ศ. 2543 ซึ่งถูก "ก็อดอาร์มี่" ยึดไว้ และฆ่าผู้ร้ายตายหมดเลยเป็นต้น

ทำไมในสภาผู้แทนราษฎรจึงต้องตัดสินการออกกฎหมายด้วยการใช้เสียงข้างมาก ก็เพราะเงื่อนไขของความถูกผิดหรือความเหมาะสมไม่ชัดเจนนั่นเอง เสียงส่วนน้อยอาจจะถูกในขณะที่เสียงข้างมากที่ตัดสินให้ออกกฎหมายไปบังคับใช้กับประชาชนทั้งประเทศอาจจะผิดก็ได้ บางทีปัญหาหนึ่ง อาจมีหลายคำตอบที่ถูกทุกคำตอบก็ได้ ตัวอย่างเช่น


ถ้าให้เงินชาวเรา 10 บาท ซื้อกล้วยปิ้ง 3 บาท แม่ค้าจะทอนให้กี่บาท???” คำตอบอาจเป็น
     ก.)ศูนย์บาท (ไม่ต้องทอน) ถ้าเราให้เหรียญบาท 3 อัน
     ข.)หรือสองบาท ถ้าเราใช้เหรียญห้าบาทซื้อกล้วย
     ค.)หรือเจ็ดบาท ถ้าเราใช้เหรียญสิบบาทซื้อกล้วย
     ง.)หรือหนึ่งบาท ถ้าเราใช้เหรียญสองบาท 2 อัน
สรุปว่า เมื่อเราเจอปัญหาหรือเกิดความขัดแย้ง แต่ละคนอาจจะมีคำตอบหรือทางออกของปัญหานั้นๆไม่เหมือนกัน ขึ้นกับเงื่อนไขข้อกำหนดพื้นฐานและกระบวนการหาคำตอบหรือทางออก ซึ่งคำตอบหรือทางออกที่หลากหลายนั้นมันอาจจะไม่มีอันไหนผิดเลยหรือไม่ผิดเลยก็ได้ ฉะนั้น เราจึงไม่ควรตัดสินว่าใครผิดใครถูก ไม่ควรที่จะไปว่าคนอื่นเขาว่า "คิดงี้ได้ไงวะ? ปัญญาอ่อนหรือเปล่าวะ?" เราควรเคารพความเห็นของผู้อื่นนะครับ แต่ต้องเป็นความเห็นและการกระทำที่ไม่เกินขอบเขตกฎหมายและศีลธรรม

ในท่ามกลางความขัดแย้งของคนในสังคม เกิดจากความคิดเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน เกิดจากความคิดเห็นที่รู้สึกว่าเราถูกเอาเปรียบ ถูกเบียดเบียน หรือความขัดแย้งเรื่องส่วนตัวของชาวเราทุกคน เป็นต้น เมื่อฝ่ายหนึ่งเกิดอุปาทานหรือมีความเชื่อว่าตัวเองถูก ก็มีแนวโน้มที่จะขีดเส้นแบ่งและมองฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายที่คิดไม่เหมือนเราว่าผิด หรือถึงขั้นฟันธงเลยว่าผิด ด้วยมีอคติในใจซึ่งอาจบดบังความเป็นจริง....มันเป็นเช่นนี้ต้องระวัง

ในชีวิตประจำวันเราจะพบเรื่องแบบนี้บ่อยมากเพราะเราจะต้องมีความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมชั้นเรียน เพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมวิชาชีพในหลายทาง หรือแม้แต่คนที่บ้านเราในครอบครัวของเราก็หนีเรื่องนี้ไม่พ้นเช่นกัน จึงเขียนเรื่องความถูกผิดไว้เพื่อเป็นการจุดประกายความคิด เป็นจุดตั้งต้นหรือต่อยอดของแนวคิดในเรื่องนี้ ให้ได้คิดต่อไปครับ

วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ส่งบัณฑิตรังสีเทคนิคขึ้นฝั่ง ๒๕๕๓


ดวงอาทิตย์ส่องแสงแรงกล้า        พุ่งผ่านปัทมาบนน้ำใส
ทั้งที่ตูมแต่มองเห็นเด่นภายใน                     แปลกฤทัยใยแสงจึงแรงนัก
ดุจรังสีสาดส่องกายา                     ผ่านออกมาภายในจึ่งประจักษ์
ธรรมชาติลิขิตไว้ประหลาดนัก                   ให้ทายทักโรคได้สบายเอย

          “เอกซเรย์ถูกค้นพบโดยศาสตราจารย์เรินท์เกน (Wilhelm Conrad Roentgen) แห่งสถาบันฟิสิกส์ มหาวิทยาลัย Wurgburg ประเทศเยอรมัน เมื่อวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1895 เวลาบ่าย เป็นข้อความที่ผมต้องกล่าวถึงเสมอ เมื่อเวลาที่สอนนักศึกษารังสีเทคนิค เพื่อให้ระลึกเสมอว่า วันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของศาสตร์ทางด้านรังสีวิทยา เนื่องจากเรินท์เกนนำเอกซเรย์ไปถ่ายภาพมือของ Bertha ซึ่งเป็นภรรยาของเขาเอง ทำให้เกิดภาพเอกซเรย์ภาพแรกของโลกในวันนั้น

อีกข้อความหนึ่งที่ผมจะกล่าวตามมาเสมอ คือ ข้าพเจ้าไม่ชอบเดินตามถนนใหญ่ที่ผู้คนใช้กันมากๆ ข้าพเจ้าชอบปีนป่ายหน้าผา บุกป่าฝ่าหนาม ถ้าข้าพเจ้าหายไป อย่าไปตามหาตามถนนใหญ่ ซึ่งเป็นคำกล่าวของเรินท์เกนหลังจากได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์คนแรกของโลก เมื่อ ค.ศ. 1901
เมื่อเวลาผ่านไป เอกซเรย์ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ได้แสดงออกให้เห็นถึงพลังอำนาจในเชิงสร้างสรรค์อย่างยิ่งยวด เอกซเรย์สามารถช่วยพยุงชีวิตของผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่มีการแยกชั้นวรรณะ ไม่ว่าใคร เด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้หญิงหรือผู้ชาย จะยากดีมีจนขนาดไหน จะเป็นคนดีหรือคนร้าย หรือแม้แต่สัตว์ ก็ไม่สามารถต้านทานพลังอำนาจในเชิงสร้างสรรค์ในการทะลุผ่านเข้าไปข้างในของมันได้ ความลับทางรังสีเชิงกายวิภาคศาสตร์ ที่อยู่ภายในร่างกายของเขาเหล่านั้น จึงถูกเปิดเผยออกมา มิใช่เพื่อดูเล่นสนุกๆหรือล้วงความลับอะไร แต่เพื่อประโยชน์ต่อการวินิจฉัยโรคและรักษาโรค พลังอำนาจของเอกซเรย์เฉกเช่นนี้ มีมาช้านานแล้ว อาจจะนับได้ตั้งแต่ยุคกำเนิดจักรวาล แต่มนุษย์เพิ่งรู้จักเอกซเรย์เมื่อประมาณ 115 ปีมานี้เอง
Video Clip ความเห็นของว่าที่บัณฑิตรังสีเทคนิคปีการศึกษา 2553
 ที่มีต่อการเรียนรังสีเทคนิค

นักศึกษารังสีเทคนิค ที่กำลังจะสำเร็จเป็นบัณฑิตรังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งผ่านการเรียนรู้ในรั้วมหาวิทยาลัยรวม 4 ปีเต็ม ทุกคนต่างได้รับการประสิทธิ์ประสาทความรู้ความสามารถ ทั้งวิทยาศาสตร์ ภาษาศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ ฯลฯ ทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติ ตามสมรรถนะและมาตรฐานวิชาชีพรังสีเทคนิคอย่างสมภาคภูมิ จากสถาบันที่เป็นผู้ผลิตนักรังสีเทคนิคแห่งแรกของประเทศไทย นับแต่นี้เป็นต้นไป นักศึกษาที่กำลังจะกลายเป็นบัณฑิตรังสีเทคนิคทุกคน พร้อมที่จะออกไปรับใช้สังคมอย่างเต็มกำลังความสามารถ และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกคน จะมีหัวใจที่ยึดมั่นในความดี เสียสละ ใฝ่รู้ และอดทน ดุจดังเอกซเรย์ที่ยังคงมีพลังอำนาจที่ไม่เคยเปลี่ยนแปร และจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป ตราบนานเท่านาน
รศ.มานัส มงคลสุข
หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค

วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

Background


648 ครั้ง

     Directed Radiation กับ Background
     พูดถึงคำว่า Background radiation นักฟิสิกส์ นักรังสีเทคนิคทั้งหลาย รู้จักดี คำนี้แปลว่า รังสีพื้นหลัง ฟังแล้วโอเคไหมครับ (อ้างอิงจากศัพท์นิวเคลียร์ http://www.tint.or.th/tint-dict/dict01a.html#anb) ลองฟังเรื่องของ background radiation จากนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ชื่อ John Cromwell Mather ผู้ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลเมื่อ พ.ศ. 2549 จากผลงาน Cosmic Background Explorer Satellite (COBE) ซึ่งเป็นวิธีการแรกที่สามารถวัดรูปแบบ black body และมีความเชื่อมโยงกับ Big-Bang Theory เกี่ยวข้องกับกำเนิดของจักรวาล เขาได้อธิบาย  background radiation ย่อๆไว้ในดังนี้ครับ


background radiation มีความหมายตามที่เรารู้จักกันดีว่า เป็นรังสีจากสิ่งแวดล้อมซึ่งมีที่มาจากหลายแหล่ง เช่น รังสีคอสมิกจากอวกาศ รังสีจากสารกัมมันตรังสีตามธรรมชาติที่มีอยู่ในดิน น้ำ อากาศ อาหาร รวมทั้งที่มีอยู่ในร่างกายมนุษย์ ดังนั้น ขณะเราวัดปริมาณรังสี สิ่งที่เราอ่านค่าได้คือ ปริมาณรังสีจริงๆที่มาจากแหล่งกำเนิดที่เราต้องการวัดรวมกับ background ไอ้เจ้าตัว background นี้มันติดตามไปทุกที่ ถ้ามีมากไป มันก็ไปรบกวนค่าจริงที่เราต้องการ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนหรือความคลาดเคลื่อนในการวัดสูง ทำให้ค่าที่วัดได้ไม่มีความน่าเชื่อถือ แต่ในทางกลับกันถ้ามี background ยิ่งน้อยก็ยิ่งทำให้ได้ค่าที่เราต้องการวัดที่ใกล้เคียงความจริงมากขึ้น ซึ่งจะเข้าสู่ช่วงที่เรียกว่า มีเหมือนไม่มี คือมี background radiation แต่มีอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณรังสีจริงที่ต้องการวัด

     Signal to Noise Ratio
     SNR หรือ signal to noise ratio ที่หลายคนรู้จักดี ไม่ว่าจะเป็นการวัดปริมาณรังสี การจับสัญญาณทางไฟฟ้าต่างๆ การสร้างภาพรังสี ฯลฯ ล้วนมีส่วนเกี่ยวโยงกับ SNR ในทางปฏิบัติ เราอยากได้ signal สูงๆ(มากๆ) noise หรือ background ต่ำๆ(น้อยๆ)เพื่อให้ได้ปริมาณที่อยากได้จริงๆ noise เป็นสิ่งที่ไม่อยากได้ แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องทำให้มันเกิดน้อยที่สุด 
     ตัวอย่างภาพซีที(ภาพจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์)ซึ่งเป็นภาพดิจิตัล เกิดจากกระบวนการยิงเอกซเรย์ผ่านตัวผู้ป่วย (noise-1) วัดเอกซเรย์ที่ทะลุผ่านผู้ป่วย (noise-2) นำไปคำนวณสร้างภาพก็เกิด noise จากกระบวนการเหล่านี้ หลีกเลี่ยงยาก แต่ทำให้น้อยๆพอได้ จะให้ไม่มีเลยทำได้ยาก ถ้า noise มีมากเกินไป มันก็ไปรบกวนบนภาพ สิ่งที่เราต้องการดูมันก็ไม่ชัดเจน มันดูคลุมเครือ ซึ่งอาจทำให้เราเข้าใจพยาธิสภาพผิดเพี้ยนไปได้ จึงต้องหาทางทำให้ noise มีปริมาณน้อยๆ คือมีเหมือนไม่มี ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยด้วย เพราะถ้า noise มีค่าน้อยเมื่อเทียบกับ signal แปลว่า signal มีค่าสูง ปริมาณรังสีที่ใช้มีค่าสูง สูงแบบนั้นปลอดภัยต่อผู้ป่วยหรือไม่ ก็ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีๆ 

น้ำกับเกลือ
เรื่องราวของ background ยังอาจเทียบได้กับน้ำเกลือ เราลองใส่เกลือโดยคิดว่าเกลือคือ background จำนวนหนึ่งช้อนชา ลงในน้ำหนึ่งแก้วโดยคิดว่าน้ำคือปริมาณรังสีจริง แล้วคนน้ำจนเกลือละลาย แล้วเราก็ลองดื่มน้ำจากแก้วนั้น น้ำคงจะมีรสเค็มมาก แทบไม่ต้องอธิบายว่า เพราะมีเกลือมาก มีน้ำน้อยไปหน่อย ทำให้เรารู้สึกว่ามี background หรือมีเกลือปนอยู่ แต่เมื่อเราใส่เกลือหนึ่งช้อนชาปริมาณเท่ากับตอนแรก ลงในน้ำหนึ่งตุ่มใหญ่ที่มีปริมาตรของน้ำมากกว่าน้ำในแก้วเป็นพันๆเท่า คนน้ำในตุ่มจนเกลือละลายหมด ลองดื่มน้ำจากตุ่มที่มีเกลือละลายอยู่ คราวนี้ เราคงจะไม่รู้สึกว่าน้ำมีรสเค็มเลย คือไม่รู้สึกว่ามี background หรือมีเกลือปนอยู่ แทบไม่ต้องอธิบายเช่นกันว่า เป็นเพราะมีเกลือน้อยและมีน้ำมาก แต่ต้องไม่ลืมว่าทั้งแก้วและตุ่มมีเกลือหนึ่งช้อนชาเท่ากัน อาจกล่าวว่า กรณีของตุ่มน้ำที่มีเกลือละลายอยู่ แต่ก็เหมือนไม่มีเกลือเพราะเราไม่รู้สึกว่ามีรสเค็ม คือ มีเหมือนไม่มี

สิ่งที่ดีๆกับสิ่งที่ไม่ดี
นอกจากนี้ background ยังทำให้คิดเลยไปถึงสิ่งที่เป็นคู่ตรงข้ามกัน เช่น นิสัยดี-นิสัยแย่” “ความดี-ความชั่ว” “ทำบุญ-ทำบาป เป็นต้น

สิ่งที่ดีๆ
ปริมาณรังสีที่ต้องการวัด หรือน้ำ
สิ่งที่ไม่ดี
Background หรือเกลือ
นิสัยดี
ความดี
ทำบุญ
นิสัยแย่
ความชั่ว
ทำบาป

ผมเชื่อมั่นว่า คนส่วนมากเป็นผู้ที่ มีนิสัยดี มีความดี ทำบุญเป็นนิจ หมายถึงมีปริมาณรังสีที่ต้องการวัดหรือน้ำอยู่เยอะ


ถ้าเราจะเปรียบเทียบสิ่งที่ไม่ดี เช่น นิสัยแย่ ความชั่ว การทำบาป เหล่านี้เป็น background หรือเป็นเกลือ สมมติมีบางคนบางครั้งแสดงนิสัยที่ไม่ดี ทำความชั่ว หรือทำบาป อาจจะโดยการพลั้งเผลอ ไม่ตั้งใจหรือตั้งใจก็ตาม มันก็เป็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้ว เหมือนเกลือที่ใส่ลงไปในน้ำละลายน้ำไปแล้ว เหมือน radiation background ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เราจะทำให้เกลือหรือ radiation background หายไปคงยากมากๆ สิ่งที่น่าจะทำได้คือ ทำให้มันเจือจางดูจะง่ายกว่า ด้วยการเติมน้ำเข้าไปให้เยอะๆ หรือเพิ่มความเข้มของปริมาณรังสีให้มากขึ้น  ทำนองเดียวกัน นิสัยแย่ ความชั่ว การทำบาป ที่ได้กระทำไปแล้วจะทำให้หมดไปก็คงจะยากมากๆเช่นกัน แต่ก็น่าจะสามารถทำให้เจือจางลงไปได้ด้วยการที่เราตั้งหน้าตั้งตา ประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งดีๆ บ่มเพาะนิสัยดีๆ ทำแต่ความดี มั่นทำบุญ ให้เป็นประจำให้มากขึ้นเรื่อย เหล่านี้น่าจะทำให้ background ที่เป็นความหมายทำนองไม่ดี มีความเจือจางลงไปได้ หรือเข้าสู่ภาวะ มีเหมือนไม่มี ได้เช่นกัน
มานัส มงคลสุข
จำนวนผู้อ่านบทความนี้ 648 ครั้ง (6กพ2554-30พย2555)