เมื่อคราวไปทำ workshop ที่โรงพยาบาลบ้านหมี่ 13-14 มีนาคม 2557 ผมต้องตื่นตีสี่เพื่อไปขึ้นรถที่ศาลายาตอนหกโมงเช้า เป็นรถที่โรงพยาบาลบ้านหมี่จัดมารับ ใช้เวลาเดินทางจากศาลายา-โรงพยาบาลบ้านหมี่ 2 ชั่วโมง 10 นาที ระหว่างเดินทางผมนอนหลับเติมพลังให้ตัวเอง แต่หลับไม่สนิทตลอดทาง เลยหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายภาพวิวข้างทาง เป็นเวลาเดียวกับที่พระอาทิตย์กำลังขึ้นมาทักทายเราเลย ช่างงดงามแท้ ถ่ายแล้วก็โพสต์ในเฟสบุ๊คเลย เหมือนคนที่มีอาการ technology syndrome
โรงพยาบาลบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี อยู่ใกล้กับตำบลช่องแค อำเภอตาคลี ที่ที่ผมเกิดและเติบโตในวัยเด็กก่อนที่จะไปเรียนในตัวเมืองจังหวัดนครสวรรค์ ญาติพี่น้องก็ได้มาใช้บริการที่โรงพยาบาลบ้านหมี่เป็นประจำ ตอนเด็กเคยมาเล่นสงกรานต์ที่อำเภอบ้านหมี่ด้วย เล่นเสร็จก็ป่วยเลยต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่ไปนอนที่โรงพยาบาลพระพุทธบาทสระบุรีในตอนนั้น ผมจึงคุ้นเคยบ้านหมี่มาก ปลาส้มอร่อยสุดๆ
ถึงโรงพยาบาลบ้านหมี่แล้ว รับประทานข้าวผัดกับแกงจืดผักกาดข้าวเป็นมือเช้า เตรียมการสักครู่ ก็ได้เวลาเริ่มกิจกรรมกันเลย ได้พบหน้าตาของผู้เข้าประชุมแล้วรู้สึกคุ้นเคยทั้งนั้น หันไปหันมา ลูกศิษย์คนหนึ่งมาจากโรงพยาบาลอยุธยา สมัยเรียนผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เดินตรงเข้ามาหาผม ในมือถือถุงมาด้วย
"สวัสดีค่ะอาจารย์ หนูเอาขนมบ้าบิ่นของดีอยุธยามาฝากค่ะ"
"ขอบคุณครับ ทานแล้วน่าจะมีพลัง แต่ไม่บ้าบิ่นใช่ไหม ฮ่าๆๆๆ"
ผมบรรยายก่อนเป็นคนแรก เวลา 9:00-10:30 น. พูดเรื่อง การควบคุมคุณภาพของกระบวนการถ่ายภาพรังสี จากดินสู่ดาว คือจากแบบธรรมดาสู้แบบดิจิทัล เป็นแนวคิดที่นำระบบ CR หรือ DR มาใช้ควบคุมคุณภาพเครื่องเอกซเรย์ แนวคิดนี้ ได้ทำวิจัยรองรับโดยได้ทุนวิจัยจากงบประมาณแผ่นดิน มีนักศึกษาปริญญาตรี 8 คน ปริญญาโท 1 คน และปริญญาเอก 1 คน ร่วมทำวิจัยประกอบการสำเร็จการศึกษา โดยการมองปัญหาให้ครบทุกมิติมากที่สุด ทั้งการปฏิบัติและการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ คือมันสามารถนำ CR หรือ DR มาใช้งานในการควบคุมคุณภาพเครื่องเอกซเรย์แทนการใช้ฟิล์มเอกซเรย์ ได้แก่ การทดสอบการจัดตัวของ beam และ collimator การทดสอบการคงตัวของ tube current การทดสอบ exposure time การวัดขนาด focal spot ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นก็เพราะแนวโน้มบ้านเราจะก้าวไปสู่รังสีดิจิทัลในไม่ช้า เรื่องนี้จึงเป็นการใช้ประโยชน์จากดิจิทัลที่เข้ามาแทนฟิล์ม ที่ใดสนใจจะให้ทีมงานของเราไปเล่าให้ฟังก็ได้นะครับ
ซ้ายมืออาจารย์ทิพวิมล ขวามืออาจารย์ดร.วิวัฒน์ ขนเครื่องมือ QC มาด้วย ช่วยให้การฝึกอบรมสนุก มีสีสรรค์ วิชาการแน่นเปรี๊ย |
ตัวอย่างรูป:...การวิเคราะห์ collimator โดยใช้โปรแกรม ImageJ |
มีชาวเราบางคนถามผมว่า...................
"ทำ QC ทำไม?"
"ทำ QC ไปเพื่ออะไร?"
"ทำ QC แล้วจะได้อะไร?"
ผมก็ตอบไปว่า....................................
"เราอาบน้ำแต่งตัวทำไม?"
"เราอาบน้ำแต่งตัวไปเพื่ออะไร?"
"เราอาบน้ำแต่งตัวแล้วจะได้อะไร?"
ตอบเหมือนไม่ตอบ เป็นอันว่า คนถามเงียบ คนตอบก็เงียบ ต่างคนต่างเงียบ ใช้ความคิดกันอย่างหนัก หวังว่าคงเห็นทางสว่างนะครับ อยากขยายความตรงนี้ต่ออีกนิดนึง
ในการทำงานนั้น เราอาจรู้สึก สนุก ชอบ อึดอัด คับข้องใจ ขัดแย้ง ฯลฯ หลายอารมย์ แต่หากว่า "เราให้คุณค่ากับงานที่เราทำ งานนั้นจะย้อนกลับมาให้คุณค่าแก่เรา" เข้ากับหลักฟิสิกส์ "action=reaction" ของนิวตันครับ
มีชาย 3 คนกำลังทำงานก่อกำแพงวัด ทำงานกันกลางแจ้งที่แดดร้อนแรง ต้องใช้ความอดทนอย่างมาก
ชายคนแรกคิดว่า.......เขากำลังก่ออิฐ
ชายคนที่สองคิดว่า....เขากำลังก่อกำแพงวัด
ชายคนที่สามคิดว่า....เขากำลังสร้างวัด
ทั้งสามคนนี้ให้คุณค่าของงานต่างกัน
คนที่รู้สึกไม่มีความสุขกับการทำงานมากที่สุดคือใคร?
คำตอบน่าจะเป็นชายคนแรก เพราะเขาให้คุณค่าของงานแค่การก่ออิฐเท่านั้น เสร็จงานแล้วก็รับค่าแรงไป ระหว่างก่ออิฐไปนั้น ในใจคงครุ่นคิดตลอดว่า "เมื่อไหร่งานจะเสร็จวะ" กังวลตลอด ถามว่าเหนื่อยไหม...เหนื่อยครับ ทุกข์ไหม...ทุกข์ครับ
ส่วนคนที่รู้สึกมีความสุขกับการทำงานมากที่สุดคือใคร?
คำตอบน่าจะเป็นชายคนที่สาม เพราะเขาให้คุณค่ากับงานที่ทำอย่างมาก เขาไม่ได้มองแค่กำลังก่ออิฐหรือก่อกำแพง แต่เขาคิดไปถึงว่า เขากำลังสร้างวัด ระหว่างทำงานเขาจะรู้สึกมีความสุขมาก และไม่กังวลเรื่องงานจะเสร็จหรือไม่เสร็จ ถามว่าเหนื่อยไหม ก็เหนื่อยแน่นอน แต่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ทุกข์ไหม...ไม่ทุกข์ สุขไหม...สุขครับ
ทั้งสามคน มองงานอย่างไร ให้คุณค่าของงานอย่างไร งานนั้นก็กลับมาสนองทั้งสามคนนั้นในทันทีเช่นกัน
ชาวเราจะเลือกแบบไหน?
แล้วมื้อกลางวันก็ไม่พลาดครับ ปลาส้มทอด ฟินฝุดๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น