วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ความสมดุล กับทางสายกลางเหมือนกันไหม??


(444 ครั้ง)     
     ผมเคยถามลูกศิษย์ เพื่อนฝูง ผู้ร่วมงาน ว่า
ความสมดุล กับทางสายกลางเหมือนกันไหม
เป็นคำถามง่ายๆ แต่เท่าที่สังเกตคนที่ฟังคำถามแล้ว ไม่มีใครสักคนที่ตอบทันที
ทุกคนยิ้ม แล้วหลายคนทำตาเหลือกขึ้น ค้างอยู่พักนึง จึงแสดงความเห็นอย่างช้าๆแบบไม่ค่อยแน่ใจ และจะออกไปในแนวทางที่ ความสมดุลคล้ายหรือเหมือนกับทางสายกลาง ดูแบบผิวเผิน ก็ไม่น่าจะต่างกัน แต่พอตั้งสติดีๆ ค่อยๆคิดอย่างละเอียด ชักไม่แน่ซะแล้วว่าจะคล้ายกัน

วันนี้เป็นวันดี เป็นวันสำคัญ จึงอยากชวนชาวเราคิดเรื่องนี้

สมดุล
มาดูหลักฟิสิกส์ที่ชาวเราทราบดีอยู่แล้ว

แม่ค้าหาบผลไม้ตามรูป ใช้ไม้คานแบกผลไม้ A และ B หนักเท่ากันโดยที่แม่ค้าออกแรงยกไม้คานที่ตำแหน่ง C ซึ่งอยู่ที่ตำแหน่งกึ่งกลางไม้คานพอดีเป๊ะ แม่ค้าสามารถแบกผลไม้ได้โดยไม้คานไม่เอียงไปทาง A หรือ B นี่แหล่ะอยู่ในสภาวะสมดุลตามหลักฟิสิกส์ ถ้าต้องการรักษาสมดุลไว้ แม่ค้าจะต้องอยู่ตรงกลางคือแบกไม้คานที่ตรงกลางตรงตำแหน่ง C ไว้ตลอด ทำให้แบกอย่างสบายๆ เดินเหินคล่องและสบาย แม่ค้าไม่อาจจะขยับออกจากจุด C ไปทางซ้ายหรือทางขวา เพราะจะทำให้เสียสมดุลทันที และทำให้เดินเป๋ไปเป๋มาได้
ดังนั้น สมดุลจึงเป็นสิ่งที่ต้องมีทั้ง A และ B อย่างพอดีๆหรือในกรณีนี้มีให้เท่าๆกัน ไม้คานจึงจะไม่เอียง
เรื่องความสมดุลภายในจิตใจของเราคล้ายกันครับ เช่น ปัญญากับศรัทธา ต้องมีทั้งสองอย่างนี้ให้สมดุล ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้
ใครก็ตามที่มีศรัทธาแต่ไม่มีปัญญา อย่างนี้เขาจะมีความเชื่อศรัทธาในสิ่งต่างๆโดยไม่ได้ใช้ปัญญาคิดใคร่ครวญเลย จึงเข้าข่าย งมงาย สังคมไทยยังมีเรื่องนี้ให้เห็นได้บ่อยๆ อย่างที่เป็นข่าวทางหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์
ใครก็ตามที่มีปัญญาอย่างเดียวแต่ขาดศรัทธา อย่างนี้เขาจะเป็นคนมีความรู้มาก ฉลาด แต่ไม่ทำอะไร โดยเฉพาะการทำเพื่อประโยชน์ที่เกิดกับส่วนรวม เพราะเมื่อไม่มีศรัทธาก็จะขาดพลังขับเคลื่อน ขาดความเชื่อในสิ่งที่จะทำ และมักจะมีคำถามเสมอๆว่า ทำแล้วฉันได้อะไรเหมือนเรื่อง คนตาบอดถือโคมไฟ ที่เคยเล่าไปแล้ว

    ทางสายกลาง
แม่ค้าหาบผลไม้ ออกแรงแบกไม้คานที่ตำแหน่ง C โดยทำอย่างนั้นไว้ซึ่งจะสมดุลอยู่ ตราบใดที่ไม่มีการเพิ่มน้ำหนักที่ A หรือ B แม่ค้าแบกไม้คานสบายๆ เดินเหินสบายๆ คือสมดุลอยู่ดีๆแท้ๆ  แม่ค้าเกิดลองขยับจุดรับน้ำหนัก C ไปทางด้านใดด้านหนึ่ง เช่น ขยับไปทาง A คราวนี้เริ่มวุ่นล่ะ เพราะไม่สมดุลอีกแล้ว ไม้คานจะเอียงไปทาง B ทันที ลองคิดดูแม่ค้าจะแบกต่อไปอย่างไรให้ไม่เอียง มันทำไม่ได้ มันต้องเอียง
ทางสายกลาง เมื่อเป็นเรื่องของจิตใจ เป็นทางที่อยู่ระหว่างความสุดโต่งสองข้าง เหมือน A กับ B คือ ไม่ควรจะเข้าหาข้างใดข้างหนึ่ง เช่น ความสุขกับความทุกข์ เป็นต้น ความสุขและความทุกข์เป็นความสุดโต่งสองข้าง เมื่อเราเอียงเข้าหาความสุขที่มีกิเลศเป็นตัวล่อจะมีความทุกข์เพราะอยากมีความสุข เมื่อมีความสุขก็มีความทุกข์เพราะไม่อยากเสียความสุขไป ทีนี้ เมื่อเอียงไปทางมีความทุกข์ก็จะพยายามผลักใสความทุกข์ออกไปก็ยิ่งทุกข์หนักขึ้น หลายคนอาจบอกว่า "โอ้ย..เกิดมาทั้งทีอย่างไงก็ขอสุขไว้ก่อนแล้วกัน" ก็ไม่ว่ากัน
ดังนั้น ดีที่สุดคือไม่ควรจะมีทั้งสองสิ่งที่เป็นความสุดโต่งนั้น จะโล่งสบาย ซึ่งทำใจได้ยากนะครับ
               
    ในวันดีๆเช่นนี้ มาชวนคิดเรื่อง สมดุลกับทางสายกลาง ถ้าจะสรุปย่อๆ ขอสรุปว่า ทางสายกลางคือ ทางที่อยู่ตรงกลางของความสุดโต่งสองข้างและถ้าไม่มีไม่เข้าหาความสุดโต่งทั้งสองข้างนั้นจะดีที่สุด ส่วนความสมดุลคือ ความที่ต้องมีทั้งสองอย่างนั้นอย่างสมดุล ไม่สามารถขาดอย่างใดอย่างหนึ่งได้ครับ

    ไม่ถามแล้วว่า
ความสมดุล กับทางสายกลางเหมือนกันไหม
    ถึงตอนนี้ ชาวเรามาให้ความสนใจสาระความหมายของสมดุลกับทางสายกลาง กันดีกว่า

วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

กช.ตาม พรบ.การประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2556

    
     (2,696 ครั้ง)
     ตามที่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะฉบับใหม่ คือ พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2556 และยกเลิกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขารังสีเทคนิคเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2545 อ่านแล้วอย่าเพิ่งตกใจนะครับ ว่าวิชาชีพรังสีเทคนิค ไม่เป็นวิชาชีพที่ต้องมีใบอนุญาตการประกอบโรคศิลปะแล้วหรือไร ไม่ใช่ครับ เนื้อหาที่ยกเลิกไป ถูกปรับเล็กน้อย แล้วยกไปไว้ในพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2556 ฉบับล่าสุดมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นต้นไป เช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆอีก 6 สาขา ที่ไม่ได้ระบุไว้ในพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 ได้แก่ สาขากิจกรรมบำบัด สาขาการแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย สาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก สาขาจิตวิทยาคลินิก สาขากายอุปกรณ์ และสาขาการแพทย์แผนจีน
      สาระสำคัญประการหนึ่งคือ คณะกรรมการวิชาชีพ สาขารังสีเทคนิค ที่ยังคงให้มีอยู่ แต่มีการปรับเล็กน้อย ทว่าอาจจะมีผลกระทบในวงกว้างในอนาคต

ก.ช.ให้คุณให้โทษต่อนักรังสีเทคนิคโดยตรง
มาทบทวนดูครับว่า หน้าที่ของคณะกรรมการวิชาชีพมีอะไรบ้าง ตามที่ระบุไว้ใน มาตรา 23 ของพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 คณะกรรมการวิชาชีพมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) รับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะในสาขานั้น ๆ
(2) เพิกถอนใบอนุญาตกรณีผู้ประกอบโรคศิลปะในสาขานั้นขาดคุณสมบัติ
(3) เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อใช้อำนาจตามมาตรา 13(2)
(4) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในกรณีที่ผู้ประกอบโรคศิลปะในสาขานั้นประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ
(5) ให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำแก่สถานศึกษาเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาการประกอบโรคศิลปะในสาขานั้น
(6) แจ้งหรือโฆษณาข่าวสารด้วยวิธีใด ๆ ตามที่เห็นสมควร เพื่อมิให้ประชาชนหลงเข้าใจผิด ซึ่งอาจเป็นอันตรายเนื่องจากการประกอบโรคศิลปะในสาขานั้น
(7) ส่งเสริม พัฒนา และกำหนดมาตรฐานการประกอบโรคศิลปะในสาขานั้น
(8) ออกหนังสือรับรองความรู้ความชำนาญเฉพาะทางในการประกอบโรคศิลปะในสาขานั้น
(9) พิจารณาและเสนอชื่อผู้แทนคณะกรรมการวิชาชีพในสาขานั้นเป็นกรรมการการประกอบโรคศิลปะ
(10) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิชาชีพเพื่อกระทำการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการวิชาชีพในสาขานั้น
(11) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการวิชาชีพในสาขานั้น
(12) พิจาณาหรือดำเนินการในเรื่องอื่นตามที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการมอบหมาย

      จากหน้าที่ของ ก.ช. ที่ระบุไว้นี้ เป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ให้คุณให้โทษต่อนักรังสีเทคนิคโดยตรง ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค จนกระทั่งเข้าสู่การทำงานในสายวิชาชีพรังสีการแพทย์ 
      ผู้ที่จะเป็นกรรมการวิชาชีพจึงต้องศึกษาและทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ ถึงบทบาทหน้าที่ของ ก.ช. เพื่อจะได้ทำหน้าที่ได้ถูกต้องเหมาะสม โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับเป็นสำคัญ (patient focus)

องค์ประกอบของ ก.ช.ที่เปลี่ยนไป
พูดถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการวิชาชีพ สาขารังสีเทคนิค ตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2556 เปลี่ยนไปจากเดิมเล็กน้อย แต่สาระของมันอาจจะมองได้ว่าเปลี่ยนไปมาก และมีผลกระทบในวงกว้าง ได้แก่

ประการแรก การเพิ่มผู้แทนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเข้ามาอีก 1 คน ซึ่งเดิมมีเฉพาะผู้แทนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ประการที่สอง ก.ช.ที่มาจากสถาบันผู้ผลิตรังสีเทคนิค เดิมกำหนดให้เฉพาะคณบดีคณะรังสีเทคนิคหรือหัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค เท่านั้น โดยไม่จำกัดจำนวน
แต่ใน พรบ.ใหม่กำหนดไว้กว้างมากแล้วให้เลือกกันเองเหลือ 3 คน
แม้ว่า พรบ.ใหม่จะประกาศใช้แล้วก็ตาม ผมขอแสดงความคิดเห็นไว้สักเล็กน้อย
ก.ช.ที่มาจากสถาบันผู้ผลิตรังสีเทคนิค เปิดโอกาสให้ครอบคลุมถึงหัวหน้าหน่วยงานที่ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค โดยที่หน่วยงานนั้นไม่ต้องมีชื่อเรียกว่า คณะรังสีเทคนิคหรือภาควิชารังสีเทคนิคก็ได้ ขอเพียงรับผิดชอบจัดการศึกษารังสีเทคนิค เมื่อ ก.ช.รับรอง สกอ.รับรอง และมีการรับนักศึกษาเข้าศึกษา ก็ใช้ได้แล้ว แบบนี้ผมก็ว่ายุติธรรมดีครับ
แต่การกำหนดองค์ประกอบในส่วนนี้  สามารถมองได้หลายมุม เช่น มองว่า เป็นการใช้ข้อความ ในเชิงที่สื่อความหมายไปในทางที่ไม่สนับสนุนให้มีการตั้งสถาบันที่ใช้ชื่อว่า คณะรังสีเทคนิค หรือภาควิชารังสีเทคนิค จะเป็นสถาบันอะไรก็ได้ ชื่ออะไรก็ได้ ที่สามารถผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค ถ้า ก.ช. รับรองสถาบันนั้นก็มีสิทธิ์ทั้งสิ้น ส่วนตัวผมไม่ได้รังเกียจสถาบันที่ว่านั้นนะครับ ในทางตรงข้ามกับรู้สึกยินดีและชื่นชมด้วยซ้ำ  ที่สถาบันที่มีความพร้อมเหล่านั้น ให้ความสนใจผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค และอยากให้ทำให้ต่อเนื่องและยั่งยืน
ประเด็นการเลือกกันเองให้เหลือ  3 คน ไม่น่าจะเป็นไรครับ ถ้าผู้แทนสถาบันผู้ผลิตรังสีเทคนิค มาจากสถาบันที่ ก.ช.รับรอง สกอ.รับรอง และมีการรับนักศึกษาเข้าศึกษา และถ้ามีการดำเนินการจัดการศึกษาอย่างต่อเนื่องแล้วก็ยิ่งดีครับ 
ทีนี้ลองพิจารณาการเป็นคณะรังสีเทคนิคหรือภาควิชารังสีเทคนิค ในทางปฏิบัตินั้นอาจทำได้ยาก ถ้าเป็นคณะได้ก็หมดปัญหาไป พอเป็นภาควิชารังสีเทคนิคมันจะไปอยู่ที่หน่วยงานใดล่ะ แต่การเป็นคณะหรือภาควิชารังสีเทคนิค มีข้อดีที่หนักแน่นมากๆคือ การมีหน้าที่ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคโดยตรง ความต่อเนื่องจึงมีจึงเกิด ไม่อาจจะทำๆหยุดๆได้ง่ายๆ
แต่การที่สถาบันการศึกษาหนึ่งๆซึ่งมีความพร้อม ที่ไม่ใช่คณะหรือภาควิชารังสีเทคนิค สนใจจัดทำหลักสูตรเพื่อสอนรังสีเทคนิคนั้น ทำได้ง่ายกว่า เมื่อ ก.ช. รับรองสถาบันฯ สกอ.รับรองหลักสูตร ก็ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคได้ ศักดิ์และสิทธิ์เท่ากันหมด ซึ่งก็ดีอยู่แล้ว แต่การที่สถาบันนั้นๆจะหยุดผลิตทำได้ง่ายมากเลย เพราะสถาบันนั้นๆอาจคิดว่าการผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคไม่ใช่ภารกิจหลัก ตรงนี้แหล่ะครับเป็นข้อด้อย แต่หากมีกระบวนการหรือสิ่งยืนยันที่ทำให้ประจักษ์ได้ว่าจะเกิดความต่อเนื่องยั่งยืนได้ก็น่าจะดีครับ
ประการที่สาม องค์ประกอบกรรมการวิชาชีพที่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง คือ ส่วนที่มาจากการเลือกตั้งจำนวน 8 คน ล็อคไว้ที่ 8 คนเท่านั้น โดยเลือกจากผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคที่สมัครและผู้มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนคือ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค เดิมอาจจะมีได้เกิน 8 คน ขึ้นกับจำนวนสถาบันผู้ผลิต
ตรงนี้แหล่ะครับที่ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคที่มีความสนใจเข้ามาทำงานในฐานะ ก.ช. จะต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อให้ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคทั้งหมดเลือกเข้าไป ผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนสูงสุด 8 อันดับแรก ก็เข้าไปเป็น ก.ช. วาระ 4 ปี เป็นติดต่อกันได้แค่  2 วาระ (เดิม 3 ปี และเป็นกี่วาระก็ได้)

ย้ำอีกครั้งครับ ก.ช. ทุกคนทุกประเภท คือผู้ที่ไปทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับเป็นสำคัญ  (patient focus)

Related Links: