วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ในหลวงในความทรงจำของฉัน


ผมไม่เชี่ยวชาญเรื่องราชาศัพท์ ดังนั้น ข้อเขียนนี้จึงเป็นข้อเขียนของสามัญชนคนธรรมดา ใช้ถ้อยคำธรรมดาสามัญที่กลั่นออกมาจากใจ ด้วยความจงรักภักดี เพื่อถวายความอาลัยอย่างหาที่สุดมิได้ และคำว่า ในหลวงที่ใช้ต่อไปนี้ หมายถึง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชหรือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ

ตอนผมเป็นเด็กเมื่อเกือบ 60  ปีที่แล้ว ผมเกิด วิ่งเล่น และเรียนหนังสือ ที่ตำบลช่องแค (อ.ตาคลี นครสวรรค์) ในครอบครัวช่างตีเหล็ก อยู่ในชนบทกันดาร ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา ถนนผ่านตำบลเละเป็นโคลนเป็นหลุมเป็นบ่อเมื่อฝนตก ไม่มีโทรศัพท์ มีหมอคนเดียว ฯลฯ ชาวบ้านรับรู้ข่าวสารต่างๆผ่านทางวิทยุและหนังสือพิมพ์เป็นหลัก ได้เห็นผู้ใหญ่อ่านหนังสือพิมพ์ทุกเช้า รวมกลุ่มเป็นสภากาแฟ ระหว่างทำงานก็เปิดวิทยุทรานซิสเตอร์ฟังเพลงฟังข่าวสารเป็นเพื่อน ซึ่งวิทยุนั้นมักใช้ถ่านไฟฉายตรากบ มีเพลงโฆษณาถ่านไฟฉายตรากบ ได้ยินทางวิทยุจนผมร้องได้ การรับรู้ข่าวสารต่างๆในเมืองหลวง จากรัฐบาล ข่าวสำนักพระราชวัง ก็ผ่านช่องทางนี้เป็นหลัก ได้ยินแต่เสียงเท่านั้น นอกนั้นจินตนาการล้วนๆ มันช่างรู้สึกห่างไกลสุดเอื้อมเหลือเกินระหว่างช่องแคกับเมืองหลวง

ความเป็นอยู่น่าจะยากลำบากมากใช่ไหมครับ แต่ผมตอนนั้นไม่ได้คิดเลยว่ามันยากลำบาก อบอุ่น สนุกสนานไปตามประสาเด็ก ผมวิ่งเล่นเข้าบ้านโน้น ออกบ้านนี้ เรียกพ่อและแม่กันทุกบ้าน ได้เวลากินข้าวที่บ้านไหน ก็ร่วมวงกินได้เลย ไม่รู้สึกแปลกแยก เวลาที่แม่ผมทำแกงผมไม่เคยสงสัยเลยว่าทำไมแม่จึงทำแกงหม้อใหญ่มาก ทั้งที่ในบ้านมีแค่ 4 คน แม่ตักแกงใส่ชามแล้วให้ผมไปให้ที่บ้านแม่เหลือบ บ้านแม่ปอง บ้านแม่มา บ้านแม่......ฯลฯ แล้วแต่ละบ้านก็จะให้แกงจืดบ้าง ผัดผักบ้าง น้ำพริกผักสด-ต้ม กลับมาที่บ้านผม ทำให้มีกับข้าวกินหลายอย่าง ทั้งที่แม่ทำแกงเพียงอย่างเดียว เรากินกันเอร็ดอร่อยมากทุกวัน เป็นสังคมแบ่งปันจริงๆ ทั้งตำบลเสมือนเป็นญาติกัน และสิ่งที่ผมเห็นจนชินตาคือ ทุกบ้านจะมีรูปในหลวง  พระราชินี พระราชชนนี ฯลฯ ประดับบ้าน และผู้ใหญ่ก็จะบอกว่า พระองค์ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ของเรา ท่านเสด็จไปทุกที่เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้เรา ผมยกมือไหว้มองรูปภาพนั้นบ่อยมาก พยายามจดจำ และคิดฝันว่าอยากได้เห็นตัวจริงของพระองค์ท่านสักครั้ง ด้วยสงสัยว่าตัวจริงจะเป็นอย่างไรหนอ ก็คิดไปเรื่อยแบบเด็กๆ

วันเวลาผ่านไป วันแล้ววันเล่า ชาวบ้านต่างก็ทำมาหากิน พ่อกับแม่ของผมก็ตีเหล็กทุกวัน เด็กๆส่วนใหญ่ไปโรงเรียน วันหนึ่งได้ข่าวว่า พระราชชนนีจะเสด็จมาที่อำเภอตากฟ้า ซึ่งไกลออกไปจากช่องแคร่วม 30 กิโลเมตร สมัยนี้ไม่ไกลเลย ขับรถไม่กี่นาทีก็ถึง แต่สมัยนั้น การเดินทาง 30 กิโลเมตรใช้เวลามากกว่าชั่วโมง ถนนหนทางเชื่อมต่อระหว่างตำบล ระหว่างอำเภอ เป็นถนนลูกรังไม่เรียบ ทำให้การเดินทางทุลักทุเลเต็มทน แต่ดูเหมือนไม่เป็นอุปสรรคสำหรับชาวบ้านช่องแคที่จะได้เดินทางเพื่อเข้าเฝ้าพระราชชนนี เพราะการที่ท่านเสด็จมานั้น เป็นสิ่งที่มีค่า มีความหมายต่อชาวบ้านที่ห่างไกลมากๆ ผมเห็นผู้ใหญ่กระตือรือร้นที่จะได้เฝ้าพระองค์ท่าน ผมก็ได้ติดตามพ่อและแม่ไปด้วย และได้เห็นรอยยิ้มจริงๆที่เปี่ยมด้วยเมตตาของท่านใกล้ๆ เด็กๆอย่างผมรู้สึกได้ถึงความอบอุ่นอย่างที่สุด ช่างอิ่มเอมหัวใจยิ่งนัก

วันที่ตื้นเต้นอีกคราวหนึ่งคือพ่อผมบอกว่า เร็วๆๆๆ ในหลวงและราชินีจะเสด็จคราวนี้มาที่ช่องแคเลย สีหน้าท่าทางพ่อดู ตื่นเต้น ดีใจและมีความสุขมาก ยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้น ผมก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรเหมือนเดิมเพราะยังไร้เดียงสา คิดในใจคงเหมือนที่ไปตากฟ้าแน่เลย แอบดีใจตามประสาเด็ก เพราะจะได้เห็นท่านจริงๆใกล้ๆชัดๆซักที พ่อพาผมไปรอรับเสด็จที่สถานีรถไฟช่องแค ผู้คนเยอะมากน่าจะมาทั้งตำบล ต่างยิ้มแย้มแจ่มใส ใจจดใจจ่อ รออยู่นานมากแต่เหมือนไม่นาน เมื่อถึงเวลา รถไฟพระที่นั่งเคลื่อนมาถึงลดความเร็วลง เคลื่อนไปช้าๆ เสียง ทรงพระเจริญดังกึกก้องสถานีรถไฟช่องแค ทำให้เด็กอย่างผมขนลุก ผมได้เห็นพระองค์ท่านทั้ง 2 พระองค์จริงๆ โบกพระหัตถ์และยิ้มผ่านทางหน้าต่างรถไฟพระที่นั่งในระยะไกลๆแค่แว๊บเดียว เป็นรอยยิ้มที่เปี่ยมด้วยเมตตาบารมี แล้วก็แล่นผ่านสถานีช่องแคไปเพื่อเสด็จขึ้นภาคเหนือโดยไม่จอด แค่แว๊บเดียวจริงๆ เป็นช่วงเวลาที่แม้จะสั้น แต่ก็ทำให้ผมดีใจที่สุด ขนลุก ชาวบ้านในที่นั้นก็เช่นกัน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นบุญของพวกเราที่ได้เฝ้าพระองค์

เมื่อผมเติบโตขึ้น นึกย้อนกลับไป จึงรู้และเข้าใจว่า แม้เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆที่ได้เห็นพระองค์ท่าน ชาวบ้านก็อดทนรอคอยที่จะได้เห็นในหลวงของเขา ด้วยความรักที่มีต่อในหลวงอย่างลึกซึ้ง ความรักความผูกพันที่ก่อเกิดขึ้นเอง เพราะพระองค์ท่านเป็นเหมือนน้ำทิพย์ที่โปรยปรายให้ชาวบ้านในถิ่นธุระกันดารและทั่วไปได้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข

ปี 2516 ผมเป็นน้องใหม่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่วิเศษสุดๆสำหรับผมคือ วันที่ในหลวงเสด็จมาจุฬาฯเพื่อทรงดนตรี เป็นอะไรที่ตื้นตันมากครับ ในหลวงทรงดนตรีให้เราฟังที่หอประชุมจุฬาฯ มันเป็นไปได้อย่างไรที่พระมหากษัตริย์จะทรงดนตรีให้เด็กๆอย่างพวกผมฟัง ในหลวงทรงพูดกับนักศึกษาอย่างเป็นกันเอง ให้นักศึกษาขอเพลงได้ด้วย นั่นเป็นที่สุดแห่งความปราบปลื้มในชีวิตของเด็กบ้านนอกอย่างผมแล้วครับ เหมือนฝันไปจริงๆ!!!
แล้วต่อมาเมื่อผมเรียนจบทั้งปริญญาตรีและโทที่จุฬาฯ ผมได้มีโอกาสรับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ของในหลวงทั้งสองครั้ง เป็นบุญวาสนาของผมยิ่งนักที่ได้มีโอกาสเช่นนี้ พระจริยาวัตรอันงดงามมากมายและพระบรมราโชวาทของพระองค์เป็นแรงบันดาลใจ เป็นพลังใจให้ผมมุ่งมั่นทำงานในฐานะเป็นข้าราชการ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล สอนรังสีเทคนิคตั้งแต่ปี 2523 รวม 35 ปีจนเกษียณ มุ่งมั่นทำงานตามหน้าที่เพื่อประโยชน์ของผู้อื่นและประโยชน์ตนอย่างถูกต้องโดยไม่บ่น ไม่ท้อแท้สิ้นหวัง แม้จะเหนื่อยแค่ไหนก็ตาม พอรู้สึกเหนื่อยคราใดก็คิดเสมอว่า ในหลวงยังไม่บ่น ไม่ท้อเลย แค่นี้ก็กลับมีพลังเดินหน้าต่อได้ 

เรื่องการปิดทองหลังพระ เป็นหนึ่งในความประทับใจของผม ในการบรรยายให้นักศึกษารังสีเทคนิคฟัง ผมมักเริ่มต้นด้วยการให้นักศึกษาได้พิจารณาพระบรมราโชวาทของในหลวง ดังนี้
     "การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด
     ว่าที่จริงแล้ว คนโดยมากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก
     เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า
     ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้…."

โรงพยาบาลศิริราช
ช่วงเวลาที่ในหลวงเสด็จมาโรงพยาบาลศิริราชเพื่อประทับรักษาพระอาการประชวร ที่ชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ เป็นอาคารที่อยู่ติดกับคณะเทคนิคการแพทย์ บังเอิญชั้น 10 เป็นที่ตั้งของภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยผมเป็นหัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิคในช่วงเวลานั้น ทุกเช้าในวันที่ต้องเข้าทำงานที่ชั้น 10 จะตั้งจิตอธิษฐานขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายช่วยดลบันดาลให้พระองค์หายจากพระอาการประชวรโดยเร็ววัน ครั้นเมื่อผมเกษียณแล้วในปี 2558 ก็ได้ไปจัดตั้งคณะรังสีเทคนิคที่มหาวิทยาลัยรังสิต จึงไม่ค่อยจะมีโอกาสมาที่โรงพยาบาลศิริราชบ่อยเหมือนเมื่อก่อน

และแล้ววันที่ 13 ตุลาคม 2559 ขณะที่ผมขับรถจากมหาวิทยาลัยรังสิตเพื่อกลับบ้านตามปกติเหมือนทุกวัน ผ่านมาถึงถนนราชพฤกษ์ใกล้ถึงถนนเพชรเกษมแล้วประมาณหนึ่งทุ่ม สังหรณ์ใจตั้งแต่บ่ายแล้วว่าวันนี้คงมีข่าวไม่สู้ดีนักเกี่ยวกับในหลวง ฟังวิทยุในรถ โฆษกประกาศว่า วันนี้พฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 เวลา 15 นาฬิกา 52 นาที ในหลวง เสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 ทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี หัวใจแทบสลายครับ มันจุก แน่นอกทันที น้ำตาไหลพราก จอดรถก่อนไม่กล้าขับต่อไป ตั้งสติแล้วค่อยขับต่อไปจนถึงบ้าน เศร้าใจอย่างที่สุดครับ ทั้งที่ก็รู้อยู่ว่าเป็นธรรมดาที่อย่างไรเสียวันนี้ก็ต้องมาถึงสักวันหนึ่งแน่ๆ แต่ก็หักห้ามใจได้ยากที่จะกลั้นน้ำตาไว้
เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม 2559 ผมขับรถไปม.รังสิตเพื่อร่วมถวายความอาลัยอย่างที่สุดร่วมกับท่านอธิการ ผู้บริหาร บุคลากร และนักศึกษา ผ่านสี่แยกศิริราชรถไม่ติดเลย ชลอความเร็วรถ เห็นผู้คนนั่งรอส่งเสด็จที่ฟุตบาทเนืองแน่น น้ำตาผมเริ่มเอ่อไหลออกมาอีก กลั้นไม่อยู่ครับ เมื่อมองเข้าไปในโรงพยาบาลศิริราช ช่างเศร้าใจเหลือเกิน.... จะไม่ได้เห็นในหลวงอย่างที่เคยได้เห็นมาอีกแล้ว ตั้งแต่ผมเล็กๆจำความได้อย่างที่เล่าให้ฟังจนผ่านมา 61 ปี ได้เห็น ได้ประจักษ์ว่าพระองค์ท่านทำอะไรต่ออะไรที่เป็นประโยชน์เยอะไปหมด ทำไมคนๆหนึ่ง จึงสามารถทำอะไรเพื่อผู้อื่นได้มากมายขนาดนั้น ไม่ได้สบายเลยนะครับทั้งที่พระองค์ท่านเป็นถึงพระมหากษัตริย์ ท่านเสวยสุขในพระราชวังก็ได้ .... สำหรับผมนั้น สิ่งที่ได้ทำและที่กำลังทำ มันเล็กน้อยเหลือเกิน เป็นเพียงธุลีดินเท่านั้น พระองค์จะประทับอยู่ในใจผมตลอดไป ...หากชาติหน้ามีจริงขอเกิดใต้ร่มพระบารมีของพระองค์เป็นข้ารองพระบาททุกชาติ ... และขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า จะดำเนินรอยตามแบบอย่างของพระองค์อย่างสุดความสามารถ
ข้าพระพุทธเจ้า รองศาสตราจารย์มานัส มงคลสุข

วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ก้าวสู่ปีที่ 2 รังสีรังสิต


(489 ครั้ง)
ทำบุญครบรอบปีที่หนึ่งของการจัดตั้งคณะ
เผลอแปร๊บเดียว วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ก็ครบ 1 ปีพอดีของการมาทำงานที่ม.รังสิต เป็นวันที่คณะรังสีเทคนิค ม.รังสิต ก่อตั้งอย่างเป็นทางการ จึงถือโอกาสดีนี้ทำบุญคณะรังสีเทคนิค เพื่อความเป็นศิริมงคล
ชาวเราบางคนถามผมและเสนอแนะด้วยความเป็นห่วงว่า
     "อาจารย์ครับ อาจารย์ไม่เหนื่อยหรือครับ อาจารย์เกษียณแล้วยังต้องมาทำงานหนักอีก"
     "อาจารย์น่าจะเลี้ยงหลาน มีความสุขกว่าเยอะนะครับ"
     "อาจารย์คะ ... บลาๆๆๆๆ"
ชาวเราหลายคนแสดงความยินดีปรีดา ที่เห็นผมมาจัดตั้งคณะรังสีเทคนิค ที่ม.รังสิต แสดงไมตรีจิต
     "อาจารย์ลุยเลย ผมช่วยเต็มที่"
     "อาจารย์คะ ได้โอกาสที่หนูต้องตอบแทนอาจารย์แล้ว บอกมาเลยจะให้หนูช่วยอะไร"
     "ดีใจมากๆครับ ที่เห็นอาจารย์มาทำงานนี้
 ยินดีกับทีมอาจารย์ทุกๆท่าน ยินดีกับวิชาชีพรังสีเทคนิค ยินดีให้ความสนับสนุนทุกเวลาครับ"
     
ผมสัมผัสได้ ถึงความรู้สึกของชาวเรา ทั้งห่วงใย และอยากช่วยเหลือ ต้องขอบคุณจากใจจริงครับ จากวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ที่ผมและอ.อำพลพรต วงค์เปี่ยม สองคนจูงมือกันมาเริ่มงานจัดตั้งคณะรังสีเทคนิค ณ ทุ่งรังสิตในช่วง 5 เดือนแรก มีคุณนุชคนเก่าแก่ที่รู้งานอย่างดีของม.รังสิต ที่พวกเราเรียกพี่นุชเป็นผู้ประสานงานทุกเรื่อง (ต่อมามีคุณแอนมาร่วมงานด้วยอีก 1 คน) และอาจารย์อีก 4 ท่านก็ทยอยตามกันมาร่วมงานคือ อ.ณัฐพงศ์ ด่านธนวัฒน์ อ.จักราวุธ พานิชโยทัย อ.สุนทรีย์ ศรีวงศ์ตา และอ.ทอฝัน ทาปัญญา และอาจารย์คนล่าสุด น้องเล็กสุดที่มาร่วมเขียนประวิติศาสตร์ที่สำคัญนี้ อ.สุระบดี บุญใส 

หลังจากที่ผมเกษียณจากภาควิชารังสีเทคนิค มหิดล เมื่อ 30 กันยายน 2558 คือ เกษียณจากศาลายาแล้วก็มาเริ่มงานใหม่ที่รังสิตเลยในวันถัดไป ไม่ต้องพักกันเลยทีเดียว เพราะภารกิจการจัดตั้งคณะรังสีเทคนิคนั้น ท้าทายมาก ผมตั้งเป้าแบบกดดันตัวเองว่าจะรับนักศึกษารังสีรังสิตรุ่น 1 เข้าเรียนในปีการศึกษา 2559 ก็คือเดือนสิงหาคม 2559 ดังนั้น จึงมีเวลาจำกัดมาก ไม่ต้องพักครับ และก็สามารถรับรังสีรังสิตรุ่น 1 เข้าเรียนได้ตามแผนงานที่วางไว้ 

ข้อเขียนจากประกายรังสีคราวนี้ นอกจากจะนำบุญมาฝากแล้ว จะขอถือโอกาสวันดีๆแบบนี้ได้เปิดเผยความจริงว่า เพราะเหตุใดผมจึงตัดสินใจมุ่งหน้าสู่ทุ่งรังสิตโดยไม่ลังเล

แรงบันดาลใจ
ระหว่างที่ทำงานบริหารภาควิชารังสีเทคนิค ม.มหิดล ในฐานะรองหัวหน้าภาควิชา 8 ปี หัวหน้าภาควิชาอีก 8 ปี ส่วนใหญ่แล้วงานของภาควิชาก็เดินหน้าไปได้ตาม Inertia ของมัน เพราะทีมงานรังสีเทคนิค มหิดล มีความรับผิดชอบสูง มีชื่อเสียงอยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศในสาขารังสีเทคนิค อาจารย์บางท่านมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ จึงมีต้นทุนค่อนข้างสูงมาก การบริหารจัดการให้พันธกิจของภาควิชาดำเนินไปแบบไม่มีปัญหาภายในมากมายจนเป็นอุปสรรค อุปสรรคภายนอกดูจะมีแรงเสียดทานมากกว่า แต่ก็พอจัดการได้แบบกล้อมแกล้ม

ครั้นเมื่อม.รังสิตทาบทามให้ผมมาจัดตั้งคณะรังสีเทคนิค  คิดอยู่นาน เลี้ยงหลานหรือเดินหน้าต่อ เอาไงดี ถ้าเดินหน้าต่อตัวเราจะทำได้หรือ เป็นความกังวล ความกลัว กลัวว่าจะทำไม่ได้ คนเดียวทำไม่ได้แน่ต้องมีทีม แล้วก็นึกถึงคำพูดที่เคยได้ยินมานานแล้วว่า "some men fear the feeling of fear" นี่เรากำลังเป็นแบบนี้หรือไม่ 

แล้วผมก็คิดต่อไปว่า ครั้งนี้น่าจะเป็นโอกาสสำคัญที่สุดอีกครั้งสำหรับชีวิตผมเลย ที่จะได้ทำในสิ่งที่ยากยิ่ง หากทำได้ดีมันอาจจะช่วยให้รังสีเทคนิคไทยก้าวหน้ายกระดับขึ้นอีกขั้นหนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมากๆ กำลังใจค่อยๆมา กัลยาณมิตรต่างๆทั้งลูกศิษย์และเพื่อนอาจารย์ยินดีช่วยเหลือเต็มที่ ซึ่งเวลาต่อมาก็มาร่วมเป็นทีมงานด้วยกัน ค่อยๆมองเห็นความกังวลและความกลัว โดยไม่รู้สึกกังวลและไม่รู้สึกกลัวอีกต่อไป ดังนั้น หลังจากที่มหาวิทยาลัยรังสิตโดยคุณหมอศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพได้ทาบทามผมให้มารับภารกิจอันสำคัญนี้ จึงตัดสินใจรับคำเชิญจากท่านอธิการมหาวิทยาลัยรังสิต ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ซึ่งท่านให้เกียรติผมอย่างมาก ท่านกล่าวในตอนท้ายของการสนทนาเมื่อครั้งแรกที่ได้พบกันว่า 
     "เชิญอาจารย์มาบริหารคณะรังสีเทคนิคนะครับ แล้วอาจารย์จะรักรังสิต"

นั่นแหล่ะครับ เป็นที่มาของคณะรังสีเทคนิค แห่งทุ่งรังสิต ซึ่งการที่ผมตัดสินใจมารับภารกิจนี้ จึงประกอบด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง ยังมีอีกอย่างหนึ่งลึกๆแล้วคือ ผมคิดว่า การตัดสินใจครั้งนี้อาจจะสร้างแรงบันดาลใจให้ชาวเรารังสีเทคนิคหลายๆคนก็ได้

เหนื่อยไหม
การเดินทางไกลมีปัญหาไหม?
ผมไม่เคยมองว่ามันคือ ปัญหา กลับมองว่ามันคือ โอกาส


ตอนที่อยู่มหิดลศาลายา ขับรถไปทำงาน ไป-กลับ วันละ 50 กิโลเมตร ก็รู้สึกว่าไกล แต่การเดินทางของผมจะสวนทางกับชาวบ้านส่วนใหญ่ เส้นทางที่ผมขับรถนั้นสะดวกมาก รถไม่ติดทั้งขาไปและขากลับ คือส่วนใหญ่ขับรถเข้าเมืองตอนเช้าผมก็จะขับออกนอกเมือง ตอนเย็นส่วนใหญ่จะขับรถออกนอกเมืองผมก็ขับจากศาลายาเข้าเมือง เลยรู้สึกสบายมาก

ครั้นมายังทุ่งรังสิต ต้องเดินทางเป็นระยะทางมากกว่าไปศาลายาถึง 2 เท่า คือ เดินทางไป-กลับวันละ 100 กิโลเมตร หลายคนคงร้องอุทานว่า "โอ้โฮ ไกลมาก" 

ใช่ครับไกลมาก โชคยังดีที่เส้นทางเหมือนไปศาลายาเลยครับ คือ สวนกับชาวบ้านส่วนใหญ่ทั้งไปและกลับ จึงใช้เวลาเดินทางไม่นานมาก เพราะรถไม่ติดมากมายแบบในเมืองที่แออัดครับ

ได้มีโอกาสชื่นชมสิ่งต่างๆที่อยู่ระหว่างทางที่ขับรถผ่านไป ชื่นชมกับบรรยากาศร้านอาหารและอาหารที่มีหน้าตาและมีรสชาดไม่คุ้น มันดีมากๆเลย ได้พบปะพูดคุยกับผู้คนมากหน้าหลายตาที่ม.รังสิต บางคนมีชื่อเสียงในสังคมมาก ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าเป็นโชคดีของผมที่ได้สัมผัส

งานเยอะขนาดนั้นทำไง?
ผมไม่เคยมองว่า งานเยอะ ผมมองว่า "เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง" ก็แค่จัดลำดับความสำคัญแล้วก็ลงมือทำเลย 

เคยถูกถามว่า "อาจารย์มียุทธศาสตร์อย่างไร ในการนำพาคณะรังสีเทคนิคไปสู่วิสัยทัศน์"
ผมตอบว่า ถ้าจะเรียกยุทธศาสตร์ ผมก็อยากจะบอกว่า ผมใช้ "ยุทธศาสตร์ไก่ขันตะวันขึ้น" มันคืออย่างไรกันสำหรับไก่ขันตะวันขึ้น ง่ายๆคือ recognize ทีมงาน ทำความเข้าใจ ช่วยกันทำคนละไม้คนละมือ ไม่ต้องรอคำสั่ง

ความจริงไก่ขันตะวันขึ้นเป็นเรื่องที่ได้ยินมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยครับ เรื่องมีอยู่ว่า


มีไก่อยู่เล้าหนึ่ง หัวหน้าไก่บอกกับไก่ตัวอื่นๆทำนองปลูกฝังความเชื่อว่า หากฉันไม่ส่งเสียงขันวันใด วันนั้นดวงตะวันจะไม่ขึ้น เราจะไม่มีแสงสว่าง โลกทั้งโลกจะมืดมิด และพวกเราจะตายกันหมด 

บรรดาไก่ทั้งหลายก็เชื่อฟังตามคำของหัวหน้าไก่ ไม่มีใครกล้าเถียงแม้แต่ตัวเดียว เพราะมันเป็นจริงตามที่หัวหน้าไก่บอกทุกวัน คือ ขันปั๊บ ดวงตะวันขึ้นปึ๊บหรือไก่ขัน ตะวันขึ้น” แต่ประเด็นคือ หัวหน้าไก่ขันอยู่ตัวเดียว ตัวอื่นๆเงียบด้วยความเชื่อและรอให้หัวหน้าไก่ขัน 

เวลาผ่านไป เช้ามืดวันหนึ่ง หัวหน้าไก่ซึ่งแก่มากแล้ว และป่วย ไม่มีแรงจะบินขึ้นไปขันบนต้นไม้ ไก่ลูกน้องกลัวมาก บอกกับหัวหน้าไก่ว่า ท่านต้องอดทนปีนต้นไม้ขึ้นไปขันให้ได้ ไม่เช่นนั้นพวกเราจะพากันตายหมด หัวหน้าไก่ส่ายหน้า ไม่ไหวหรอกป่วยขนาดนี้ ไก่ลูกน้องต้องใช้วิธีหิ้วปีกหัวหน้าขึ้นต้นไม้ไป จากนั้นหัวหน้าไก่ก็รวบรวมพลังทั้งหมดที่มีอยู่โก่งคอขัน 

ปรากฏว่าการขันวันนั้น เป็นการขันครั้งสุดท้ายของหัวหน้าไก่ เพราะเมื่อขันได้ครั้งเดียวก็หมดแรงและตกลงมาตาย ไก่ที่เหลือกลัวจนรนราน คือกลัวว่าดวงตะวันจะไม่ขึ้น กลัวตายเพราะถูกฝังความคิดไว้ว่า ต้องหัวหน้าไก่ขันเท่านั้นดวงตะวันจึงจะขึ้น ไก่จับกลุ่มรวมตัวกันยอมรับชะตากรรม สักครู่ดวงตะวันก็เริ่มส่องแสงตามธรรมชาติของมัน ทำเอาฝูงไก่นั้นถึงกับตะลึงงัน อะไรกัน หัวหน้าไม่ขัน แล้วตะวันขึ้นได้อย่างไร แปลกมากๆๆ”...จบครับ

ไม่เหนื่อครับ

Related Links:
คณะรังสีเทคนิค ม.รังสิต
จากศาลายาสู่ตะวันรุ่งทุ่งรังสิต
รังสีรังสิตรุ่น 1