วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

บทบาทของสภาวิชาชีพต่อการรับรองสถาบันอุดมศึกษา


(794 ครั้ง)
     ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมใน การประชุมทางวิชาการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ประจำปี 2555 เรื่อง "บทบาทของสภาวิชาชีพที่มีต่อการรับรองหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนของสถาบันอุดมศึกษา" และเนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ระหว่างวันที่ 12-13 พ.ย. 2555 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
งานนี้มีวิชาชีพทั้งหมด 14 วิชาชีพมาเข้าร่วมประชุม ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกรรม พยาบาล กายภาพบำบัด เทคนิคการแพทย์ รังสีเทคนิค สัตวแพทย์ วิศวกร สถาปัตยกรรม ทนายความ บัญชี ครู/บุคลากรทางการศึกษา และวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมประมาณ 800 คน ประกอบด้วย อธิการบดี คณบดี หัวหน้าภาควิชา ผู้บริหาร และอาจารย์ โดยสามารถแยกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆคือ ส่วนสถาบันผู้ผลิต และส่วนสภาวิชาชีพ สำหรับรังสีเทคนิคเป็นวิชาชีพเดียวที่เป็นคณะกรรมการวิชาชีพ ผมจึงไปในนามทั้งสองภาคส่วนนั้น คือ เป็นผู้ที่อยู่ในฐานะถูกประเมินและผู้ประเมิน

การประชุมกลุ่มวิชาชีพ 14 สาขา
วันที่ 12 พ.ย. ช่วงบ่าย ทุกวิชาชีพแยกย้ายไปประชุมกลุ่มย่อย สำหรับกลุ่มรังสีเทคนิค อาจารย์จากสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคทั่วประเทศ และคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคจำนวนประมาณ 40 คน ได้ประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมสมองเรื่อง "บทบาทที่เหมาะสมของคณะกรรมการวิชาชีพรังสีเทคนิคต่อการรับรองสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดหลักสูตรสาขาวิชารังสีเทคนิค" โดยมีผมเป็นประธานกลุ่ม และ ผศ.ดร.บรรจง เขื่อนแก้ว ประธานคณะกรรมการวิชาชีพฯจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นเลขานุการ
ประเด็นที่พูดคุยกันในที่ประชุมกลุ่มรังสีเทคนิค เนื้อหา+กระบวนการ ในการประเมินสถาบัน
กระบวนการในการประเมินสถาบัน


รายงานผลการประชุมกลุ่มวิชาชีพรังสีเทคนิค
วันที่ 13 พ.ย. ช่วงเช้า เป็นการนำเสนอผลการประชุมกลุ่มย่อยของทุกกลุ่มวิชาชีพ ผมในฐานะประธานเป็นผู้นำเสนอรายงานผลการประชุมกลุ่มวิชาชีพรังสีเทคนิค ดังนี้


ดูสไลด์ประกอบ.......



ผลกระทบต่อสังคม
      วันถัดมา สื่อมวลชนได้เสนอข่าวการรายงานของกลุ่มวิชาชีพทั้ง 14 กลุ่มวิชาชีพ เช่น ไทยรัฐ เดลินิวส์ สยามรัฐ ผู้จัดการ มติชน เป็นต้น
ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เอกซเรย์กับการ “เกิด-ดับ”

     

     เรื่องราวของเอกซเรย์ มีความน่าอภิรมย์อยู่มาก มีหลายแง่มุม หลายมิติ หลายแนวคิด สุดแต่ใครจะมองกันอย่างไร ผมได้เคยเล่าให้ฟังแล้วถึงเรื่อง ขันติเป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์ เป็นมุมมองหนึ่งที่สะท้อนถึงความทนทานของเป้าในหลอดเอกซเรย์กับความอดทนอดกลั้นของมนุษย์

     สำหรับคราวนี้ ขอมองในอีกมิติหนึ่ง ในมิติที่เรียกว่า เกิด-ดับซึ่งมีความน่าอภิรมย์อยู่ในตัว

     ขอเริ่มด้วยคำถามที่ว่า "เอกซเรย์เกิดได้อย่างไร??" ซึ่งเป็นคำถามที่คนส่วนใหญ่อาจไม่ทราบคำตอบ

     พูดถึงการผลิตเอกซเรย์เพื่อใช้งานทางการแพทย์  มีแง่มุมดีๆให้ได้คิดซ่อนเร้นอยู่อีก
สำหรับนักรังสีเทคนิคจะทราบคำตอบเรื่องการผลิตเอกซเรย์ดีมากอยู่แล้ว สำหรับท่านที่ไม่มีพื้นฐานทางนี้ ผมขอเล่าให้ฟัง เริ่มจากพื้นฐานของเรื่องนี้เลยครับ

การผลิตเอกซเรย์ เราใช้หลอดเอกซเรย์ซึ่งมีโครงสร้างสำคัญประกอบด้วย หลอดแก้วสุญญากาศ ไส้หลอด (filament)  และเป้า เป็นโครงสร้างที่ได้รับการพัฒนาขึ้นนานมาแล้ว เมื่อ ค.ศ.1913 โดย W.D. Coolidge  จึงเรียก Coolidge tube ปัจจุบันก็ยังใช้หลักการนี้ ไม่ว่าจะเป็นหลอดเอกซเรย์ที่ใช้งานถ่ายภาพทั้งร่างกาย ถ่ายภาพเต้านม หรือซีที (เอกซเรย์คอมพิวเตอร์)แต่การออกแบบอาจแตกต่างกันไปตามชนิดของการใช้งาน
โครงสร้างของหลอดเอกซเรย์
 หากเราแหวกผนังแก้วของหลอดเอกซเรย์เข้าไป มองลึกเข้าไปภายในหลอดเอกซเรย์ มองให้เห็นกระบวนการ กลไก ของการผลิตเอกซเรย์
เราจะเริ่มเห็นไส้หลอดซึ่งมักทำด้วยทังสะเต็น ลักษณะเป็นขดลวดบิดเป็นเกลียวเล็กๆ ถูกเผาด้วยกระแสไฟฟ้าจนร้อนแดง สุกสว่างไสว ดุจหลอดไฟฟ้าที่ให้แสงสว่างในยามค่ำคืน ขณะนั้น ไส้หลอดจะปลดปล่อยอิเล็กตรอนหลุดออกมาจำนวนมาก ในทางเทคนิคเรียกกระบวนการนี้ว่า thermionic emission หรือ Edison effect เป็นการสื่อความหมายว่า อิเล็กตรอนหลุดจากไส้หลอดด้วยความร้อน
เวลาเดียวกันนั้น แอโนดซึ่งทำเป็นจานโลหะจะถูกทำให้หมุนด้วยความเร็วสูงมาก เหมือนมอเตอร์ความเร็วสูง รอรับการพุ่งชนโดยอิเล็กตรอนที่จะวิ่งมาจากไส้หลอด
ครั้นเมื่อเราใส่ความต่างศักย์ไฟฟ้าสูงๆ ระหว่างไส้หลอด (แคโทดขั้วลบ) และเป้า (แอโนดขั้วบวก) ความต่างศักย์ไฟฟ้าจะบีบบังคับกดดันให้อิเล็กตรอนต้องวิ่งจากไส้หลอดขั้วลบ ไปตามแนวเส้นแรงไฟฟ้า พุ่งเข้าชนเป้าหรือจานแอโนดขั้วบวกที่กำลังหมุนเร็วจี๋ และชนด้วยพลังงานจลน์สูงมาก
ขณะที่เกิดการชนกันพลังงานจลน์ของอิเล็กตรอนประมาณ 1% จะถูกเปลี่ยนไปเป็นประกายรังสีที่ตามองไม่เห็นเรียกว่า เอกซเรย์ ในฉับพลัน เป็นประกายรังสีที่เรานำมาใช้งาส่องชีวิตของผู้ป่วย  พลังงานจลน์ของอิเล็กตรอนส่วนใหญ่อีก 99% จะเปลี่ยนเป็นความร้อนที่เป้า



หากเราจะดูให้ลึกลงไปอีกว่า อิเล็กตรอนชนกับเป้าหรือจานแอโนดแล้วเกิดเอกซเรย์ได้อย่างไร เราจำเป็นต้องมองในระดับเล็กมากเป็นนาโนหรือระดับอะตอม  ซึ่งเราจะเห็นอิเล็กตรอนวิ่งเข้าไปชนอะตอมของเป้า แยกการชนเป็น 2 แบบใหญ่ๆ ซึ่งทำให้ได้เอกซเรย์แบบ Characteristic x-rays และ Bremsstrahlung ผมขออนุญาตไม่ลงรายละเอียดในส่วนนี้ แต่ผมมีวิดีโอคลิปที่แสดงการเกิดเอกซเรย์ทั้งสองแบบให้ชมกัน ให้พอจินตนาการได้บ้าง
  

เคล็ดลับประการหนึ่งคือ ความเข้มของเอกซเรย์ที่เกิดขึ้น จะสอดคล้องสัมพันธ์กับรูปคลื่นความต่างศักย์ไฟฟ้า (kV) ที่จ่ายให้หลอดเอกซเรย์ 

ถอยกลับออกมามองในภาพใหญ่

โดยทั่วไป ความต่างศักย์ไฟฟ้าที่จ่ายให้หลอดเอกซเรย์มีลักษณะเป็นเหมือนระลอกคลื่น สูงต่ำสลับกัน จำนวน 100 ระลอกคลื่นในหนึ่งวินาที เมื่อหลอดเอกซเรย์ได้รับระลอกคลื่นความต่างศักย์ไฟฟ้าสูงจะได้เอกซเรย์เรียกว่า เกิด มีความสว่างไสวที่เห็นได้ด้วยจิตเพราะตามองไม่เห็น เมื่อระลอกคลื่นความต่างศักย์ไฟฟ้าลดลงต่ำ เอกซเรย์ก็ไม่เกิดเรียกว่า ดับ
     แปลว่า จะมีการ เกิด-ดับ ของเอกซเรย์สลับกันไป 100 ครั้งในหนึ่งวินาที หรือกระพริบ 100 ครั้งในหนึ่งวินาที เป็นจังหว่ะแน่นอน คล้ายกับเวลาที่เราดูแสงกระพริบจากดาวฤกษ์ในเวลาค่ำคืน เราจะเห็นประกายแสงระยิบระยับเปล่งออกมา มองแล้วน่าอภิรมย์ยิ่ง แต่จังหว่ะการเปล่งประกายออกมานั้นอาจไม่คงตัว 
     ความถี่ของการเกิด-ดับของเอกซเรย์สูงเพียงนี้ ทำให้สัมผัสได้ราวกับว่ามีเอกซเรย์เกิดหรือออกมาจากหลอดเอกซเรย์ตลอดเวลาแล้ว ไม่รู้สึกว่ามันกระพริบ 

     ถึงตรงนี้ ผมคิดว่า เอกซเรย์ได้สอนเราอย่างหนึ่งครับ
การเกิด-ดับของเอกซเรย์ ใช้ไฟฟ้ากระแสตรงกรองไฟแบบเต็มลูกคลื่น


     ทุกครั้งที่ถ่ายภาพรังสีผู้ป่วย  จะมีการ เกิด-ดับ” หรือกระพริบของเอกซเรย์ ซึ่งเรารู้สึกได้เหมือน เกิด ตลอดเวลา

เอกซเรย์กำลังเตือนสติเราว่า  สติ ก็มีลักษณะ เกิด-ดับ ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสัมมาสติ หรือมิจฉาสติ คือมีการกระพริบของสติเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ขอให้เป็นการกระพริบของสัมมาสติย่อมดีกว่า

ประเดี๋ยวเราก็มีสติ เกิด ประเดี๋ยวเราก็ขาดสติ ดับ สลับกันไป สติมันกระพริบ

ถ้าใครที่มีการ เกิด-ดับ ของสติสลับกันด้วยความถี่สูง กระพริบเร็วมาก ถ้าเป็นสัมมาสติผมว่าโอเคแล้วนะ เพราะเป็นลักษณะการกระพริบของสติที่เสมือนว่ามีสติเกิดขึ้นตลอดเวลา เหมือนเอกซเรย์
ไฟกระพริบเหมือนเกิด-ดับของสติ


สัมมาสติเกิดนานหน่อย  ดับประเดี๋ยวเดียว ยิ่งดีใหญ่ อันนี้ขั้นสูงมาก

สัมมาสติไม่ดับเลย เกิดตลอดเวลาดีมากเลย แต่ยากมากเช่นกัน อันนี้เรียกว่า ที่สุดแห่งการดับสัมมาสติได้ไหม คือเกิดสติตลอดเวลาไม่กระพริบด้วย
สติของเรา-ท่าน มีเกิด-มีดับ ตลอดเวลาไหม?


คิดให้ดี การดับของสัมมาสติแม้แค่ช่วงเวลาสั้นๆ น่าสะพรึงกลัวหรือไม่ หลายคนอาจเคยมีประสบการณ์มาบ้างกับคนอื่นหรือแม้แต่กับตัวเอง ก็จะเข้าใจพิษสงของการดับของสัมมาสติได้ดี 
     แล้วถ้าหากสัมมาสติของเราอยู่ในโหมดที่ ดับ ตลอดเวลาล่ะ หรือเข้าสู่โหมด ที่สุดแห่งการเกิดสัมมาสติ คือดับสนิทอย่างยั่งยืน อะไรจะเกิดขึ้นกับเรา และคนรอบข้างของเราครับ 
     ในภาวะที่ต้องเผชิญหน้ากัน ยิ่งถ้าเราเป็นผู้มีความฉลาดในทางโลกมากๆ เมื่อขาดสัมมาสติคือดับ และมีมิจฉาสติเข้าแทนที่ เราจะจมดิ่งอยู่ในทะเลแห่งอารมย์ร้าย ก็จะยิ่งน่ากลัวเป็นร้อยเท่าพันทวี  เราจะมีความแน่ "กูแน่" และไม่ฟังใคร เราจะสามารถบันดาลให้เกิดสิ่งเลวร้ายได้มากมาย....
     ชนิดที่ไม่กล้าคิดเลยครับ...


     สัมมาสติกลับมาเถิด เจ้าจงกลับมา ว็อบๆแว็มๆก็ยังดี

     นี่แหละครับที่ว่า เอกซเรย์มีเรื่องน่าอภิรมย์ เอกซเรย์กับสติมันคล้ายกันมากอย่างเหลือเชื่อ จริงไหมครับ ต่างกันตรงที่ การเกิด-ดับของเอกซเรย์ควบคุมได้ง่ายด้วยมือหรือเท้าของนักรังสีเทคนิค แต่การควบคุมให้เกิดสัมมาสติทำได้ยากกว่า 
     

Related Links:

วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เรื่องเบาๆ...ก็ตามันอยู่ใกล้กว่าหู



ในการเรียนวิชาฟิสิกส์ ตอนอยู่ปี 1 

อาจารย์ถามนักศึกษาว่า

     “ใครตอบได้บ้าง....สมมติเรายืนอยู่บนยอดตึกคณะฯสีสวยที่สุดในศาลายา หันมองไปทางยอดตึกอีกตึกหนึ่งห่างออกไปประมาณ 1km ทันใดเราเห็นแสงไฟแว่ปขึ้นที่ยอดตึกนั้น จากนั้นอีก 3 วินาทีจึงได้ยินเสียงตูม อยากทราบว่า เพราะเหตุใด เราจึงเห็นแสงไฟก่อนได้ยินเสียงตูม

นายสัมฤทธิ์ หล่อเข้ม รีบยกมือขอตอบ หวานหมูมากปัญหานี้ จึงตอบว่า

     “เพราะเสียงเดินทางในอากาศช้ากว่าแสง เราจึงเห็นแสงก่อน แล้วจึงได้ยินเสียงตามมา คร้าบ

อาจารย์ยิ้มอย่างพอใจเมื่อได้ฟังคำตอบที่ถูกต้องตามหลักฟิสิกส์ พอดีอาจารย์เหลือบไปเห็นนายวชิรกร กำลังง่วนอยู่กับการวาดรูป Anatomy ของศรีษะมนุษย์ อาจารย์จึงแกล้งถามว่า

     “วชิรกร! เธอคิดว่าอย่างไร ที่เพื่อนตอบแบบนี้

วชิรกรออกอาการกระวนกระวาย แล้วตอบว่า

     “เอ้อ...ผมคิดว่าสัมฤทธิ์ตอบถูก เอ่อออ...ไม่ใช่ครับ ตอบผิดครับ

อาจารย์เริ่มงง เพราะรู้อยู่ว่าสัมฤทธิ์ตอบถูกแล้ว

     “เอ..ที่ว่าผิดน่ะ เธอหมายความว่าอะไรล่ะ

วชิรกร ทำให้ตัวเองดูมั่นอกมั่นใจมาก (เนียน) แล้วก็ตอบเสียงดังฟังชัดว่า

     “เพราะตาม Anatomy ของศรีษะมนุษย์ จากตำแหน่งที่ปืนยิง ตาจะอยู่ใกล้กว่า และหูอยู่ไกลกว่าครับ ทำให้ตาเห็นแสงไฟก่อน แล้วหูจึงได้ยินเสียงตามมา ใช่ไหมครับอาจารย์

คำตอบนี้ เพื่อนในห้องเงียบกริบ! และทำให้อาจารย์ตะลึงอึ้งไปเลย !!!!!
อาจารย์พูดไม่ออก ได้แต่คิดในใจว่า คงไม่ต้องสอนวชิรกรแล้วละ ให้ไป admission ใหม่ดีกว่าอีกสักสามรอบ ยังทัน ...สับสน สับสน จริงๆ

     "OK วันนี้พอแค่นี้" 


วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประชาคมอาเซียนกับผลกระทบ: จับตาฟิลิปปินส์และเวียดนาม


ไปที่ไหนตอนนี้มีแต่คนพูดเรื่อง ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) หรือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในทุกภาคส่วน การเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว สุขภาพ  Logistic ฯลฯ มีการเตรียมการรับมือกับเรื่องนี้มากมาย แต่บางทีเราอาจให้ความสนใจน้อยไป ก็จะมองว่าเหมือนไม่มีอะไร ไม่ได้ทำอะไร

ตัวอย่างโครงการชนิดยิ่งใหญ่มโหราฬ ที่เป็นความร่วมมือกันในอาเซียน ได้แก่ โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย และเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า (Dawei Deep Sea Port & Industrial Estate Project and Transborder Corridor Link) ที่ตำบลนาบุเลในประเทศพม่า  เป็นอภิมหาโปรเจคต์เชื่อมอุษาคเนย์  เป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับพม่า 



     ท่าเรือนี้จะมีขนาดใหญ่กว่าท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังมากมายเป็น 10 เท่า มีแผนสร้างทางมอเตอร์เวย์ ทั้งรถยนต์ รถไฟ ฯลฯ จากนาบุเล ผ่านกาญจนบุรี นครปฐม กรุงเทพฯ ไปท่าเรือแหลมฉบังระยะทางประมาณ 400 กิเมตร มีแผนต่อเชื่อมเข้า กัมพูชาและเวียดนามในที่สุด เป็นการย่นระยะทางและเวลา เรือขนส่งสินค้าจากเนบุเล ไม่ต้องแล่นผ่านช่องแคบมะละกา อ้อมแหลมทองไปแหลมฉบังระยะทางประมาณ 3.500 กิโลเมตร
โครงการนี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลให้ความสนใจ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาเขตกาญจนบุรี เพราะที่ตั้งห่างจากนาบุเลประมาณ 140 กิโลเมตร มหิดลจะเป็นประตูด่านหน้าที่นอกจากจะรองรับนักศึกษาในภาคตะวันตกของไทยแล้ว ยังขยายโอกาสเพื่อรองรับนักศึกษาจากพม่าด้วย  นอกจากนี้เส้นทางคมนาคมตามแผนจากเนบุเลไปแหลมฉบังจะมีแนวผ่านมหาวิทยาลัย

AEC กำลังคืบคลานเข้ามาเรื่อยๆ วันที่ 1 มกราคม 2558 คือกำหนดเวลานัดหมาย คงเหลือเวลาอีกไม่นานแล้ว หลายคนกล่าวว่า มันคงไม่เปลี่ยนแปลงโครมคราม เหมือนคลื่น Tsunami ถาโถมเข้าหาแผ่นดิน จะเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ถึงอย่างไรก็ตาม จะช้าจะเร็ว เราเตรียมความพร้อมไว้แต่เนิ่นๆ จะดีกว่า

มีคำถามว่า นักรังสีเทคนิคไทยจะถูกแย่งงานจากนักรังสีเทคนิคในประเทศอาเซียนหรือไม่??”

ทุกคนมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันแน่นอน แต่สำหรับผม ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้
เรามาดูข้อมูลต่อไปนี้ครับ>>>

     ค่าตอบแทนในประเทศไทย
เรามาดูค่าตอบแทนนักรังสีเทคนิคไทยในภาคเอกชนเป็นอันดับแรก
จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานเมื่อมกราคม 2554 เรื่องค่าตอบแทนพนักงานสายงานด้านสุขภาพภาคเอกชนทั่วประเทศ พบว่า ค่าตอบแทนสำหรับนักรังสีเทคนิคอยู่ในระดับที่สูงพอสมควร เมื่อเทียบเคียงกับวิชาชีพอื่นในกลุ่มวิชาชีพด้านสุขภาพ ทั้งนี้ไม่รวมแพทย์และทันตแพทย์ 
แต่ถ้าหากดูในภาครัฐ อัตราค่าตอบแทนก็จะลดต่ำลงมาอีก

     กำลังคน: จำนวนนักรังสีเทคนิคไทย
     กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการศึกษาทบทวนกำลังคนด้านการแพทย์และสาธารณสุขสาขารังสีเทคนิค โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง มีรองศาสตราจารย์ จิตต์ชัย สุริยะไชยากร เป็นประธานคณะทำงาน ซึ่งคณะทำงานได้รายงานผลการสำรวจให้กระทรวงสาธารณสุขไปแล้วเมื่อ พ.ศ. 2553       
จากการศึกษาดังกล่าวนั้น มีผลการศึกษาในส่วนของการคาดการณ์สภาวะการด้านกำลังคนสายงานรังสีการแพทย์ พ.ศ. 2552-2561 ตามตารางหรือรูปกราฟ โดยคิดสัมพันธ์กับจำนวนเครื่องมือรังสีวิทยาทั้งภาครัฐและเอกชน เมื่อดูการศูนย์เสียบุคลากร ในตารางดังกล่าวนั้น มีเฉพาะนักรังสีเกษียณ ยังไม่ได้แสดงถึงคาดการณ์การศูนย์เสียด้วยเหตุอื่นๆ เช่น เสียชีวิต ลาออกก่อนเกษียณ ฯลฯ

จากข้อมูลนี้ มีความชัดเจนครับว่าประเทศไทยขาดแคลนนักรังสีเทคนิคอีกมาก และอัตราการผลิตบัณฑิตยังต่ำกว่าจำนวนความต้องการที่เพิ่มขึ้นซึ่งคิดเฉลี่ยคิดเพิ่มเพียงร้อยละ 1.5  เท่านั้น จากข้อมูลในตารางในปี 2559 คาดการณ์จำนวนบัณฑิตที่ผลิตเข้าสู่ระบบรวมประมาณ 270 คนต่อปี โดยวิธีนี้ ทำให้ความต้องการในแต่ละปีเริ่มลดลงบ้าง แต่ปัญหาคือ ใครล่ะจะเป็นผู้ผลิตบัณฑิตในส่วนที่เพิ่มอีก 150 คนต่อปี

     ความต้องการนักรังสีเทคนิคในภาคเอกชนยังสูงมาก เกิดภาวะการแข่งขันในส่วนของการเสนอเงื่อนไขพิเศษต่างๆ ดูจากการที่โรงพยาบาลเอกชนส่งฝ่ายบุคคลเข้าไปเชิญชวนนักศึกษารังสีเทคนิคชั้นปีที่ 4 ถึงสถาบันการศึกษา เพื่อรับสมัครงาน และมีการยื่นข้อเสนอพิเศษหลายอย่างแตกต่างกันไปในแต่ละโรงพยาบาล เพื่อจูงใจให้นักศึกษาสนใจที่จะไปร่วมงานด้วยเมื่อเรียนจบแล้ว เช่น การให้ทุนการศึกษาที่ค่อนข้างสูง เงินเดือนที่ค่อนข้างสูง ค่าตอบแทนใบประกอบโรคศิลปะสูงกว่าส่วนราชการ 3 เท่าเป็นอย่างต่ำ (บางแห่งเสนอให้สูงถึงกว่า 7,000 บาทต่อเดือน)ค่าอยู่เวร สวัสดิการที่พัก ฯลฯ สภาพเช่นนี้สะท้อนความขาดแคลนจริงหรืออาจสะท้อนการเปลี่ยนสถานที่ทำงานก็ได้

อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจคือ เทคโนโลยีรังสีทางการแพทย์ที่ถูกพัฒนาขึ้นในอีก 5-10  ปีต่อจากนี้ ในเรื่องความที่มันทันสมัยและเป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น จะมีผลต่อจำนวนนักรังสีเทคนิคในระบบหรือไม่ เป็นแค่คำถามครับ  


ขออนุญาตนอกเรื่องหน่อยครับ แต่ก็น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

แม้จะชัดเจนว่าประเทศไทยขาดแคลนนักรังสีเทคนิค ประเทศไทยมีกฎหมายที่กำหนดให้นักรังสีเทคนิคเป็นผู้ใช้รังสีกับมนุษย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาโรคด้วยวิธีทางรังสีวิทยา แพทย์หรือทันตแพทย์ก็ทำได้ แต่ผู้บริหารผู้มีอำนาจหลายคนไม่รู้หรือแกล้งไม่รู้ จึงมีการส่งเสียงให้ได้ยินเป็นทำนองปรับทุกข์จากนักรังสีเทคนิคที่อยู่ในระบบงานรังสีการแพทย์อยู่เสมอๆว่า มีโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลไม่น้อยใช้ผู้ที่ไม่ใช่นักรังสีเทคนิค แพทย์หรือทันตแพทย์ มาปฏิบัติหน้าที่เสมือนหนึ่งว่าเป็นนักรังสีเทคนิค มันจึงมองได้ว่าภาพรวมไม่ขาดแคลน   

หากรวบรวมปัญหาหรือจุดอ่อนด้านกำลังคน พบว่ามีมากพอควร เกิดความรู้สึกเหมือนถูกละเลยจากผู้มีอำนาจที่รับผิดชอบไปในวงกว้างของชาวเรา เป็นแค่ความรู้สึกนะครับ ขอยกตัวอย่างที่เห็นชัดๆได้แก่ การขาดแคลนกำลังคนจริงๆตามกฎหมายในภาพรวม การกระจายกำลังคนที่ไม่เป็นธรรม ความไม่เป็นธรรมด้านค่าตอบแทน  จำนวนบัณฑิตใหม่แต่ละปีประมาณต่ำกว่าความต้องการกำลังคนค่อนข้างมาก ปัญหาความก้าวหน้าในสายวิชาชีพ ฯลฯ



     ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน: การเคลื่อนย้ายอย่างเสรี

การรวมกันเป็นประชาคมอาเซียน ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของ skilled labor หรือแรงงานมีฝีมือ อย่างน้อยในขณะนี้จำนวน 8 วิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกรรม การสำรวจ บัญชี สถาปัตยกรรม และการท่องเที่ยว ที่มีการทำข้อตกลงร่วมกัน (MRA) แล้ว ในระยะเวลาอันใกล้ที่ประชาคมอาเซียนกำลังจะมา แม้จะยังไม่มี MRA สำหรับวิชาชีพรังสีเทคนิค

คำถามคือ...........

จะมีการผ่อนปรนให้เกิดการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของนักรังสีเทคนิคหรือไม่??

และถ้ามีการผ่อนปรนจะเกิดผลกระทบอย่างไร??

     เปรียบเทียบรังสีเทคนิคในอาเซียน

     นักรังสีเทคนิคในอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ มีระบบการผลิต การเข้าสู่ตลาดงาน และอัตราค่าตอบแทน ที่แตกต่างกัน ลองดูในด้านเหล่านี้ครับ




      การจัดการศึกษา ประเทศไทยใช้หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขารังสีเทคนิค แล้วได้ปริญญาเป็น วท.บ. สาขารังสีเทคนิค คล้ายกับประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ขณะที่ มาเลเซีย สิงคโปร์ ลาวและกัมพูชา ใช้หลักสูตรที่เป็นแบบรังสีเทคนิคบัณฑิต คือเน้นวิชาชีพรังสีเทคนิค  

     การสอบขึ้นทะเบียน ประเทศในอาเซียนที่มีการสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแล้วคือ ไทยและฟิลิปปินส์ ส่วนมาเลเซียและสิงคโปร์อยู่ในขั้นตอนเตรียมดำเนินการ
อัตราค่าตอบแทน สำหรับนักรังสีเทคนิคที่ทำงานใหม่ ฟิลิปปินส์และเวียดนามมีอัตราค่าตอบแทนใกล้เคียงกันประมาณเดือนละ 10,000 บาท ถัดมาคือมาเลเซีย ตามด้วย ไทย และสิงคโปร์อัตราค่าตอบแทนสูงที่สุดและแตกต่างจากไทยประมาณ 3 เท่า

     จับตาฟิลิปปินส์และเวียดนาม
จากข้อมูล
>> สภาวการณ์ขาดแคลนนักรังสีเทคนิคไทยจำนวนมาก
>> ไทยมีอัตราค่าตอบแทนที่สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
>> การเปิดให้มีการเคลื่อนย้ายเสรีของแรงงานมีฝีมือ
>> ระบบการศึกษาที่ใกล้เคียงกัน
>> มีใบประกอบโรคศิลปะ
>> ประเทศไทยน่าอยู่ คนไทยมีน้ำใจ อัธยาศัยดี
ดังนั้น เมื่อประชาคมอาเซียนมาถึง จึงน่าเป็นไปได้ครับว่า นักรังสีเทคนิคจากฟิลิปปินส์มีโอกาสสูงที่สุดที่จะเข้ามาทำงานในไทย โอกาสรองลงไปคือเวียดนาม ขอย้ำว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือจะมีลักษณะสวนทางกับการไหลของน้ำ

เราจะเตรียมการรับมืออย่างไรดี 
     จะกีดกันหรือจะสนับสนุนหรืออย่างไรก็ได้ 
     เมื่อคิดว่าเราจะเสียเปรียบ แสดงว่าต้องเอาเปรียบใช่ไหม 
     นั่นไม่ใช่วัตถุประสงค์ของประชาคมอาเซียน มิตรประเทศของเราทั้งนั้น เพื่อน win เรา win น่าจะเป็นแนวทางที่ดีครับ แต่ win ด้วยกันมีอะไรบ้างต้องช่วยกันคิดละครับ