วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

รังสีเทคนิคไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า

(2,758 ครั้ง)
เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นการส่องรังสีเทคนิคไทยในอนาคตยาวๆประมาณสัก 10 ปีข้างหน้า ภายใต้หัวข้อว่า "รังสีเทคนิคไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า" จริงๆแล้วจะต่อด้วยคำว่า "ในมุมมองของข้าพเจ้า" ก็เกรงว่าชื่อเรื่องจะยาวเกินไป แต่ก็ขอให้ชาวเราโปรดเข้าใจว่าเป็นมุมมองของข้าพเจ้าด้วยก็แล้วกันครับ 
เรื่องราวต่างๆต่อไปนี้ รวบรวมจากประสบการณ์ที่ได้คลุกคลีกับรังสีเทคนิคไทยมาเกือบ 40 ปี รวบรวมจากข้อมูลที่ได้มีโอกาสสนทนากับผู้ทรงภูมิความรู้ด้านรังสีเทคนิคหลายท่าน ทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยและผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิคอวุโส ประกอบกับการศึกษาจากผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับรังสีเทคนิคในหลายๆด้าน ที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการในต่างประเทศ จะขอเล่าสู่กันฟังแบบสบายๆ ไม่เป็นเชิงวิชาการมากนักน่าจะดีกว่า

แนวโน้ม 6 ประการ
จากที่ได้รวบรวมเรื่องราวต่างๆทางรังสีเทคนิคตามที่กล่าวข้างต้น พอจะสรุปได้ว่า ในอนาคต 10 ปีข้างหน้านี้ มีแนวโน้มที่น่าสนใจหลายประการ และน่าจะมีผลกระทบดังนี้

1) สังคมผู้สูงอายุ
อันดับแรกเลยก็คือ เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว มีประชากรในวัยพึ่งพิงซึ่งได้แก่เด็กและผู้สูงอายุรวมกันแล้วมีสัดส่วนสูงขึ้น และในปี 2560 เป็นครั้งแรกที่มีจำนวนผู้สูงวัยมากกว่าจำนวนเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมันเกี่ยวข้องอย่างไร?
เกี่ยวข้องในแบบที่ว่า จะมีแนวโน้มมากขึ้นในการค้นคว้าหาองค์ความรู้ด้านสรีรวิทยาในผู้สูงอายุ เช่น การแยกแยะระหว่างความปกติและความผิดปกติ อาจมีการค้นคว้าหาวิธีใหม่ๆเพิ่มขึ้นจากเดิม
ความที่เป็นสังคมผู้สูงอายุน่าจะเป็นตัวบ่งชี้แนวโน้มทางด้านระบาดวิทยาได้ โรคหัวใจขาดเลือดและความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอักเสบ มะเร็งและโรคเบาหวาน น่าจะยังเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดในการเสียชีวิต และการมีภาวะสมองเสื่อมน่าจะเป็นปัญหาสำคัญสำหรับระบบการดูแลสุขภาพต่อไปอีก
ดังนั้น นวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการแบ่งกลุ่มความเสี่ยง การคัดกรองการวินิจฉัยโรค การรักษาด้วยรังสี จึงยังคงเป็นเรื่องท้าทายที่รอคำตอบที่เป็นทางออก

2) ความผูกพันของผู้ป่วย
ความเข้าใจที่ผ่านมาช้านานของนักรังสีเทคนิคประการหนึ่ง คือ การให้บริการด้านรังสีรักษานั้น ผู้ป่วยมีความผูกพัน (Engagement) กับนักรังสีเทคนิคมากกว่าการให้บริการด้านรังสีวินิจฉัยและเวชศาสตร์นิวเคลียร์ แต่ในอนาคตอาจเปลี่ยนไปหรือไม่
การบริการที่เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Patient centered) เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องยั่งยืน ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกดีๆต่อการวินิจฉัยและรักษาด้วยรังสี ทำให้ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยเกิดความผูกพันกับการบริการที่มาจากความเต็มอกเต็มใจ ผูกพันกับผู้ให้บริการทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล หรือนักรังสีเทคนิค เป็นความผูกพันของผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วยที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการบังคับ เกิดขึ้นเอง ซึ่งจะมีส่วนสัมพันธ์โดยตรงจากการเต็มใจในการให้บริการ การพัฒนาการวินิจฉัยและรักษาด้วยรังสีให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
ในอนาคตจะมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ร่วมด้วยมากยิ่งขึ้น การโต้ตอบแบบอัตโนมัติผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์ซึ่งขณะนี้มีการใช้กันอยู่ แต่ต่อไปอาจรวมไปถึงการที่ผู้ป่วยหรือบุคลากรทางการแพทย์เข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์และภาพถ่ายรังสีพร้อมรายงานผลได้ง่ายขึ้น จะมีการสร้างโปรแกรมง่ายๆแบบใหม่ไว้ในโทรศัพท์มือถือที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถรู้ข้อมูลด้านรังสีที่ถูกตรงและแม่นยำ การนัดหมายการตรวจและรักษา การเตรียมตัวก่อนมารับบริการด้านรังสี และการตรวจติดตามผล

3) เทคโนโลยีสารสนเทศ
เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information technology หรือ IT) เป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญมากในชีวิตประจำวันของผู้คนยุคนี้ไปแล้ว ทั้งในแง่บุคคลและในแง่ของสังคมส่วนรวม มีการใช้แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือหรือแท็ปเล็ตอย่างมากมาย
ในอนาคตจะเกิดแอพพลิเคชั่นทางด้านการแพทย์ที่อาศัยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence หรือ AI) เข้ามาช่วย ซึ่งหมายความว่า เทคโนโลยีสารสนเทศจะต้องมีความเข้มแข็งขึ้นมากกว่าเดิม
ทางด้านรังสีทางการแพทย์ อาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้นำทางด้านดิจิตอลทางการแพทย์เลยก็ว่าได้ คาดหมายว่า น่าจะเกิดนวัตกรรมทางด้าน IT และ AI มากขึ้น เนื่องจากภาพรังสีทางการแพทย์เป็นภาพดิจิทัลที่มีลักษณะทั้งเป็นภาพที่สามารถมองเห็นด้วยตาว่าเป็นภาพอะไร (Qualitative imaging) และยังมีข้อมูลดิบเชิงปริมาณของภาพรังสีนั้นๆ (Quantitative imaging) จำนวนมหึมา (Big data) ซึ่งสามารถนำไปวิเคราะห์ค้นหาสิ่งที่เราต้องการเพิ่มเติมได้ต่อไป นำไปสู่การพัฒนา AI ที่ช่วยสนับสนุนในการตัดสินใจทางคลินิกของแพทย์ต่อไป แต่มีหลายคนแอบกังวลว่า AI จะมาทำให้ตกงานหรือไม่ 

4) การสร้างภาพระบบไฮบริด
การถ่ายภาพรังสีทางการแพทย์ การสร้างภาพรังสีทางการแพทย์ การรักษาโรคด้วยรังสี เป็นการดูแลสุขภาพในแบบพิเศษที่มีความท้าทายทางด้านเทคนิคเป็นอย่างมาก ท้าทายนักรังสีเทคนิคอย่างมากด้วย
การขยายตัวของเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เช่น วิธีการขั้นสูงและเครื่องมือแบบไฮบริดที่รวมกระบวนการทางสรีรวิทยาของการสร้างภาพ Positron emission tomography (PET) ร่วมกับการสร้างภาพด้วย Magnetic resonance imaging (MRI) ที่แสดงภาพโครงสร้างอวัยวะในร่างกายของผู้ป่วยอย่างคมชัด หรือร่วมกับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed tomography (CT)) เหล่านี้ทำให้มีโอกาสในการวินิจฉัยโรคต่างๆมากขึ้น
ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีทางด้านการสร้างภาพทางการแพทย์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมานั้น ยังสามารถนำข้อมูลภาพที่เป็นข้อมูลดิจิทัลไปทำอะไรต่อไปได้อีกมากมาย ทำให้เกิดระบบการส่งและจัดเก็บภาพรังสี (PACS) ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาต่อไปในเรื่องพื้นที่และที่จัดเก็บข้อมูลภาพที่มีความปลอดภัยต่อการสูญหายมากขึ้น รวมถึงความสะดวกรวดเร็วในการติดต่อสื่อสารผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ต สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้เกิดการขยายโอกาสบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของนักรังสีเทคนิคกว้างขวางออกไปอีก
นอกจากนี้ยังสามารถนำข้อมูลภาพที่เป็นข้อมูลดิจิทัลจำนวนมหึมาเหล่านั้น ไปพิมพ์เป็นอวัยวะ 3 มิติ (3D printing) ที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคและรักษาโรคได้ดีขึ้นอีก ช่วยในการวางแผนการผ่าตัด ช่วยซ่อมแซมหรือเปลี่ยนอวัยวะที่เสื่อมสภาพ รวมถึงมีประโยชน์ต่อการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์และนักศึกษารังสีเทคนิคด้วย
สิ่งต่างๆทั้งหลายนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าทางรังสีรักษาที่มีการใช้โปรตอนและอนุภาคหนักเพื่อการรักษา ซึ่งยังมีเรื่องราวอีกมากมาย นักรังสีเทคนิคจะทำตัวอย่างไร?

5) ความปลอดภัยของผู้ป่วย
เมื่อมองผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ก็จำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการป้องกันอันตรายจากรังสี การถ่ายภาพรังสีที่สามารถลดปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับ โดยเฉพาะการตรวจด้วยซีทีนั้น เป็นประเด็นที่พูดถึงกันอย่างมากในขณะนี้ และจะยังคงพูดถึงรวมถึงการศึกษาวิจัยกันต่อไปในอนาคต
การศึกษาวิจัยทางพรีคลินิกโดยใช้หุ่นจำลองและทางคลินิกจะยังคงมุ่งไปสู่การป้องกันอันตรายจากรังสีมากขึ้น การรายงานปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับในลักษณะของการตรวจติดตามจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และน่าจะมีการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนขึ้น
นอกจากนี้ จะมีการขยายตัวของบทบาทของภาพรังสีนำร่องที่ทำให้เกิดการบุกรุกน้อยลงไปอย่างมากโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ Interventional Oncology ซึ่งจะสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ป่วยมากขึ้น
ไม่เฉพาะอันตรายที่เกิดจากรังสีเท่านั้น ในอนาคตยังจะมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการลดปริมาณสารเปรียบต่าง (Contrast media) ที่ใช้ในการตรวจด้วย ทั้งสารเปรียบต่างที่มีไอโอดีนและแกโดลิเนียมเป็นองค์ประกอบ

6) ความเชี่ยวชาญย่อยกับความเป็นเอกภาพรังสีเทคนิค
ความเป็นเอกภาพของรังสีเทคนิค มีความชัดเจนมากเมื่อคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคประกาศให้นักรังสีเทคนิคต้องมีมาตรฐานวิชาชีพและสมรรถนะตามที่กำหนดตั้งแต่ปี 2551 ทำให้สถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคจำเป็นต้องสร้างหลักสูตรรังสีเทคนิคให้สอดคล้องตามมาตรฐานและสมรรถนะดังกล่าวนั้น นั่นคือความชัดเจนของรังสีเทคนิคไทย
เนื่องจากองค์ความรู้และเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปอย่างมากมาย ดังนั้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา จึงเกิดความคิดที่ยื้อยุดกันระหว่างความเชี่ยวชาญย่อย (Subspecialty) ทางรังสีเทคนิคกับความเป็นเอกภาพของรังสีเทคนิคขึ้น และค่อยๆเกิดมากขึ้นตามลำดับ
คณาจารย์จากสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคและกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค ได้มีการพูดถึงความเชี่ยวชาญย่อยทางรังสีเทคนิคมานานแล้วในหลายโอกาส เช่นมีการมองกันว่า รังสีเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญย่อยอาจเป็นทางด้าน ซีที อัลตราซาวนด์ หรือเอ็มอาร์ไอ เป็นต้น โดยพยายามนึกถึงอัตลักษณ์ของความเชี่ยวชาญย่อยเหล่านั้นให้มีความชัดเจนและเหมาะสม ซึ่งรวมไปถึงสมรรถนะของนักรังสีเทคนิคให้ถึงขั้นสามารถเขียนรายงานในแบบของนักรังสีเทคนิคได้ (Radiographer report) ซึ่งในต่างประเทศแถบยุโรปเกิดขึ้นแล้ว แต่จนแล้วจนรอดเรื่องความเชี่ยวชาญย่อยทางรังสีเทคนิคก็ยังไม่เกิดเป็นรูปธรรม
ในอนาคตคงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะเกิดนักรังสีเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญย่อยในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรี ซึ่งอาจเป็นปริญญาโทขึ้นไป เพราะเรามองไม่เห็นหนทางที่จะจัดการศึกษาให้นักศึกษารังสีเทคนิคได้เรียนรู้จนเกิดทักษะในทุกเรื่องของรังสีเทคนิคได้โดยใช้เวลาศึกษาแค่ 4 ปีในระดับปริญญาตรี
อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นที่ต้องมีความเชี่ยวชาญย่อยทางรังสีเทคนิคขึ้นแล้วจริงๆ คำถามคือ จะมีนักรังสีเทคนิคคนใดสนใจที่จะศึกษาต่อเข้าสู่ความเป็นนักรังสีเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญย่อยนั้นหรือไม่ ถ้าการได้เป็นนั้นเป็นการเพิ่มภาระงานในระดับสูงขึ้นเพียงอย่างเดียว
ข้อที่ต้องพิจารณากันเป็นพิเศษเกี่ยวกับเอกภาพของรังสีเทคนิคคือ การจะดำรงรักษาเอกภาพของรังสีเทคนิคไว้ในอนาคตอีกสัก 10 ปีอาจไม่สามารถทำได้ด้วยบริบททางการศึกษาเดิมๆ หรือแบบที่เรียกว่าอนุรักษ์นิยม ทั้งนี้เนื่องจากมีอิทธิพลจากความจำเป็นในปัจจุบันและอนาคตที่เปลี่ยนไปจากเดิมเข้ามากระทบโดยตรงนั่นเอง

นักรังสีเทคนิคในอีก 10 ปีข้างหน้า
สังคมผู้สูงอายุ ความผูกพันของผู้ป่วย เทคโนโลยีสารสนเทศ การสร้างภาพระบบไฮบริด ความปลอดภัยของผู้ป่วย และความเชี่ยวชาญย่อยทางรังสีเทคนิค ตามที่เล่าให้ฟังข้างต้นเป็นสิ่งที่น่าติดตามจับตามอง เพราะส่งผลต่อบทบาทหน้าที่ของนักรังสีเทคนิคว่าจะเป็นอย่างไรในอนาคต ส่งผลต่อหลักสูตรรังสีเทคนิคทั้งเนื้อหาและการจัดการ
หากจะลองจินตนาการถึงภาพลักษณ์ของนักรังสีในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้านับจากนี้ ว่าเป็นอย่างไร ภาพลักษณ์นั้นจะถูกชักนำด้วยแนวโน้มในอนาคตที่ว่ามาแล้ว โดยถ้าจะสรุปให้ตรงประเด็นกับนักรังสีเทคนิค น่าจะได้เป็นปัจจัยชักนำต่างๆ 4 ประการ คือ
- การเข้าถึงความก้าวหน้าในอาชีพได้ดี
- ไม่มีการพัฒนาอาชีพ
- ภาวะขาดแคลนนักรังสีเทคนิค
- ภาวะมีนักรังสีเทคนิคเพียงพอ
หากเรานำปัจจัยชักนำทั้ง 4 ประการนั้นมาเป็นเครื่องพิจารณาถึงภาพลักษณ์ของนักรังสีเทคนิค จะสามารถจินตนาการภาพลักษณ์ของนักรังสีเทคนิคที่มีความชัดเจน ปรากฏออกมาได้ 4 แบบ ได้แก่

แบบ A : นักรังสีเทคนิคผู้มีความสุข
เป็นภาพของนักรังสีเทคนิคที่มีบุคลิกภาพดี อาจรวมความหล่อหรือสวยด้วย ทำงานอย่างมีความสุข เนื่องจากสามารถเข้าถึงความก้าวหน้าในวิชาชีพได้อย่างดี พูดง่ายๆคือ ทำงานแล้วมีความก้าวหน้า และได้รับค่าตอบแทนพร้อมสวัสดิการที่น่าพอใจ ได้รับการยอมรับ เรียกว่าไปไกลจนถึงจุด Self-actualization กันเลยทีเดียว 
แบบ B : นักรังสีเทคนิคผู้มีความเชี่ยวชาญ
เป็นภาพของนักรังสีเทคนิคที่มีความสมาร์ตในวิชาชีพและมีความเชี่ยวชาญสูง หรือมีความเชี่ยวชาญย่อยทางรังสีเทคนิคอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง แน่นอนว่าก็ต้องรวมถึงการมีความสุขด้วย
แบบ C : นักรังสีเทคนิคกำลังจะหมดสภาพ
เป็นภาพของนักรังสีเทคนิคที่ดูแย่สุดๆ คือ กำลังจะหมดสภาพหรือสูญสลายแล้ว มีโอกาสน้อยในการเข้าถึงความก้าวหน้าในวิชาชีพ จึงไม่มีการพัฒนาในอาชีพรังสีเทคนิคเลย (Dead wood)
แบบ D : นักรังสีเทคนิคทำงานไปวันๆ
เป็นภาพของนักรังสีเทคนิคที่ทำงานรูทีนหรือทำงานประจำไปวันๆ  มีโอกาสน้อยในการเข้าถึงความก้าวหน้าในวิชาชีพน้อย แต่ก็ยังพอจะมีการพัฒนาในวิชาอาชีพรังสีเทคนิคอยู่บ้าง  

ถ้าในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า เราจินตนาการเห็นภาพนักรังสีเทคนิค 4 แบบนี้ ชาวเราจะเลือกเป็นแบบไหน และจะเป็นแบบนั้นได้อย่างไร คำตอบของชาวเราส่วนใหญ่หรือทั้งหมดก็คงคล้ายๆกันหรือไม่ว่าอยากเป็นแบบ A หรือไม่ก็แบบ B มากกว่าอยากเป็นแบบ C หรือแบบ D จริงหรือไม่ ส่วนวิธีจะเป็นแบบนั้นได้ต้องช่วยกันหาหนทางร่วมกันให้เจอครับ
การเป็นแบบ A คือมีความสุข เป็นกลุ่มนักรังสีเทคนิคที่น่าจะมีได้เป็นได้ในจำนวนที่มากหน่อย แต่ถ้าเป็นแบบ B คือมีประสบการณ์เชี่ยวชาญสูง ก็มีได้เป็นได้แต่ไม่น่าจะมีจำนวนมากเท่ากับแบบ A
ส่วนการเป็นแบบ C คือแย่สุดเลยนั้น ไม่อยากให้เกิดขึ้นเลยเราคงต้องช่วยกันทำให้มีจำนวนน้อยที่สุด ส่วนการเป็นแบบ D ดูดีกว่าแบบ C จึงน่าจะหาหนทางดึงแบบ C ให้เป็นแบบ D แล้วถ้าเป็นไปได้ก็ดันขึ้นไปสู่แบบ A ให้ได้

ชาวเราเลือกได้ว่า อนาคตจะเป็นแบบไหน แล้วช่วยกันมองหาหนทางที่จะไปสู่สิ่งที่อยากเป็น

ถ้าเราไม่รู้ว่าจะเป็นแบบไหนในอนาคต สิ่งต่างๆจะชักนำเราไปเป็นแบบนั้น

หมายความว่า หากเราไม่รู้จุดหมายปลายทางของเราว่าจะไปไหน จะเป็นแบบไหน แล้วละก็ สิ่งต่างๆที่มีอิทธิพลต่อเรา จะชักนำเราไปในทิศทางที่สิ่งต่างๆนั้นเป็นผู้กำหนด ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม

Related Links:
1)รังสีเทคนิค 4.0

วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

รากเหง้ารังสีเทคนิค

(4,065รั้ง)
     วิชาชีพรังสีเทคนิคในประเทศไทย เกิดมานานมากกว่า 50 ปี โดยที่โรงเรียนรังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันแห่งแรกที่ได้ผลิตบัณฑิตสาขารังสีเทคนิครุ่นแรกของประเทศไทย จำนวน 11 คน เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา 2510
คุณหมอสุพจน์ อ่างแก้ว ซึ่งท่านเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยมหิดลท่านแรก เป็นผู้มีคุณูปการอย่างยิ่งยวดต่อวิชาชีพรังสีเทคนิค ท่านเป็นรังสีแพทย์ และท่านได้กล่าวประโยคหนึ่งที่มีความหมายยิ่งต่อชาวรังสีเทคนิคทั้งหลายว่า

รังสีแพทย์จะก้าวหน้าไปไม่ได้ ถ้าขาดนักรังสีเทคนิคที่ดีและสามารถ

นับจากนั้น วิชาชีพรังสีเทคนิคก็เติบโตแผ่กิ่งก้านสาขามากขึ้นเรื่อยๆ สู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร นอกจากนี้ สถาบันการศึกษาในไทยยังมีการผลิตรังสีเทคนิคหลักสูตรต่ำกว่าปริญญาตรีอีกจำนวนมากด้วยในตอนนั้น
บัณฑิตรังสีเทคนิครุ่น 1 ของไทย
ในเวลาต่อมา วิชาชีพรังสีเทคนิคมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ชาวเราที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยและนักรังสีเทคนิคอวุโสจำนวนหนึ่งในตอนนั้น ได้ช่วยกันผลักดันให้สังคมเห็นความสำคัญว่า เนื่องจากนักรังสีเทคนิคนั้นเป็นผู้ใช้รังสีกับมนุษย์ จึงจำเป็นต้องมีใบประกอบโรคศิลปะได้แล้ว เพื่อเป็นหลักประกันว่า ประชาชนจะต้องได้รับความพึงพอใจจากการบริการทางรังสีที่ปลอดภัยและมีคุณภาพได้มาตรฐานสากล ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนยิ่งดีขึ้น ชาวเราในตอนนั้นใช้เวลาผลักดันกันนานร่วม 15 ปีครับ ผมก็ได้มีโอกาสร่วมอยู่ในการผลักดันนั้น จนที่สุดแล้ว ในปี 2545 จึงได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขารังสีเทคนิคเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะพ.ศ. 2542
ปลายปี 2547 คณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค ได้จัดให้ผู้สำเร็จการศึกษารังสีเทคนิคระดับปริญญาตรี ได้สอบเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคขึ้นเป็นครั้งแรกของไทย ที่ห้องประชุมใหญ่โรงพยาบาลราชวิถี  จำนวนผู้เข้าสอบตอนนั้นกว่าพันคน ต้องเรียกว่าล็อตใหญ่เลยทีเดียว ปัจจุบัน มีนักรังสีเทคนิคขึ้นทะเบียนร่วม 4,500 คนแล้ว
ตอนนี้พรฎ.กำหนดให้สาขารังสีเทคนิคเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะฯ ปี 2545 ได้ยกเลิกแล้ว แต่เนื้อหาทั้งหมดของ พรฎ.นี้ถูกยกไปไว้ใน พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2556 และมีการปรับปรุงในเรื่ององค์ประกอบของคณะกรรรมการวิชาชีพอีกเล็กน้อย
อยากชวนชาวเรามาลองนั่งวิเคราะห์กฎหมายที่มีอยู่ โดยเฉพาะกฏหมายเกี่ยวกับการประกอบโรคศิลปะ กล่าวคือ
ตาม พรบ. การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 เมื่อดูที่มาตรา 30 จะกล่าวไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประกอบโรคศิลปะ หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิทำการประกอบโรคศิลปะโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต เว้นแต่ในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ 
     อันนี้ก็เข้าใจได้ว่า ใครที่ไม่มี License รังสีเทคนิคจะมาทำงานแบบที่นักรังสีเทคนิคทำไม่ได้ แต่มาตรานี้ก็มีข้อยกเว้นไว้ ประเด็นสำคัญคือการยกเว้นนี้โยงไปหลายข้อ มาดูข้อนี้ครับ มาตรา 30(5)
มาตรา 30(5) เขียนไว้ว่า บุคคลซึ่งกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หรือสภากาชาดไทย มอบหมายให้ประกอบโรคศิลปะในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะหรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทั้งนี้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
ดังนั้น กฎหมายก็ไม่ได้ปิดประตูตายว่าห้ามไม่ให้ใครที่ไม่มี License ในวิชาชีพนั้น ไปประกอบวิชาชีพนั้น คือก็ทำได้แต่ต้องเป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด

     ถามว่า ที่ผ่านมา รัฐมนตรีได้มีการออกระเบียบที่เกี่ยวข้องตรงๆกับมาตรา 30(5) บ้างไหม
คำตอบคือ มีครับ
ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขหลายท่าน ได้ออกระเบียบกระทรวงสาธรณสุขที่เกี่ยวข้องกับตามมาตรา 30(5) สำหรับวิชาชีพที่เป็นสภาวิชาชีพ เช่น แพทย์  ทันตแพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด เป็นต้น 
เป็นระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยบุคคลซึ่งกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นหรือสภากาชาดไทย มอบหมายให้ประกอบวิชาชีพนั้นๆ ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพนั้นๆ ซึ่งในระเบียบดังกล่าว ส่วนใหญ่
จะพูดถึงการให้บุคคลที่ได้รับมอบหมายประกอบวิชาชีพที่กล่าวมาข้างต้นนั้น สามารถกระทำได้บางส่วนภายใต้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่สภาวิชาชีพนั้นๆกำหนด 
จะพูดถึงการให้บุคคลที่ผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพอื่นๆนั้น และคณะกรรมการสภาวิชาชีพนั้นๆรับรอง สามารถทำการประกอบวิชาชีพนั้นๆได้บางส่วน ตามขอบเขตที่สภานั้นๆกำหนดไว้เท่านั้น
     นอกจากมาตรา 30(5) แล้ว มาตรา 30(6) ก็น่าสนใจ โดยกล่าวว่า "บุคคลซึ่งปฏิบัติงานในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล กระทำการประกอบโรคศิลปะในความควบคุมของผู้ประกอบโรคศิลปะ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด"
     พูดง่ายๆคือ การทำงานในโรงพยาบาลเอกชน มาตรา 30(6) ก็เปิดช่องไว้ให้คนที่ไม่มี License ในวิชาชีพนั้นๆ ประกอบวิชาชีพนั้นๆได้ โดยสามารถทำได้แค่บางอย่างตามที่รัฐมนตรีจะกำหนด ตัวอย่างวิชาชีพที่มีระเบียบที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 30 (6) เช่น พยาบาล กายภาพบำบัด เป็นต้น

ที่ผมเกริ่นมายืดยาวแบบนี้ก็เพื่อให้ชาวเรา และผู้สนใจทั่วไปเห็นว่า

วิชาชีพรังสีเทคนิคของไทยเรานั้นมีรากเหง้าครับ มีที่มาที่ไป พูดแบบภาษาบ้านๆคือ "เป็นลูกมีพ่อมีแม่ครับ" ไม่ได้เกิดจากกระบอกไม่ไผ่
รังสีเทคนิคเป็นวิชาชีพที่มีกฎหมายของไทยรับรอง ใครก็ตามที่จะประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิคได้จะต้องมี License สาขารังสีเทคนิค จริงๆแล้วไม่ควรมีการเลือกปฏิบัติ หมายความว่า การที่หน่วยงานหนึ่งสามารถใช้ใครก็ได้ที่ไม่จบปริญญาตรีรังสีเทคนิคและไม่มี License ทำงานรังสีเทคนิคได้ ขณะที่อีกหน่วยงานหนึ่งทำไม่ได้ และมีตัวอย่างถูกจับมีโทษทั้งจำทั้งปรับกันแล้ว แบบนี้เลือกปฏิบัติหรือไม่ 
วิชาชีพรังสีเทคนิคเป็นวิชาชีพที่ชาวเราภาคภูมิใจใช่ไหมครับที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทย เป็นวิชาชีพที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีคุณค่าในตัว แม้จะไม่ค่อยมีใครรู้จักชาวเรานัก ผมได้ยินมานานมากแล้วว่า "นักรังสีเทคนิคทำงานปิดทองหลังพระ" จริงไหม

ประเด็นเรื่องที่ผู้คนไม่ค่อยรู้จักรังสีเทคนิคนั้น ในระยะแรกๆจนถึงปัจจุบัน ประชาชนทั่วไปอาจไม่ค่อยรู้จักหรือไม่รู้จักนักรังสีเทคนิค 
อย่าว่าแต่ประชาชนทั่วไปเลย มีเหตุการณ์หลายครั้งหลายคราที่พบว่า แม้แต่ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ ฯลฯ หรือผู้ที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ หลายคนก็ยังไม่รู้จักนักรังสีเทคนิคดีพอ โดยไม่เข้าใจว่า

นักรังสีเทคนิคทำอะไร รับผิดชอบแค่ไหน
จำเป็นต้องมีนักรังสีเทคนิคด้วยหรือ
นักรังสีเทคนิคเป็นพวกที่มี License ด้วยหรือ
เป็นต้น

ซึ่งความไม่เข้าใจนั้น มันอาจทำให้เขาเหล่านั้นเมื่อจะพูดถึงรังสีเทคนิคแล้ว จึงอาจพูดจาคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้ ซึ่งผมคิดว่า ไม่ใช่เป็นความเสียหายหรือเป็นความผิดอะไรของเขาเหล่านั้นหรอก อาจเป็นเพราะ ชาวเรานักรังสีเทคนิคไม่ค่อยจะได้บอกกล่าว หรือไม่เคยไปบอก ไปเล่าให้เขารู้ หรือไม่มีโอกาสบอกพวกเขาเหล่านั้นให้เข้าใจในความมีและความเป็นนักรังสีเทคนิคก็เป็นได้ 

แต่สำหรับบางท่านที่มีหน้าที่รับผิดชอบในฐานะผู้บริหารองค์กร (เช่น โรงพยาบาล) นั้น เรียนด้วยความเคารพนะครับว่า น่าจะต้องมีความแตกต่างจากคนทั่วไป กล่าวคือ ควรอย่างยิ่งที่ต้องรู้จักทีมงานที่อยู่ใต้บังคับบัญชาทุกวิชาชีพเป็นอย่างดี ควรอย่างยิ่งที่ต้องรู้จักนักรังสีเทคนิคเป็นอย่างดี และเข้าใจถึงความจำเป็นในการที่ต้องมีนักรังสีเทคนิค ควรให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่เป็นผู้ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดการบั่นทอนกำลังใจผู้ใต้บังคับบัญชาเสียเอง เพราะมีสิ่งที่เรามุ่งหวังสูงสุดอย่างแท้จริงเหมือนกัน คือการบริการผู้ป่วยให้ดี หรือ Patient Focus นั่นเอง จริงไหมครับ 

Related Links:
1.ประวัติการสร้างวิชาชีพรังสีเทคนิคครั้งแรกในประเทศไทย
      2.ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยบุคคลซึ่งกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นหรือสภากาชาดไทย มอบหมายให้ประกอบวิชาชีพต่างๆ ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพนั้นๆ

วันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

World Radiography Day 2017 : เสวนา "RT's education in Thailand"


     (1,450 ครั้ง)
     การเสวนาเปิดมุมมองก้าวต่อไปของรังสีเทคนิค "RT's education in Thailand" ณ ห้องประชุม 6-200 ชั้น 2 อาคารพิฆเณศ (อาคาร 6) และ ชั้น 10 อาคาร 10 มหาวิทยาลัยรังสิต วันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 เนื่องในโอกาสวันรังสีเทคนิคโลก โดย

     รศ. มานัส มงคลสุข 
     (คณบดีคณะรังสีเทคนิค ม.รังสิต, กรรมการวิชาชีพรังสีเทคนิค, อนุกรรมการ ก.ช. ด้านขึ้นทะเบียนและจัดสอบ, ที่ปรึกษาสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย TSRT)
     ผศ.ดร. นภาพงษ์ พงษ์นภางค์ 
     (หน.ภาควิชารังสีเทคนิค ม.มหิดล, ประธานกรรมการวิชาชีพรังสีเทคนิค, กรรมการสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย TSRT, รองประธานสมาคมรังสีเทคนิคโลก ISRRT)
     ผศ.ดร. นันทวัฒน์ อู่ดี 
     (คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ ม.นเรศวร, กรรมการวิชาชีพรังสีเทคนิค, ประธานอนุ ก.ช. ด้านพัฒนามาตรฐานวิชาการ)   
     ผศ.ดร. สุวิทย์ แซ่โค้ว 
     (อาจารย์ภาควิชารังสีเทคนิค ม.เชียงใหม่)

World Radiography Day 2017 : พิธีเปิดงาน


(1,125 ครั้ง)
นายแพทย์ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต ประธานในพิธีเปิดงาน World Radiography Day 2017

คณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย และ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการจำกัด(มหาชน) จัดงาน World Radiography day ครั้งที่ 2 ในประเทศไทย "RT's Next Step": We're looking forward to the future of RT

บันทึกเทปวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องประชุม 6-200 ชั้น 2 อาคารพิฆเณศ (อาคาร 6) และ ชั้น 10 อาคาร 10 มหาวิทยาลัยรังสิต