วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สังคมบูชาเงิน: อดีตvsปัจจุบัน


จะว่าไปแล้ว เมืองไทยมีความดีงามให้ได้ภาคภูมิใจอยู่มาก ทั้งวัฒนธรรม ประเพณี อันดีงาม สถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างสวยงามมากมาย ฯลฯ ประเทศอื่นๆอีกจำนวนมากที่ไม่มีอย่างเมืองไทย แล้วเขาก็พยายามสร้างเอกลักษณ์ของเขาขึ้นมา เพื่อให้คนทั้งโลกรู้จัก กรุงเทพฯเป็นเมืองน่าท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของโลกติดต่อกันมาหลายปี เพราะอะไร สิ่งดีงามเหล่านี้จะยังคงอยู่กับเมืองไทยไปอีกนานเท่าไร น่าเป็นห่วงจริงๆที่คนไทยจำนวนไม่น้อย กำลังหลงระเริงกับการทำลายรากเหง้าที่มีความสวยงามเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว หันหลังให้กับความสวยงามของไทย

วกมาเรื่องเงินๆทองๆดีกว่าตามที่จั่วหัวไว้

เงินไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด แต่เป็นสิ่งที่มีความจำเป็น ใครขาดเงินก็ดูเหมือนจะอยู่ในสังคมไทยยุคนี้ได้ยาก

เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว ในหมู่บ้านชนบทไกลแสงสี ผมวิ่งเล่นเข้าบ้านโน้น ออกบ้านนี้ เรียกพ่อและแม่กันทุกบ้าน ได้เวลากินข้าวที่บ้านไหน ก็ร่วมวงกินได้เลย ไม่รู้สึกแปลกแยก เวลาที่แม่ผมทำแกงจะทำหม้อใหญ่มาก ทั้งที่ในบ้านมีแค่ 4 คน แม่ตักแกงใส่ชามแล้วให้ผมไปให้ที่บ้านแม่เหลือบ บ้านแม่ปอง บ้านแม่มา บ้านแม่... แล้วแต่ละบ้านก็จะให้แกงจืดบ้าง ผัดผักบ้าง น้ำพริกผักสด-ต้ม กลับมาที่บ้านผม ทำให้มีกับข้าวกินหลายอย่าง ทั้งที่แม่ทำแกงเพียงอย่างเดียว เรากินกันเอร็ดอร่อยมากทุกวัน ปัจจุบันบรรยากาศนี้ได้จางลงไปมากแล้ว เสียดายจริงๆ

ขอเล่าเรื่องจริงเกี่ยวกับเงินเรื่องหนึ่งแบบตื่นเต้นนิดๆ ที่เกิดขึ้นกับผมในช่วงเวลานั้น

วันหนึ่ง ตอนเย็นใกล้ค่ำ ผมวิ่งเล่นกับเพื่อนในตลาดสดประจำหมู่บ้าน พ่อค้าแม่ค้าเก็บร้านกันเกือบหมดแล้ว เราวิ่งเล่นมาถึงบริเวณเขียงหมูมีประมาณ 3 ร้าน (ร้านขายหมู) เจ้าของเก็บร้านเรียบร้อยแล้ว และกลับบ้านไป ระหว่างวิ่งเล่นกันอยู่นั้น เพื่อนคนหนึ่งลองดึงลิ้นชักที่เขียงหมู ปรากฏว่า มีเงินในลิ้นชักจำนวนมากซึ่งเจ้าของร้านได้จากการขายหมู แต่ลืมเก็บกลับบ้าน เพื่อนทุกคนรวมทั้งตัวผมด้วย เห็นเงินในลิ้นชักแล้วตาพองโตเลยทีเดียว ความรู้สึกแบบเด็กๆบอกตัวเองว่าเงินมันเยอะมากจริงๆ ความอยากได้เกิดขึ้นทันควัน เพื่อนคนหนึ่งไม่พูดพร่ำทำเพลง รีบคว้าไปปึกหนึ่งเผ่นแน่บกลับบ้านเลย จากนั้น ก็คนละหนุบละหนับ ช่วงชุลมุนนั้น ใจผมมีทั้งอยากได้แต่ก็กลัวถูกจับได้ ที่สุดก็หยิบแบงก์ร้อยมาใบเดียว เพราะถ้าไม่เอาโดนเพื่อนอัดแน่ โทษฐานไม่ใช่พวกเดียวกัน

ผมเดินกลับบ้านแบบร้อนรน ใจคอไม่ดีเลย ทั้งที่ได้มาหนึ่งร้อย (ตอนนั้นทองคำบาทละสี่ร้อย) กลัวแม่รู้ (แม่ดุมาก) เห็นไหมครับ ได้มาตั้งร้อยนึง มากโขทีเดียว แทนที่จะดีใจ แทนที่จะมีความสุข แต่กลับไมดีใจ ไม่ลิงโลดใจ มีแต่ความกังวล ว้าวุ่นไปหมด จะทำอย่างไรดีกับเงินหนึ่งร้อย มันมากสำหรับเรา บอกใครก็ไม่กล้าเดี๋ยวแม่รู้ ถ้าเจ้าของเขียงหมูรู้แล้วเขาจะว่าอย่างไร?? คิดไปเรื่อยไม่มีข้อยุติ

เวลาผ่านไปสักพักใหญ่ ในที่สุดเจ้าของเขียงหมูก็ตามมาทวงคืนจนได้ ในวันนั้นเลย เร็วจริงๆ เขามาตามหาเงินของเขา ตามเบาะแสที่ผู้ใหญ่ในตลาดเห็น เกิดการโต้เถียงกันยกใหญ่ ระหว่างพ่อแม่ของลูกบ้านอื่นบางบ้านที่เอาเงินมาแล้วไม่ยอมคืน แถมพ่อแม่ยังเถียงปฏิเสธว่าไม่ได้เอามา ไม่ทราบว่าโดนลูกหลอกเอา หรือว่ารู้กันกับลูกตัวเอง 

สำหรับพ่อแม่ผม จบเรื่องนี้เร็วมาก สั่งให้ผมนำเงินหนึ่งร้อยไปคืนทันที เดี๋ยวนี้ ใจผมเต้นแรงเหมือนโลกจะแตกเลยแหล่ะ ผมยื่นแบงก์ร้อยที่หยิบมาจากเขียงหมูส่งให้เจ้าของเขียงหมู  มือไม้สั่นไปหมด  เจ้าของเขียงหมูยิ้ม กล่าวชมเชยและตบรางวัลให้ผม 20 บาท ใจผมรู้สึกดีขึ้นมาก รู้สึกคลายกังวลลงไป ความสุขเคลื่อนเข้ามาแทนที่ แต่พอหันกลับมาแม่หวดเลย เพี้ยๆ....จำไว้นะ ห้ามทำอย่างนี้อีกเด็ดขาด เพื่อนคนไหนชวนทำแบบนั้น อย่าไปคบมัน จัดหนักครับ แม่โมโหมากครับ ของคนอื่นอย่าเอามาเป็นของตนเด็ดขาด ทุกวันนี้ ยังจำแม่นอยู่เลย

เด็กๆตอนนั้น เห็นเงินแล้วตาโต เด็กๆสมัยนี้ล่ะ เห็นเงินแล้วตาโตไหม ผมว่าน่าจะตาโต เพราะผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งทำตัวอย่างให้เห็น เป็นการถ่ายทอดพันธุกรรม (genetic coding) แบบไม่ต้องสอนตรงๆ ดูราวกับว่า ผู้ใหญ่ไม่ได้ตระหนักพิษภัยของการบูชาเงินเลย

สังคมไทยเป็นสังคมที่บูชาเงินหรือไม่ ผมไม่อยากฟันธงว่าใช่ ทว่า ประสบการณ์ตรงที่ตัวผมเองผ่านมาตลอดหลายสิบปี สัมผัสได้ รู้สึกได้ว่า มันเป็นเช่นนั้น ทำนองว่า มีเงินมีทองนับเป็นน้องเป็นพี่ กันเลยทีเดียว

ผมเคยเป็นแฟนรายการวิทยุแบบตามน้ำ คือรายการที่มีชื่อว่า  คุยโขมงหกโมงเช้า จัดโดยคุณ ดุ่ย ณ บางน้อย ตอนนั้นผมยังเด็กและเรียนอยู่ที่นครสวรรค์  น่าประหลาดมากที่ หลายปีต่อมา พอผมเติบใหญ่แต่งงานมีครอบครัว ในพิธีฉลองสมรส คุณดุ่ยคนเดียวกันนี้ ได้ให้เกียรติมาเป็นพิธีกรครับ อัศจรรย์จริงๆ

ย้อนกลับไปที่ตอนเรียนที่นครสวรรค์ ทุกๆวัน ตอนเช้ามืดระหว่างเตรียมตัวไปโรงเรียน จะได้ฟังรายการนี้ คุยโขมงหกโมงเช้า ถ้าเทียบกับสมัยนี้ก็คงต้องเป็นรายการตอนเช้าของสรยุทธ์ละครับ  ทีแรกก็ไม่ได้ตั้งใจฟังหรอก  แต่ เป็นเพราะน้าไสวที่ผมไปอาศัยอยู่ด้วย แกเปิดวิทยุฟังรายการนี้ทุกวัน ผมจึงได้ฟังไปด้วย แรกๆก็ไม่ตั้งใจฟัง  พอฟังไปนานๆเข้าก็ติดรายการนี้ ทุกเช้าต้องฟัง ถ้าไม่ฟังเหมือนขาดอะไรไปบางอย่าง ในรายการนั้นคุณดุ่ยชอบที่จะพูดคำกลอนบทหนึ่งบ่อยๆทำให้ผมจำได้แม่นครับ

เมื่อมั่งมี มากมาย มิตรหมายมอง
เมื่อมัวหมอง มิตรมอง เหมือนหมูหมา
เมื่อไม่มี หมดมิตร มุ่งมองมา
เมื่อมอดม้วย แม้หมูหมา ไม่มามอง

     อันนี้ น่าจะสะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทย  เป็นสังคมบูชาเงินมานานแล้ว จริงหรือไม่ ทุกวันนี้เป็นแบบนี้ไหม หนักขึ้นหรือเปล่า ถ้าจริง ก็ให้รู้สึกสลดหดหู่เป็นที่ยิ่ง และก็จงรับพิษภัยจากการบูชาเงินกันต่อไปเถิด

3 ความคิดเห็น:

  1. จาก FB:.....

    Buasri Janin:......
    เป็นจริงดั่งกลอนว่าไว้.....พบเห็นได้ในปัจจุบัีน ทุกสังคม

    Supaporn Thungsuk:.....
    มั่งมี VS ศักดิ์ศรี เขาเลือกอะไรกัน กลอนที่อาจารย์นำมาลงสะท้อนความเป็นจริงของสังคมปัจจุบัน ขอแชร์ค่ะ

    Taratip Narawong:.....
    สุดท้ายคือให้ปลงใช่มั๊ยคะ อาจารย์

    Supaporn Thungsuk:.....
    ถึงจนสู้ทนกัด กินเกลือ
    อย่าเที่ยวแล่เนื้อเถือ พวกพ้อง
    กินอยู่อย่างเสือสงวนศักดิ์ ไว้นา
    โซก็เสาะใส่ท้องจับเนื้อ กินเอง
    ( ใช้โคลงกลอนบทนี้สอนลูกๆเสมอ ขออนุญาตใช้พื้นที่นี้แบ่งปันค่ะ )

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ18 กันยายน 2555 เวลา 16:54

    โดนเต็มๆ เป็นงี้มานานนนนนนมากแล้ว บูชาเงินมากว่าความดี เบื่อง่ะ

    ตอบลบ
  3. ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก

    ตอบลบ