วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559

รังสีเทคนิค ม.รังสิต

(3,058 ครั้ง)
   มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดคณะรังสีเทคนิคเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 โดยที่สภามหาวิทยาลัยรังสิตอนุมัติและให้จัดอยู่ในกลุ่มวิทยาศาสตร์-สุขภาพ ซึ่งประกอบด้วยคณะต่างๆดังนี้

  วิทยาลัยแพทยศาสตร์ 
  วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก 
  คณะทันตแพทยศาสตร์ 
  คณะเภสัชศาสตร์ 
  คณะพยาบาลศาสตร์ 
  คณะเทคนิคการแพทย์ 
  คณะกายภาพบำบัด 
  คณะทัศนมาตรศาสตร์ 
  คณะรังสีเทคนิค 
  คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ 
  คณะวิทยาศาสตร์
    คณะรังสีเทคนิค เป็นสถาบันการศึกษาสาขารังสีเทคนิคแห่งแรกในประเทศไทยที่บริหารจัดการแบบคณะ มุ่งตอบสนองความต้องการของตลาด นับเป็นก้าวสำคัญของรังสีเทคนิคไทย 
บรรยากาศบริเวณโถงทางเข้าคณะรังสีเทคนิค
บรรยากาศรอบๆอาคาร 10 ที่ตั้งของคณะรังสีเทคนิค
   โดยที่ ความแตกต่างของมหาวิทยาลัยรังสิตกับมหาวิทยาลัยของรัฐคือ ระบบการจัดการ โดยที่ภาพรวมของการจัดการศึกษารังสีเทคนิคทั้งหมดส่วนใหญ่ จะเป็นการบริหารจัดการโดยภาควิชาที่สังกัดคณะเทคนิคการแพทย์ หรือคณะสหเวชศาสตร์ อีกรูปแบบหนึ่งคือ สังกัดคณะแพทยศาสตร์ หรือร่วมกันผลิตระหว่างคณะสหเวชศาสตร์กับคณะแพทยศาสตร์ เป็นต้น 
บรรยากาศทางเดินหน้าห้องปฏิบัติการรังสีเทคนิค
เปิดสอนรังสีเทคนิคเพื่อตอบสนองความต้องการ
  เนื่องจาก วิชาชีพรังสีเทคนิคเป็นวิชาชีพที่ขาดแคลน และมีค่าตอบแทนสูง ทั้งนี้ จากผลการสำรวจโดยคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากวุฒิสภา ในปี 2553 สำรวจพบว่า มีความต้องการนักรังสีเทคนิคทั้งประเทศประมาณหนึ่งพันกว่าคน ณ ขณะนั้น ซึ่งในปัจจุบันจากการสำรวจล่าสุดพบว่า ความต้องการนักรังสีเทคนิคเพิ่มขึ้นเป็นเกือบสามพันคน และจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติและสำนักงานกพ.พบว่าค่าเฉลี่ยค่าตอบแทนภาคเอกชนสำหรับนักรังสีเทคนิคจบใหม่ในปี 2556 ประมาณ 33,000 บาทต่อเดือน 
  มหาวิทยาลัยรังสิตจึงเล็งเห็นว่า มหาวิทยาลัยรังสิตน่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเติมเต็มความขาดแคลนนี้ จึงได้จัดตั้งคณะรังสีเทคนิคขึ้นให้มีภารกิจในการสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิค โดยมีเป้าหมายในการผลิตปีละ 50 คน โดยให้มีมารตรฐานเดียวกันกับมหาวิทยาลัยของรัฐบาล เพราะตระหนักดีว่า เรื่องของคุณภาพต่อรองไม่ได้ 
  ทั้งนี้ บัณฑิตที่จบไปจะสามารถทำงานเป็นนักรังสีเทคนิค หรือนักรังสีการแพทย์ ซึ่งเป็นวิชาชีพเฉพาะในทางการแพทย์ โดยช่วยแพทย์รักษาโรคให้แก่ผู้ป่วยโดยการใช้รังสี การสร้างภาพรังสีเพื่อตรวจดูอวัยวะภายในของผู้ป่วย เช่น การถ่ายภาพเอกซเรย์ การทำซีทีสแกน เอ็มอาร์ไอ อัลตราซาวด์ เป็นต้น โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ รังสีวินิจฉัย  เวชศาสตร์นิวเคลียร์ และรังสีรักษา คณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต จะมีการเรียนการสอนครบทั้ง 3 สาขา 
  บัณฑิตที่จบไปก็จะไปทำงานทางด้านนี้ นอกจากนี้ ยังสามารถเป็นผู้ประกอบการคลินิกรังสีเทคนิค นักวิชาการที่ทำงานวิจัยหรือสอนในสถาบันวิจัยหรือสถาบันการศึกษาต่างๆ ผู้แทนฝ่ายขาย ผู้สนับสนุนการขาย ตามบริษัทจำหน่ายเครื่องมือทางรังสีวิทยา หรือศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น

หลักสูตร
   คณะรังสีเทคนิคมีหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิคตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งจัดทำตามเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ) และคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค (ก.ช.)เป็นหลักสูตรที่มีจุดเด่นที่สำคัญมากอย่างหนึ่งคือ มีความร่วมมือร่วมผลิตอย่างเป็นทางการกับบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการจำกัด (มหาชน) ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพและในเครือรวม 44 แห่งทั่วประเทศไทย และยังมีความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับโรงพยาบาลเลิดสินซึ่งเป็นโรงพยาบาลของรัฐบาลเพื่อเป็นแหล่งฝึกงาน และมีแผนงานที่จะทำความตกลงร่วมมือกับโรงพยาบาลของรัฐบาลเพิ่มขึ้นตามลำดับ
มหาวิทยาลัยรังสิตลงนามร่วมผลิตกับ
บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการจำกัด (มหาชน)
1 มีนาคม 2559
 คณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคให้การรับรองมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นสถาบันการศึกษา ที่สามารถจัดการศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิค ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานของ ก.ช. ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2559
หนังสือรับรองม.รังสิตของ ก.ช.
  หลักสูตรดังกล่าวเป็นหลักสูตร 4 ปี โดยปีที่ 1 เป็นการเรียนวิชาพื้นฐาน มีการแนะนำให้รู้จักว่าวิชาชีพของรังสีเทคนิคคืออะไร ปีที่ 2 เรียนวิชาพื้นฐานทางวิชาชีพ ปีที่ 3 เรียนรู้เทคนิคและความรู้ใน 3 สาขาของรังสีเทคนิค คือ รังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ และปีที่ 4 เรียนภาคปฏิบัติที่ต้องปฏิบัติงานกับผู้ป่วยจริงตามโรงพยาบาลที่มีมาตรฐาน โดยจะไปฝึกงานอยู่ในโรงพยาบาลรัฐบาลและเอกชนชั้นนำที่มีความตกลงร่วมกันอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือรังสีครบทั้ง 3 สาขา และมีนักรังสีเทคนิคปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลที่มีประสบการณ์สูงทุกคน ในขณะเดียวกันนักศึกษาจะต้องทำโปรเจกต์เพื่อได้เรียนรู้กระบวนการทำวิจัย 
นักศึกษารังสีรังสิตปี 1 ศึกษาดูงานด้านรังสีวิทยาในโรงพยบาล
ทั้งของรัฐและเอกชน (BDMS) ที่มีความร่วมมือกันอย่างเป็นทางการ
 ดังนั้น บัณฑิตรังสีเทคนิคที่จบจากมหาวิทยาลัยรังสิต จะมีทักษะทางวิชาชีพครบทุกด้าน สามารถทำงานได้ทั้ง 3 สาขา ที่ตลาดต้องการ และมีพื้นฐานที่จะเป็นผู้ประกอบการคลินิกรังสีเทคนิคด้วยการบูรณาการการจัดการศึกษาที่เป็นเลิศ การวิจัย และบริการทางวิชาการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือจุดเด่นของคณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต นอกจากสอนให้มีทักษะทางวิชาชีพรังสีเทคนิคแล้ว ยังสอนให้เค้ามีพื้นฐานความรู้เป็นผู้ประกอบการ ซึ่งกฎหมายได้ประกาศแล้วว่า วิชาชีพรังสีเทคนิคสามารถเปิดคลินิกของตัวเองได้ 

อาจารย์
   อาจารย์ประจำหลักสูตร ซึ่งจะทำหน้าที่บริหารจัดการ สอน วิจัย พัฒนานักศึกษาในด้านต่างๆ มาจาก ผู้มีประสบการณ์ทางด้านบริหารจัดการศึกษาสาขารังสีเทคนิคยาวนานจากมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้มีประสบการณ์ทางด้านการศึกษาและวิชาชีพรังสีเทคนิค มีจำนวนและคุณภาพเป็นไปตามาตรฐาน 
ปัจจัยเกื้อหนุน
    ปัจจัยเกื้อหนุนในที่นี้หมายถึง สิ่งต่างๆที่ช่วยให้การดำเนินการจัดการเรียนการสอนเป็นไปได้อย่างดี มีมาตรฐานตามที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคกำหนด คณะรังสีเทคนิคได้จัดเตรียมปัจจัยเกื้อหนุนให้เพียงพอต่อการเรียนการสอน การวิจัย รวมถึงการพัฒนานักศึกษาในด้านอื่นๆ ให้นักศึกษาได้ใช้เพื่อการเรียนรู้อย่างดี 
    อาคารสถานที่
    คณะรังสีเทคนิค ตั้งอยู่ที่อาคาร 10 ชั้น 9 และ 10 ภายในมหาวิทยาลัยรังสิต (แผนที่) มีอาคารสถานที่ เหมาะสมและเพียงพอ ต่อการจัดการเรียนการสอนรายวิชาพื้นฐานวิชาชีพ เน้นการใช้ RT Smart Classroom และ RT Smart Lab ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีความพร้อมสูงสุดก่อนที่จะเรียนฝึกงานวิชาชีพ ประกอบด้วย
    ห้องบรรยาย
   ขนาดความจุ 70 ที่นั่ง 1 ห้อง (RT Smart Classroom) ห้องบรรยายขนาดความจุ 50 ที่นั่ง 3 ห้อง ห้องประชุมโครงการกลุ่มย่อย 5 ห้อง
    ห้องปฏิบัติการ (RT Smart Lab)
Oห้องปฏิบัติการรังสีวินิจฉัย 2 ห้อง
Oห้องปฏิบัติการรังสีรักษา 2 ห้อง
Oห้องปฏิบัติการเวชศาสตร์นิวเคลียร์ 2 ห้อง
Oห้องปฏิบัติการเครื่องมือทางรังสีพื้นฐาน 1 ห้อง
Oห้องปฏิบัติการ Medical Image Processing 1 ห้อง
Oห้องโถงต้อนรับขนาดใหญ่ ห้องพักและทำกิจกรรมนักศึกษาขนาดความจุมากกว่า 70 คน
นักศึกษารังสีรังสิตรุ่นที่ 1 พ.ศ. 2559

    เครื่องมือรังสีที่สำคัญ
   เครื่องมือรังสีที่ติดตั้งที่คณะรังสีเทคนิค เป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการเรียนการสอนในชั้นปีที่ 1-3 เช่น เครื่องเอกซเรย์ทั่วไป เครื่องอ่านสัญญาณภาพชนิด CR เครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับติดตั้งกับจอวินิจฉัยภาพเอกซเรย์ Radiographic & Fluoroscopic QC Kit ชุดอุปกรณ์วัดปริมาณรังสี โครงกระดูกจำลอง เครื่องมือปฏิบัติการด้านรังสีรักษา เครื่องมือปฏิบัติการด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เครื่องมือปฏิบัติการพื้นฐานรังสีเทคนิค เป็นต้น
เครื่องเอกซเรย์ทั่วไประบบ digital โครงกระดูก และจอแสดงภาพขนาดใหญ่เพื่อสอนแสดง
เครื่องเอกซเรย์เสมือนจริงช่วยการสอน มองเห็นการทำงานภายในของหลอดเอกซเรย์
ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบและสร้างโดยคณาจารย์คณะรังสีเทคนิค
   คณะรังสีเทคนิคเน้นการสอนจากประสบการณ์ ตั้งแต่พื้นฐานรังสีเทคนิคจนถึงการใช้รังสีเพื่อช่วยวินิจฉัยโรคและรักษาโรค เช่น เครื่องเอกซเรย์เสมือนจริง ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบและสร้างโดยคณาจารย์คณะรังสีเทคนิค เป็นเครื่องแรกในประเทศไทยสำหรับสอนนักศึกษา ให้นักศึกษาสามารถศึกษาการทำงานของหลอดเอกซเรย์จริงๆ เห็นไส้หลอดเอกซเรย์สุกสว่างขณะเตรียมการผลิตเอกซเรย์ จานแอโนดที่กำลังหมุนด้วยความเร็วสูง จำลองการเคลื่อนที่ของกระแสไฟฟ้า จำลองชุดรับภาพเอกซเรย์ เป็นต้น
    หนังสือ/ตำรา/วารสาร/อินเตอร์เน็ต
  สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยรังสิตมี หนังสือ ตำรา วารสารวิชาการ สาขารังสีเทคนิคและที่เกี่ยวข้อง ที่ใช้สำหรับการจัดการเรียนการสอนในสาขารังสีเทคนิค อย่างเพียงพอ สามารถสืบค้นจากฐานข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต และดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้เมื่อนักศึกษาลงทะเบียนเป็นนักศึกษาแล้ว และมีหนังสือและตำราที่เป็นผลงานของคณาจารย์คณะรังสีเทคนิคจำนวนหนึ่ง เช่น คู่มือการถ่ายภาพเอกซเรย์สำหรับนักรังสีเทคนิคมือใหม่ เอกซเรย์คอมพิวเต็ดโทโมกราฟฟี่ พื้นฐานทางฟิสิกส์ของ CT และ MRI การควบคุมคุณภาพของภาพเอกซเรย์ เป็นต้น
   นักศึกษาสามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้ทุกที่ภายในมหาวิทยาลัยรังสิตผ่านระบบ wi-fi เพื่อความสะดวกในการสืบค้นข้อมูล และมหาวิทยาลัยได้มอบ iPad ให้นักศึกษาทุกคนที่ลงทะเบียนเรียน เพื่อให้ใช้ในการเรียน ทั้งในและนอกห้อง smart class room 
หนังสือ/ตำรา ซึ่งเป็นผลงานของคณาจารย์คณะรังสีเทคนิค
การเรียนการสอน     
  คณะรังสีเทคนิครับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ เข้าเรียนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิค หลักสูตร 4 ปี มีแผนรับปีการศึกษาละ 50 คน เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2559 เป็นต้นไป การเรียนรังสีเทคนิคที่นี่เน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์ นอกจากความรู้ในวิชาชีพรังสีเทคนิคแล้ว นักศึกษาจะได้เรียนรู้ในด้านอื่นๆ เช่น ธรรมาธิปไตย ภาษาอังกฤษ กีฬา ทักษะในศตวรรษที่ 21 ฯลฯ ด้วย



1 ความคิดเห็น: