วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ผลสำรวจสภาวการณ์รังสีเทคนิคด้านกำลังคน พ.ศ. 2548

ความเป็นมา
เมื่อประมาณกลางปี 2548 สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย โดยนายสละ อุบลฉาย นายกสมาคมฯ ได้มีมติอนุมัติเงินจำนวน 40,000 บาท (สี่หมื่นบาทถ้วน) เพื่อใช้ในการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับภาวะการณ์ด้านรังสีเทคนิคในประเทศไทย โดยได้แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการว่าด้วยการศึกษาสถานะภาพของนักรังสีการแพทย์/นักรังสีเทคนิคขึ้น เพื่อทำการศึกษาและสำรวจจำนวนตำแหน่ง วุฒิการศึกษาและการมีใบประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค ของบุคลากรที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข สำรวจจำนวนคนไข้ที่มารับบริการและจำนวนเครื่องมือรังสีที่ใช้งานในโรงพยาบาลระดับต่างๆทั่วประเทศ คณะกรรมการฯดังกล่าวประกอบด้วย รศ.จิตต์ชัย สุริยะไชยากร เป็นประธานอนุกรรมการฯ และมีกรรมการอีก 4 คน ประกอบด้วย นายกษิดิศ สวนสาร นายวิฑูรย์ นิสสัยดี นายชาญชัย ทิพย์สุวรรณ และนายอรรพล สายทอง
ผลสำรวจจำนวนบุคลากร
คณะอนุกรรมการชุดที่สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทยแต่งตั้งขึ้นมาดังกล่าวนี้ ได้ทำการสำรวจข้อมูลทั่วประเทศ ถึงภาวการณ์ของรังสีเทคนิคไทยในปัจจุบัน และมีผลการสำรวจออกมาแล้วอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2548 ซึ่งคณะอนุกรรมการฯได้รายงานผลการสำรวจข้อมูลในประเด็นสำคัญๆ ต่อคณะกรรมการสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทยแล้ว มีสาระสำคัญดังนี้
ผลการสำรวจเกี่ยวกับสถานภาพกำลังคนทางด้านรังสีเทคนิคในปี 2548 พบว่าจำนวนบุคลากรทางด้านรังสีเทคนิคที่ทำงานอยู่ในขณะนี้ (พ.ศ. 2548) มีประมาณ 2,641 คน โดยกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชนดังนี้
ที่มา: สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย (2548)
สำหรับเจ้าหน้าที่จำนวน 1,929 คนขณะนี้ได้ศึกษาหลักสูตรรังสีเทคนิค (ต่อเนื่อง 2 ปี) สำเร็จแล้วได้รับปริญญาตรี และสอบใบประกอบโรคศิลปะฯได้ตามเกณฑ์แล้วจำนวนประมาณ 1,500 คน เมื่อดูในด้านอัตราการผลิตบุคลากร สำหรับประเทศไทยมีสถาบันผู้ผลิตบุคลากรด้านนี้หลายแห่ง แต่ยังมีอัตราการผลิตค่อนข้างต่ำ จำนวนคนต่อปีที่สถาบันผู้ผลิตต่างๆทั่วประเทศสามารถผลิตได้ มีดังนี้

ผลสำรวจจำนวนเครื่องมือรังสี
ในการสำรวจครั้งนี้ยังได้สำรวจ จำนวนเครื่องมือทางรังสีวิทยาที่ใช้งานอยู่ในโรงพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานปลัด ได้แก่ เครื่องเอกซเรย์ทั่วไป เครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ เครื่องเอกซเรย์ฟัน เครื่องเอกซเรย์แบบส่องตรวจ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เครื่องเอกซเรย์เต้านม เครื่องอัลตราซาวน์ด เครื่องโคบอลต์ เครื่องเร่งอนุภาค เครื่องนับวัดสารกัมมันตรังสี เครื่องนับวัดสารกัมมันตรังสีขิงต่อมไทรอยด์ เป็นต้น เครื่องมือทางรังสีเหล่านี้ ได้ใช้งานในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปกลุ่ม 1 โรงพยาบาลทั่วไปกลุ่ม 2 และโรงพยาบาลชุมชน โดยกระจายไปตามขนาดของโรงพยาบาล พบว่าค่าเฉลี่ยจำนวนเครื่องมือทางรังสีที่ใช้งานในโรงพยาบาลต่างๆ แสดงให้ดูในกราฟแท่งข้างล่างนี้ ซึ่งจะเห็นว่า จำนวนเครื่องมือรังสีเฉลี่ยมากสุด 18.4 เครื่องใช้งานในโรงพยาบาลศูนย์
ที่มา: สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย (2548)
การนำผลสำรวจไปใช้
รศ.จิตต์ชัย สุริยะไชยากร ประธานอนุกรรมการฯและประธานคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคในขณะนั้น เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดังกล่าวนี้ ทำให้เราทราบภาพรวมของภาวะการณ์ของรังสีเทคนิคในประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่น่าจะใช้ในการวางแผนงานในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านกำลังคน จะทำให้สามารถรักษาบุคลากรให้ทำงานในระบบต่อไปอย่างมีความสุข ทางด้านนายสละ อุบลฉาย นายกสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ผลักดันเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น ได้แสดงความขอบคุณคณะอนุกรรมการฯ ที่สละเวลาทำงานนี้จนสำเร็จอย่างดียิ่ง และสมาคมฯก็จะได้ใช้ข้อมูลนี้เพื่อให้ก่อประโยชน์ต่อวิชาชีพรังสีเทคนิคต่อไป
ช่วงเวลานั้น เป็นโอกาสที่สอดคล้องกันอย่างดีที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประสานให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนงานต่างๆ สำหรับจัดกิจกรรม World Health Day 2006 โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้เป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้ และได้มีการจัดประชุมผู้เกี่ยวข้องเมื่อ 29 ธันวาคม 2548 ซึ่งสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคเข้าร่วมประชุมด้วย โดยตั้งบนพื้นฐานข้อมูลที่ได้จากการสำรวจดังกล่าวข้างต้น
ที่การประชุมในครั้งนั้น มีการสรุปแนวทางในการทำงานไว้หลายอย่าง และที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิชาชีพรังสีเทคนิคคือ ได้มีการขอความร่วมมือให้ผู้แทนทุกวิชาชีพจัดทำสรุปประเด็นปัญหา แนวทางการแก้ไขปัญหา และข้อเสนอแนะต่างๆ ส่งให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ภายในเดือนมกราคม 2549 เพื่อใช้ประกอบการจัดทำแผนยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสาธารณสุขในภาพรวม ดังนั้น ก.ช.และสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย จึงได้ดำเนินการจัดส่งข้อมูลตามที่สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขต้องการทราบไปแล้ว
นายสละ อุบลฉาย นายกสมาคมรังสีเทคนิคฯ กล่าวว่า "ที่ผ่านมา สมาคมรังสีเทคนิคฯได้ตระหนักดีถึงความเดือดร้อนของสมาชิกฯและเพื่อนร่วมวิชาชีพรังสีเทคนิค โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โดยสมาคมฯได้ดำเนินการเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ได้ประสานงานใกล้ชิดกับ รศ.จิตต์ชัย สุริยะไชยากร ประธาน ก.ช. ในตอนนั้น เพราะเห็นว่าเรื่องนี้มีผลกระทบโดยตรงกับวิชาชีพรังสีเทคนิคในระยะยาว และต้องการให้มีแนวทางปฏิบัติหรือการเคลื่อนไหวต่างๆเป็นไปในแนวทางเดียวกัน สมาคมฯได้สนับสนุนให้มีการหาข้อมูลรังสีเทคนิคในประเทศไทย ณ ปัจจุบันนี้ว่าเป็นอย่างไรเพื่อให้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนและการตัดสินใจว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ซึ่งเราก็ได้รับความกรุณาจากท่านประธาน ก.ช. รับทำตรงนี้ให้ ต้องขอขอบคุณประธาน ก.ช.เป็นอย่างสูง " เรื่องเดียวกันนี้ประธานก.ช. ตอนนั้นเปิดเผยว่า "จากข้อมูลที่ได้ทำการสำรวจสภาวการณ์รังสีเทคนิคไทยล่าสุด โดยความสนับสนุนอย่างดีจากสมาคมรังสีเทคนิคฯ ขณะนี้ผมได้ทำเรื่องเสนอไปให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2549 ทั้งนี้เพื่อให้ข้อเสนอต่างๆนั้นไปในแนวทางอันเดียวกันตามที่ได้หารือกับนายกสมาคมรังสีเทคนิคฯ คือในระบบงานที่เราเกี่ยวข้องนั้นยังมีปัญหามากและยังขาดตำแหน่งงานอยู่อีกมากเช่นกัน ซึ่งในการเสนอครั้งนี้ เราได้สะท้อนให้กระทรวงสาธารณสุขเห็นปัญหาต่างๆและแนวทางแก้ไข"
ข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหา
ประเด็นปัญหาสำคัญที่ สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย และ ก.ช. ได้ทำการเสนอไปยัง สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 คือ เรื่องตำแหน่งของนักรังสีการแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข ขณะนี้ไม่มีกรอบตำแหน่งให้บรรจุใหม่ และไม่มีการปรับปรุงให้เพียงพอ อีกปัญหาหนึ่งคือ การปรับปรุงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฯ เป็นนักรังสีการแพทย์ จะต้องลดระดับลงมา ทำให้ดูเหมือนไม่ยุติธรรมสำหรับผู้ที่ไปพัฒนาความรู้เพื่อบริการประชาชนในหน่วยงาน ซึ่งขณะลาศึกษานั้นเงินเดือนก็ไม่ได้ขึ้นอยู่แล้ว ปัญหาสำคัญทั้งสองประการนี้ได้มีการย้ำว่า ควรมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
แนวทางการแก้ปัญหาที่เสนอไปยัง สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข คือ
ประการที่หนึ่ง ควรตั้งกรอบบรรจุตำแหน่งนักรังสีการแพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลปะฯ โดยให้เป็นไปตามจำนวนเครื่องมือรังสีที่ใช้ในการบริการผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่างๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หมายความว่า โรงพยาบาลใดมีเครื่องมือรังสีจำนวนมาก ก็ควรมีตำแหน่งนักรังสีฯมาก ดังแสดงในตารางข้างล่างนี้ ซึ่งแสดงจำนวนตำแหน่งนักรังสีการแพทย์ที่ควรมีใน พ.ศ. 2548 รวมทั้งสิ้น 3,540 ตำแหน่ง โดยที่ปัจจุบันมีตำแหน่งเจ้าหน้าที่ 1,929 ตำแหน่ง และตำแหน่งนักรังสีฯ 712 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีการครองเรียบร้อยแล้ว
ที่มา: สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย (2548)
ประการที่สอง ควรมีการปรับปรุงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฯ ที่มีวุฒิ วท.บ.(รังสีเทคนิค) และมีใบประกอบโรคศิลปะฯแล้ว บรรจุเป็นนักรังสีการแพทย์โดยไม่ต้องมีการลดระดับลง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ผู้ทำงานทางด้านรังสีการแพทย์
นอกจากนี้ ยังมีภาระกิจต่อเนื่องที่สมาคมรังสีเทคนิคฯ และคณะกรรมการวิชาชีพฯได้ร่วมกันกระทำต่อไปอีก เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมและการจัดทำ work plan ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขตลอดปี 2549 โดยเฉพาะ การทำแผนยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสาธารณสุขในภาพรวมของประเทศ ครอบคลุมทั้งภาครัฐและเอกชน ในระยะเวลา 10 ปี ทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานที่สามารถตอบสนองต่อการแก้ปัญหากำลังคนได้ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น