(489 ครั้ง)
ทำบุญครบรอบปีที่หนึ่งของการจัดตั้งคณะ
เผลอแปร๊บเดียว วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ก็ครบ 1 ปีพอดีของการมาทำงานที่ม.รังสิต เป็นวันที่คณะรังสีเทคนิค ม.รังสิต ก่อตั้งอย่างเป็นทางการ จึงถือโอกาสดีนี้ทำบุญคณะรังสีเทคนิค เพื่อความเป็นศิริมงคล
ชาวเราบางคนถามผมและเสนอแนะด้วยความเป็นห่วงว่า
"อาจารย์ครับ อาจารย์ไม่เหนื่อยหรือครับ อาจารย์เกษียณแล้วยังต้องมาทำงานหนักอีก"
"อาจารย์น่าจะเลี้ยงหลาน มีความสุขกว่าเยอะนะครับ"
"อาจารย์คะ ... บลาๆๆๆๆ"
ชาวเราหลายคนแสดงความยินดีปรีดา ที่เห็นผมมาจัดตั้งคณะรังสีเทคนิค ที่ม.รังสิต แสดงไมตรีจิต
"อาจารย์ลุยเลย ผมช่วยเต็มที่"
"อาจารย์คะ ได้โอกาสที่หนูต้องตอบแทนอาจารย์แล้ว บอกมาเลยจะให้หนูช่วยอะไร"
"ดีใจมากๆครับ ที่เห็นอาจารย์มาทำงานนี้ ยินดีกับทีมอาจารย์ทุกๆท่าน ยินดีกับวิชาชีพรังสีเทคนิค ยินดีให้ความสนับสนุนทุกเวลาครับ"
หลังจากที่ผมเกษียณจากภาควิชารังสีเทคนิค มหิดล เมื่อ 30 กันยายน 2558 คือ เกษียณจากศาลายาแล้วก็มาเริ่มงานใหม่ที่รังสิตเลยในวันถัดไป ไม่ต้องพักกันเลยทีเดียว เพราะภารกิจการจัดตั้งคณะรังสีเทคนิคนั้น ท้าทายมาก ผมตั้งเป้าแบบกดดันตัวเองว่าจะรับนักศึกษารังสีรังสิตรุ่น 1 เข้าเรียนในปีการศึกษา 2559 ก็คือเดือนสิงหาคม 2559 ดังนั้น จึงมีเวลาจำกัดมาก ไม่ต้องพักครับ และก็สามารถรับรังสีรังสิตรุ่น 1 เข้าเรียนได้ตามแผนงานที่วางไว้
ข้อเขียนจากประกายรังสีคราวนี้ นอกจากจะนำบุญมาฝากแล้ว จะขอถือโอกาสวันดีๆแบบนี้ได้เปิดเผยความจริงว่า เพราะเหตุใดผมจึงตัดสินใจมุ่งหน้าสู่ทุ่งรังสิตโดยไม่ลังเล
แรงบันดาลใจ
ระหว่างที่ทำงานบริหารภาควิชารังสีเทคนิค ม.มหิดล ในฐานะรองหัวหน้าภาควิชา 8 ปี หัวหน้าภาควิชาอีก 8 ปี ส่วนใหญ่แล้วงานของภาควิชาก็เดินหน้าไปได้ตาม Inertia ของมัน เพราะทีมงานรังสีเทคนิค มหิดล มีความรับผิดชอบสูง มีชื่อเสียงอยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศในสาขารังสีเทคนิค อาจารย์บางท่านมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ จึงมีต้นทุนค่อนข้างสูงมาก การบริหารจัดการให้พันธกิจของภาควิชาดำเนินไปแบบไม่มีปัญหาภายในมากมายจนเป็นอุปสรรค อุปสรรคภายนอกดูจะมีแรงเสียดทานมากกว่า แต่ก็พอจัดการได้แบบกล้อมแกล้ม
ครั้นเมื่อม.รังสิตทาบทามให้ผมมาจัดตั้งคณะรังสีเทคนิค คิดอยู่นาน เลี้ยงหลานหรือเดินหน้าต่อ เอาไงดี ถ้าเดินหน้าต่อตัวเราจะทำได้หรือ เป็นความกังวล ความกลัว กลัวว่าจะทำไม่ได้ คนเดียวทำไม่ได้แน่ต้องมีทีม แล้วก็นึกถึงคำพูดที่เคยได้ยินมานานแล้วว่า "some men fear the feeling of fear" นี่เรากำลังเป็นแบบนี้หรือไม่
แล้วผมก็คิดต่อไปว่า ครั้งนี้น่าจะเป็นโอกาสสำคัญที่สุดอีกครั้งสำหรับชีวิตผมเลย ที่จะได้ทำในสิ่งที่ยากยิ่ง หากทำได้ดีมันอาจจะช่วยให้รังสีเทคนิคไทยก้าวหน้ายกระดับขึ้นอีกขั้นหนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมากๆ กำลังใจค่อยๆมา กัลยาณมิตรต่างๆทั้งลูกศิษย์และเพื่อนอาจารย์ยินดีช่วยเหลือเต็มที่ ซึ่งเวลาต่อมาก็มาร่วมเป็นทีมงานด้วยกัน ค่อยๆมองเห็นความกังวลและความกลัว โดยไม่รู้สึกกังวลและไม่รู้สึกกลัวอีกต่อไป ดังนั้น หลังจากที่มหาวิทยาลัยรังสิตโดยคุณหมอศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพได้ทาบทามผมให้มารับภารกิจอันสำคัญนี้ จึงตัดสินใจรับคำเชิญจากท่านอธิการมหาวิทยาลัยรังสิต ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ซึ่งท่านให้เกียรติผมอย่างมาก ท่านกล่าวในตอนท้ายของการสนทนาเมื่อครั้งแรกที่ได้พบกันว่า
"เชิญอาจารย์มาบริหารคณะรังสีเทคนิคนะครับ แล้วอาจารย์จะรักรังสิต"
นั่นแหล่ะครับ เป็นที่มาของคณะรังสีเทคนิค แห่งทุ่งรังสิต ซึ่งการที่ผมตัดสินใจมารับภารกิจนี้ จึงประกอบด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง ยังมีอีกอย่างหนึ่งลึกๆแล้วคือ ผมคิดว่า การตัดสินใจครั้งนี้อาจจะสร้างแรงบันดาลใจให้ชาวเรารังสีเทคนิคหลายๆคนก็ได้
เหนื่อยไหม
การเดินทางไกลมีปัญหาไหม?
ผมไม่เคยมองว่ามันคือ ปัญหา กลับมองว่ามันคือ โอกาส
ตอนที่อยู่มหิดลศาลายา ขับรถไปทำงาน ไป-กลับ วันละ 50 กิโลเมตร ก็รู้สึกว่าไกล แต่การเดินทางของผมจะสวนทางกับชาวบ้านส่วนใหญ่ เส้นทางที่ผมขับรถนั้นสะดวกมาก รถไม่ติดทั้งขาไปและขากลับ คือส่วนใหญ่ขับรถเข้าเมืองตอนเช้าผมก็จะขับออกนอกเมือง ตอนเย็นส่วนใหญ่จะขับรถออกนอกเมืองผมก็ขับจากศาลายาเข้าเมือง เลยรู้สึกสบายมาก
ครั้นมายังทุ่งรังสิต ต้องเดินทางเป็นระยะทางมากกว่าไปศาลายาถึง 2 เท่า คือ เดินทางไป-กลับวันละ 100 กิโลเมตร หลายคนคงร้องอุทานว่า "โอ้โฮ ไกลมาก"
ใช่ครับไกลมาก โชคยังดีที่เส้นทางเหมือนไปศาลายาเลยครับ คือ สวนกับชาวบ้านส่วนใหญ่ทั้งไปและกลับ จึงใช้เวลาเดินทางไม่นานมาก เพราะรถไม่ติดมากมายแบบในเมืองที่แออัดครับ
ได้มีโอกาสชื่นชมสิ่งต่างๆที่อยู่ระหว่างทางที่ขับรถผ่านไป ชื่นชมกับบรรยากาศร้านอาหารและอาหารที่มีหน้าตาและมีรสชาดไม่คุ้น มันดีมากๆเลย ได้พบปะพูดคุยกับผู้คนมากหน้าหลายตาที่ม.รังสิต บางคนมีชื่อเสียงในสังคมมาก ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าเป็นโชคดีของผมที่ได้สัมผัส
งานเยอะขนาดนั้นทำไง?
ผมไม่เคยมองว่า งานเยอะ ผมมองว่า "เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง" ก็แค่จัดลำดับความสำคัญแล้วก็ลงมือทำเลย
เคยถูกถามว่า "อาจารย์มียุทธศาสตร์อย่างไร ในการนำพาคณะรังสีเทคนิคไปสู่วิสัยทัศน์"
ผมตอบว่า ถ้าจะเรียกยุทธศาสตร์ ผมก็อยากจะบอกว่า ผมใช้ "ยุทธศาสตร์ไก่ขันตะวันขึ้น" มันคืออย่างไรกันสำหรับไก่ขันตะวันขึ้น ง่ายๆคือ recognize ทีมงาน ทำความเข้าใจ ช่วยกันทำคนละไม้คนละมือ ไม่ต้องรอคำสั่ง
ความจริงไก่ขันตะวันขึ้นเป็นเรื่องที่ได้ยินมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยครับ เรื่องมีอยู่ว่า
มีไก่อยู่เล้าหนึ่ง หัวหน้าไก่บอกกับไก่ตัวอื่นๆทำนองปลูกฝังความเชื่อว่า
หากฉันไม่ส่งเสียงขันวันใด วันนั้นดวงตะวันจะไม่ขึ้น เราจะไม่มีแสงสว่าง
โลกทั้งโลกจะมืดมิด และพวกเราจะตายกันหมด
บรรดาไก่ทั้งหลายก็เชื่อฟังตามคำของหัวหน้าไก่ ไม่มีใครกล้าเถียงแม้แต่ตัวเดียว
เพราะมันเป็นจริงตามที่หัวหน้าไก่บอกทุกวัน คือ “ขันปั๊บ ดวงตะวันขึ้นปึ๊บ” หรือ“ไก่ขัน
ตะวันขึ้น” แต่ประเด็นคือ หัวหน้าไก่ขันอยู่ตัวเดียว ตัวอื่นๆเงียบด้วยความเชื่อและรอให้หัวหน้าไก่ขัน
เวลาผ่านไป เช้ามืดวันหนึ่ง
หัวหน้าไก่ซึ่งแก่มากแล้ว และป่วย ไม่มีแรงจะบินขึ้นไปขันบนต้นไม้
ไก่ลูกน้องกลัวมาก บอกกับหัวหน้าไก่ว่า ท่านต้องอดทนปีนต้นไม้ขึ้นไปขันให้ได้
ไม่เช่นนั้นพวกเราจะพากันตายหมด หัวหน้าไก่ส่ายหน้า ไม่ไหวหรอกป่วยขนาดนี้
ไก่ลูกน้องต้องใช้วิธีหิ้วปีกหัวหน้าขึ้นต้นไม้ไป
จากนั้นหัวหน้าไก่ก็รวบรวมพลังทั้งหมดที่มีอยู่โก่งคอขัน
ปรากฏว่าการขันวันนั้น
เป็นการขันครั้งสุดท้ายของหัวหน้าไก่
เพราะเมื่อขันได้ครั้งเดียวก็หมดแรงและตกลงมาตาย ไก่ที่เหลือกลัวจนรนราน
คือกลัวว่าดวงตะวันจะไม่ขึ้น กลัวตายเพราะถูกฝังความคิดไว้ว่า
ต้องหัวหน้าไก่ขันเท่านั้นดวงตะวันจึงจะขึ้น ไก่จับกลุ่มรวมตัวกันยอมรับชะตากรรม
สักครู่ดวงตะวันก็เริ่มส่องแสงตามธรรมชาติของมัน ทำเอาฝูงไก่นั้นถึงกับตะลึงงัน “อะไรกัน
หัวหน้าไม่ขัน แล้วตะวันขึ้นได้อย่างไร แปลกมากๆๆ”...จบครับ
ไม่เหนื่อครับ
Related Links:
คณะรังสีเทคนิค ม.รังสิต
จากศาลายาสู่ตะวันรุ่งทุ่งรังสิต
รังสีรังสิตรุ่น 1
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น