วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ตราอันทรงเกียรติ หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค มหิดล


(1,625ครั้ง)
Last update: 15-07-2014

ตราอันทรงเกียรติสำหรับหัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นตราที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์สุพจน์ อ่างแก้ว (1) ผู้อำนวยการโรงเรียนรังสีเทคนิคท่านแรกและท่านเดียว (เมื่อครั้งเป็นโรงเรียนรังสีเทคนิคตั้งแต่ พ.ศ. 2508)  และหัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิคท่านแรก (หลังจากที่โรงเรียนรังสีเทคนิคปรับเปลี่ยนเป็นภาควิชารังสีเทคนิคเมื่อ พ.ศ. 2522 จนท่านเกษียณอายุราชการในปี พ.. 2530) ได้จัดทำขึ้น เพื่อมอบให้กับหัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค ผู้ที่มารับหน้าที่ต่อจากท่าน ในเวลานั้นคือ รองศาสตราจารย์จิตต์ชัย สุริยะไชยากร (2) (พ.ศ.2531-2537) และได้เป็นประเพณีสืบทอดกันมา เมื่อท่านใดมารับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค ก็จะรับตราอันทรงเกียรตินี้ไป หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิคท่านต่อๆมา ได้แก่ อาจารย์ธันพงษ์ กฤษณจินดา (3) (พ.ศ. 2537-2541) รองศาสตราจารย์ชวลิต วงษ์เอก (4) (พ.ศ. 2541-2549) และรองศาสตราจารย์มานัส มงคลสุข (5)(พ.ศ. 2549-2557)ตามลำดับ
ผศ.ดร.นภาพงษ์ พงษ์นภางค์ หัวหน้าภาคลำดับที่ 6
รับตำแหน่งตั้งแต่ 21 กรกฏาคม 2557 วาระ 4 ปี

       ลักษณะ
       ตราอันทรงเกียรติสำหรับหัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยมหิดล สร้างขึ้นจากจานโลหะทังสะเต็นอัลลอยด์ที่ใช้ทำเป้าในหลอดเอกซเรย์จริงๆขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 7 เซ็นติเมตร นำมาชุบด้วยทองคำ ปิดทับด้วยแผ่นอะลูมิเนียมกลมสีน้ำเงินทั้งสองด้าน ด้านหน้ามีข้อความ ขนฺตี ธีรสฺส ลงฺกาโร ขันติเป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์ด้านหลังมีข้อความ ตราอันทรงเกียรติ พ.ศ. 2506 หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหิดล ประดับห้อยกับสายสะพายขนาดกว้าง 3 เซ็นติเมตร สีแดง มีริ้วสีเขียว น้ำตาลและน้ำเงิน ใช้สวมที่คอ

       ความหมาย
ภายในหลอดเอกซเรย์ประกอบด้วย จานโลหะและไส้หลอด เมื่ออิเล็กตรอนจากไส้หลอดที่มีพลังงานจลน์สูงมากวิ่งไปชนจานโลหะ จะเกิดเอกซเรย์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ จานโลหะนี้มีคุณสมบัติ ทนทานต่อแรงกระแทกกระทั้น แข็งแกร่งไม่แตกหักง่ายๆ และมีจุดหลอมเหลวสูง ทุกๆครั้งที่มีการผลิตเอกซเรย์ จานโลหะนี้จะเกิดความเค้น ความเครียดและความร้อนสูงมาก เพราะต้องรับแรงกระแทกจากการชนของอิเล็กตรอนจำนวนมาก โดยที่พลังงานของอิเล็กตรอนประมาณ 99 % จะกลายเป็นพลังงานความร้อนสะสมอยู่ในจานโลหะ ประมาณ 1 % เท่านั้นที่เป็นเอกซเรย์ออกมาจากจานโลหะให้เราได้ใช้ประโยชน์ นี่เป็นเหตุผลที่ว่า เพราะอะไรจานโลหะจึงต้องมีความทนทานสูง เก็บพลังงานในรูปความร้อนได้สูงและนานโดยไม่หลอมหรือแตกหัก แต่ใช่ว่าจานโลหะนี้จะอมตะ อยู่ยงคงกะพัน จำเป็นต้องมีวิธีระบายความร้อนออกจากจานโลหะด้วย เช่น ทิ้งช่วงเวลาในการระดมยิงอิเล็กตรอนใส่จานโลหะซะบ้าง มิฉะนั้นความร้อนจะสะสมในตัวจานโลหะมากเกินกว่าที่มันจะทนได้ จนหลอมหรือแตกไปในที่สุด
หากตัวเราเป็นดั่งจานโลหะนี้ และเปรียบอิเล็กตรอนคือ อุปสรรคและปัญหาต่างๆที่พุ่งเข้าหาเรา พลังของปัญหาต่างๆเหล่านั้น จะทำให้เราเกิดความเค้นและเครียด ในขณะที่ตัวเรายังสามารถสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ประชาชน หน่วยงานหรือองค์กรได้บ้าง ดูเหมือนน้อยนิด หากไตร่ตรองให้ดี ประโยชน์ที่เกิดขึ้นนั้นมันมากพอที่ทำให้เราภูมิใจ เป็นพลังใจให้เราทำงานเดินหน้าต่อไปได้อย่างภาคภูมิ ขณะเดียวกัน ต้องมีวิธีการที่ถูกต้องในการระบายพลังความเครียดออกไปจากเรา เพื่อให้เราสามารถอยู่รอด ไม่ให้สะสมเกินขีดจำกัดของเราได้ มิฉะนั้นเราจะแตกหักไปหรือหลอมละลายไป เราแตกต่างจากจานโลหะทังสะเต็นอัลลอยด์ก็ตรงที่ว่า เราเป็นคน มีชีวิตจิตใจ แต่ละคนมีความทนทานและความจุพลังความเครียดไม่เท่ากัน
     จานโลหะนี้จึงเป็นเครื่องเตือนสติให้หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค มีความอดทน อดกลั้น เข้มแข็ง ไม่ขาดสติ แม้จะมีอุปสรรคและปัญหา พุ่งเข้ามากระแทกกระทั้นหนักหนาสาหัสสักปานใดก็ตาม ประกอบกับข้อความที่เขียนไว้ว่า ขนฺตี ธีรสฺส ลงฺกาโร ขันติเป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์ เป็นพุทธสุภาษิตที่เตือนสติให้หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิคได้เข้าใจว่า เครื่องประดับนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมให้คนดูสวยงามขึ้น แต่หากผู้นั้นแสดงกิริยาไม่เหมาะสม ขาดความอดทนอดกลั้น ความสวยงามก็หมดไป สำหรับนักปราชญ์ หากแสดงกิริยาไม่เหมาะสม ก็จะยิ่งน่ารังเกียจเป็นทวีคูณ นักปราชญ์จะแสดงความสง่าน่านับถือไว้ได้ด้วยความอดทนอดกลั้น

1 ความคิดเห็น:

  1. ความหมายลึกซึ้งมากค่ะอาจารย์ ถึงแม้จะได้เคยฟังไปแล้วตอนเรียน แต่พอมาอ่านอีกทีก็ยังกินใจเหมือนเดิมค่ะ

    จาก... เด็กหน้าห้อง RT#3 รุ่น 48

    ตอบลบ