วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

X-rays และเวลา ทำให้คนเสมอภาคกัน


x-rays

     สนามไฟฟ้าและสนามแม่เหล็กเหนี่ยวนำสลับกันไปมาด้วยความถี่สูงมากๆ แผ่ออกไปเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า x-rays ก็เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และมีความถี่สูงมากๆ เป็นคลื่นชนิดเดียวกับคลื่นวิทยุ คลื่นโทรทัศน์ อินฟราเรด แสงสว่างที่ตามองเห็น อุลตร้าไวโอเลต และรังสีแกมมา 
     ถ้าปล่อยให้ x-rays เคลื่อนที่ในที่ว่างเปล่าหรือในสุญญากาศ มันจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่ากับความเร็วของแสงในสุญญากาศเช่นกัน แต่ถ้าเคลื่อนที่ในอากาศ ความเร็วของมันจะน้อยกว่าความเร็วแสง เพราะมันเสียพลังงานระหว่างเคลื่อนที่ไปในอากาศโดยการชนอะตอมของอากาศ ขณะนี้ยังไม่พบสิ่งที่เคลื่อนที่เร็วกว่าแสง แม้ปลายปี พ.ศ. 2554 จะมีการเปิดเผยในตอนแรกว่า อนุภาคนิวตริโนเคลื่อนที่เร็วกว่าแสง แต่ภายหลังจากการเปิดเผยไม่กี่เดือนก็มีการออกมายอมรับความผิดพลาดที่เกิดจากการวัด หมายความว่า ไม่สามารถยืนยันได้ว่า อนุภาคนิวตริโนเคลื่อนที่เร็วกว่าแสง
     แต่สำหรับ x-rays นั้นยังมีคุณสมบัติทะลุทะลวงสูง ระหว่างที่ x-rays เคลื่อนผ่านเข้าไปในร่างกาย อวัยวะต่างๆในร่างกายจะดูดกลืนไว้ไม่เท่ากัน กระดูกจะดูดกลืนมาก ปอดจะดูดกลืนน้อย เป็นต้น x-rays ที่ทะลุผ่านออกมาจึงไม่เท่ากัน เมื่อตกกระทบฟิล์มรับภาพ จึงปรากฏเป็นภาพอวัยวะภายในร่างกาย ช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ 

     x-rays เมื่อเข้าสู่ร่างกายของทุกคน มันจะคุยกับอะตอมของร่างกายด้วยภาษาเดียวกันหมดไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร ภาษาหลักคือ ปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กตริกและปรากฏการณ์คอมพ์ตัน คุยกันสนุกสนานจนบางส่วนฟุ้งออกมาเป็นละออง x-rays หรือละอองรังสีเอกซ์ หรือรังสีกระเจิงนั่นเอง เรียกละอองรังสีซะบ้างมันเป็นภาษาบ้านๆดี เหมือนละอองฝนฟังนุ่มหูดีครับ แต่ละอองฝนก็ทำให้เราเป็นหวัดไม่สบายได้  หรืออาจคิดถึง x-rays กับอะตอมคุยกันก็เหมือนคนขี้โม้ที่คุยๆๆๆ จนน้ำลายแตกฟองกระเด็นออกมา เป็นละอองน้ำลายต้องคอยหลบดีๆ ไม่งั้นเหม็นขี้ฟัน ละอองรังสีเราก็ต้องหลบหรือป้องกันไม่ให้มาโดนเราเหมือนกัน

     "x-rays ส่องชีวิต" คำนี้ไม่เกินความจริงครับ เพราะ x-rays สามารถส่องโปรตีน โครงสร้างของผลึก โครงสร้างของ DNA ตามที่ผมเคยเขียนไปแล้วเรื่อง "รังสีส่องชีวิต"  มันส่องทุกคนเหมือนกันหมด ไม่มีใครต่อต้านได้
      x-rays สามารถทะลุผ่านร่างกายคนเราโดยไม่ลำเอียง ไม่เลือกชั้นวรรณะ-การศึกษา หญิง-ชาย เด็ก-ผู้ใหญ่ คนดี-คนเลว รวย-จน ป.1-ป.เอก เหมือนกันหมด x-rays ไม่เคยแหยงกระดูกของเศรษฐี ไม่เคยยะโสกับกระดูกของยาจก x-rays จัดให้เท่ากันหมด ไม่สองมาตรฐาน เป็นความคงเส้นคงวาของ x-rays ที่มีมาช้านานแล้ว น่าจะเริ่มตั้งแต่จักรวาลกำเนิด และมันจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป

Related Links:
รำลึก 115 ปีแห่งการค้นพบ X-rays
รังสีส่องชีวิต


เวลา 

      เวลาและวารีไม่เคยคอยใครจริงไหม ในวันหนึ่งๆ มีความยาวนานของเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง (23 ชั่วโมง 56 นาที) เหมือนกันหมดทุกคนเช่นกัน ไม่มีการลำเอียง 
     เวลา 24 ชั่วโมงในหนึ่งวัน หากเราใช้เวลาในการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ไม่หมด ก็ไม่อาจนำเวลาที่เหลือในแต่ละวันมาใช้ใหม่ในวันถัดไปได้ หมดแล้วหมดเลย ผ่านแล้วผ่านเลย มักได้ยินคำพูดว่า "หากย้อนเวลาได้ ฉันจะ......" 
     มีหินก้อนใหญ่  หินก้อนเล็ก และทราย ซึ่งสามารถใส่ลงในกะละมังได้พอดี เราจะใส่อะไรลงไปในกะละมังก่อนและหลังดีล่ะ จึงจะสามารถใส่ได้หมด....คิดๆๆๆๆๆ..... 
     คำตอบคือใส่หินก้อนใหญ่ลงไปก่อน ตามด้วยหินก้อนเล็ก และปิดท้ายด้วยทราย ใส่ลงไปทีหลัง วิธีนี้จะทำให้ใส่ทุกอย่างลงในกะละมังได้หมด แถมยังเทน้ำลงไปได้อีกนะ หากไม่เชื่อก็ลองใส่ทรายลงไปก่อน แล้วตามด้วยก้อนหิน รับรองได้ว่า ไม่มีทางที่เราจะใส่ได้หมดหรอก  เพราะทรายมันได้เข้าไปกินที่ในกะละมังด้านล่างขึ้นมาแล้ว
     อันนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า เราควรทำงานที่มีความสำคัญสูงสุดเสียก่อนเป็นอันดับแรก (หินก้อนใหญ่) ตามด้วยงานที่มีความสำคัญลองลงมา (หินก้อนเล็ก) ส่วนงานเล็กๆน้อยๆไม่มีความสำคัญ (ทราย) ทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ เลือกทำทีหลังจะดีที่สุด อย่าไปทำก่อน จะทำให้เสียเวลาเปล่าๆ 
     ในที่สุดก็มีเรื่องเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องจนได้ เวลาของทุกคนเท่ากัน จะใช้เวลาไปกับทรายหรือหินก้อนใหญ่ก่อนกัน ก็คิดดูดีๆนะครับ 
     เวลามันเดินของมันไปเรื่อย เวลาไม่เหมือนกับการฝากเงินไว้กับธนาคาร เรากดเงินออกมาใช้ไม่หมดในวันนี้ วันพรุ่งนี้ เงินส่วนที่เหลือก็ยังคงอยู่ในธนาคารและมีดอกเบี้ยเกิดขึ้น แต่เวลาฝากใครที่ไหนไม่ได้ ไม่มีธนาคารเวลา มีแต่จินตนาการในหนังที่ซื้อขายเวลากันได้
     ในโลกแห่งความเป็นจริง ความรู้สึกในหนึ่งวันของแต่ละคนอาจสั้น-ยาวไม่เท่ากัน เช่น คนจนอาจรู้สึกว่าวันหนึ่งช่างแสนยาวนานเหลือเกิน แต่กับคนรวยวันหนึ่งอาจดูรวดเร็วเหลือเกิน มันต่างกันในความรู้สึก ความเป็นจริงก็คือ 24 ชั่วโมงในหนึ่งวันนั่นเอง

วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2555

ข้อจำกัดและเงื่อนไขของการประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค


(1,509 ครั้ง)
     เมื่อจะพูดถึงเรื่องนี้ ขอย้อนดูความเป็นมา  เลือกเอาเฉพาะส่วนที่ผมทราบและเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยในฐานะกรรมการวิชาชีพคนหนึ่งตั้งแต่พ.ศ. 2549 จนถึงขณะนี้ นะครับ

ที่ผ่านมาหลายปี มีการพูดถึงในวงกว้างมากขึ้นถึงเรื่อง การฉีดสารทึบรังสีหรือสารเภสัชรังสีของนักรังสีเทคนิค ในความเป็นจริง นักรังสีเทคนิคทั่วประเทศจำนวนหนึ่ง ได้ทำการฉีดสารทึบรังสีให้ผู้ป่วยขณะถ่ายภาพเอกซเรย์ และก็เป็นที่แคลงใจว่า ฉีดได้หรือ?  หลายคนกลัวความผิดเพราะรู้ดีว่า เป็นการปฏิบัติเกินหน้าที่ หลายคนอึดอัดใจทำไปเพราะเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่ดีต่อผู้ป่วยจะติดคุกไหม?  เป็นปัญหาโลกแตกจริงๆ

พยาบาลมีความชัดเจนมาก ในเรื่องนี้เพราะใน พ.ศ. 2551 สภาการพยาบาลได้มี ประกาศห้ามมิให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง หรือผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง ให้ยาหรือสารละลายกลุ่มสารละลายทึบรังสีทางหลอดเลือดดำ โดยไม่มีเงื่อนไข  (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนพิเศษ 4ง หน้า 103 วันที่ 7 มกราคม 2551) ชัดเจนมากครับ

นักรังสีเทคนิคได้รับผลกระทบนี้โดยตรงเพราะเป็นหนึ่งในทีมสุขภาพ ถ้าพยาบาลไม่ฉีด แล้วใครจะฉีด โดยหน้าที่แพทย์เป็นผู้ฉีด (พรบ.วิชาชีพเวชกรรม...เล่ม 99 ตอนที่ 111 วันที่ 11 สิงหาคม 2525 ฉบับพิเศษ หน้า 1)  ปัจจุบันความเจริญของเทคโนโลยีต่างๆมันมากเหลือเกิน ซึ่งเราทุกท่านทราบดี บางอย่างแพทย์คนเดียวทำไม่ไหวแล้ว ภาระงานมันล้นมือ ว่าที่จริงทุกวิชาชีพก็ภาระงานมากด้วยกันทั้งนั้น มองหน้ากันไปมา นักรังสีเทคนิคจะถ่ายภาพรังสีได้อย่างไรในเมื่อผู้ป่วยยังไม่ได้ฉีดสารทึบรังสี นักรังสีเทคนิคซึ่งอยู่หน้างานบางคน จำเป็นต้องกลั้นใจตัวเองฉีดสารทึบรังสีให้ผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยรอไม่ได้ น่าเห็นใจทั้งผู้ป่วยและนักรังสีเทคนิคจริงๆ

ในการประชุมวิชาการรังสีเทคนิคประจำปีครั้งที่ 16 ที่ชลจันทร์ พัทยา รีสอร์ท เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2551 สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย ได้จัดให้ผู้เข้าร่วมประชุมพบกับ ก.ช. ในรูปแบบของการอภิปรายอย่างเต็มอิ่ม นาน 4 ชั่วโมงเต็ม ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย ก.ช. 5 ท่าน นำโดย รศ.จิตต์ชัย สุริยะไชยากร ประธาน ก.ช.ในขณะนั้น ร่วมด้วยนายสละ อุบลฉาย นายกสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย คุณอำไพ อุไรเวโรจนากร รศ.ชวลิต วงษ์เอก และผมเป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

ในครั้งนั้น เรื่องที่พูดวิจารณ์กันนานที่สุด และกลายเป็นประเด็นร้อนแรงคือ เรื่องประกาศของสภาการพยาบาล ที่ห้ามมิให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง หรือผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง ให้ยาหรือสารละลายทางหลอดเลือดดำ นั่นแหล่ะ ในทางปฏิบัติเมื่อพยาบาลไม่ฉีด แล้วนักรังสีเทคนิคจะวางตัวอย่างไร จะให้ฉายเอกซเรย์อย่างเดียวหรือจะให้ทำอย่างไร ซึ่งโดยข้อเท็จจริง ในการปฏิบัติงานของชาวรังสีบางคนก็ได้ทำตรงนี้อยู่แล้ว ทั้งที่รู้ว่าทำไม่ได้ อย่างที่กล่าวไปแล้ว ต่อไปนี้จะให้ชาวรังสีทั้งหลายทำอย่างไร ทุกคนอึดอัดมากในเรื่องนี้ มีการถกกันอย่างเคร่งเครียด ซึ่งมีความเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมแยกเป็นสองส่วน
ส่วนหนึ่งมีความเห็นว่า นักรังสีเทคนิคควรฉีด เพราะ ควรเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส เป็นการเปิดโอกาสให้ชาวรังสีทั้งหลาย ได้ทำหน้าที่นี้ถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งไม่ควรจะปล่อยให้ผู้ป่วยนอนรอด้วยความเสี่ยง เราควรเป็นผู้ที่เปี่ยมด้วยความเมตตา ยึดความอยู่รอดของผู้ป่วยเป็นหลัก เอาผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง และในสภาพการณ์ปัจจุบัน ก็มีชาวรังสีจำนวนไม่น้อยที่ทำหน้าที่ฉีดทั้งที่ไม่มีหน้าที่จึงทำให้เกิดความอึดอัดมาก
อีกส่วนหนึ่งมีความเห็นว่า นักรังสีเทคนิคไม่ควรฉีด เพราะไม่ได้ฝึกทำเรื่องนี้อย่างถูกต้อง ในหลักสูตรที่เรียนในมหาวิทยาลัยก็ไม่มีการสอนเรื่องนี้ และที่สำคัญคือนักรังสีเทคนิคไม่มีหน้าที่ตรงนี้ หากเกิดอะไรกับผู้ป่วยทั้งที่เราทำไปด้วยความเมตตา แต่ทำให้ผู้ป่วยเดือดร้อนหนักขึ้นและเราก็เดือดร้อนด้วยเพราะจะถูกฟ้องร้องได้ ชาวรังสีหรือพยาบาลไม่ใช่ขาดความมีเมตตาหากไม่ทำตรงนี้ และเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส แต่เป็นเรื่องวิกฤติของคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงแต่ทำเฉยๆ แล้วทำไมเราจะต้องไปรับวิกฤติของเขาเหล่านั้นมาใส่ตัวเรา เป็นเรื่องไม่ควรอย่างยิ่ง ควรนิ่งไว้ก่อนดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ทั้งก่อนหน้านั้นจนถึงบัดนี้ การฉีดสารทึบรังสีหรือสารเภสัชรังสี ยังคงเป็นหนามยอกอก เป็นฝันร้าย ของนักรังสีเทคนิค และคงจะเป็นต่อไปอีกไม่มีข้อยุติ  จึงทำให้มีเรื่องความเดือดร้อนของนักรังสีเทคนิคจำนวนหนึ่ง ส่งมาถึงคณะกรรมการวิชาชีพเพื่อขอให้ช่วยเหลือ

ในปี พ.ศ. 2552 กองการประกอบโรคศิลปะ (ตอนนี้คือ สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ) โดยคณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ได้จัดทำ ร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบโรคศิลปะ ของผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค พ.ศ. .... และได้เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสีย ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ซึ่งข้อคิดเห็นต่างๆได้ถูกรวบรวมนำมาปรับเนื้อหาของร่างฯให้มีความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากขึ้น

ต่อมาล่าสุดวันที่ 20 กันยายน 2555 สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (เดิมคือกองการประกอบโรคศิลปะ) คณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค และคณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ได้จัดให้มีการสัมมนารับฟังความคิดเห็น ร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบโรคศิลปะ ของผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค พ.ศ. ....  อีกครั้ง ที่โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี มีอาจารย์ผู้แทนจากสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคทั่วประเทศ และนักรังสีเทคนิคทั่วประเทศเข้าร่วมในการสัมมนาจำนวน 100 คน
ผู้ร่วมอภิปราย 5 ท่าน คือ นพ.ธารา ชินะกาญจน์ (ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ) นางจันทนา จินดาถาวรกิจ (ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ) นายดนัย สุวรรณา (กลุ่มกฎหมาย สนง.ปลัดกระทรวงสาธารณสุข) นายวรสิทธิ์ กาญจนสูตร (ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา) และนางสาวอำไพ อุไรเวโรจนากร (ประธานคณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ)

มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้อภิปรายและผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจตรงกันมากขึ้นว่า อะไรเป็นข้อจำกัดที่นักรังสีเทคนิคไม่สามารถทำได้เพราะอยู่นอกเหนือสมรรถนะ ผมขอสรุปประเด็นสำคัญๆที่มีการแสดงความเห็นกันตามมุมมองของผมให้ชาวเราได้ทราบเพื่อร่วมกันคิดเรื่องนี้ไปด้วยกัน และก็ยังสามารถส่งข้อคิดเห็นไปยัง ก.ช. ได้เรื่อยๆครับ
ข้อจำกัดหรือการกระทำที่เกินสมรรถนะ
มุมมองของนักกฎหมายมองว่า ข้อจำกัดไม่ใช่สิ่งที่ไม่สามารถทำได้ หากแต่กระทำได้ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่ายของผู้มีส่วนได้เสีย

จากกฤษฎีกากำหนดให้สาขารังสีเทคนิคเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะฯ (เล่ม 119 ตอนที่ 6923 กรกฎาคม 2545) สมรรถนะและมาตรฐานวิชาชีพสำหรับนักรังสีเทคนิค ที่ประกาศโดยคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค (เล่ม 125 ตอนพิเศษ 17924 พฤศจิกายน 2551) และระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการรักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพของผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค (เล่ม 121 ตอนพิเศษ 9531 สิงหาคม 2547) ได้กำหนดความหมายของรังสีเทคนิค สมรรถนะและมาตรฐานวิชาชีพสำหรับนักรังสีเทคนิคในแต่ละด้าน รวมถึงจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ซึ่งทั้งหมดนั้น เป็นกรอบมาตรฐานที่บอกว่า นักรังสีเทคนิคทำอะไรได้บ้าง หลักสูตรที่ใช้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคของทุกสถาบัน ต้องมีความสอดคล้องอย่างยิ่งกับมาตรฐานนี้

ดังนั้น การกระทำอันได้แก่
การเจาะหลอดเลือดดำหรือหลอดเลือดแดง
การสวนปัสสาวะ
การฉีดสารทึบรังสีหรือสารเภสัชรังสี
การเตรียมสารกัมมันตรังสีแบบปิดผนึกหรือสอดใส่สารกัมมันตรังสีโดยตรง
และวินิจฉัยโรคจากผลของการตรวจทางรังสีวิทยา
 เป็นต้น  
จึงเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือหรือเกินกว่าสมรรถนะของนักรังสีเทคนิค ซึ่งสถาบันการศึกษาก็ไม่ได้สอนเรื่องนี้
ฉะนั้น หากนักรังสีเทคนิคทำสิ่งที่กล่าวข้างต้นในขณะนี้ ก็ถือได้ว่า ทำในสิ่งที่สมรรถนะไม่ได้กำหนดไว้

เงื่อนไขของการปฏิบัติ
ในมุมองของนักกฎหมาย  เงื่อนไขเป็นข้อกำหนดที่เป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่ายของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้ผู้ใดผู้หนึ่งกระทำในสิ่งที่อยู่นอกเหนือสมรรถนะตามกฎหมาย ดังนั้น ในการประกอบโรคศิลปะของนักรังสีเทคนิค หากจำเป็นต้องทำในสิ่งที่เกินกว่าที่สมรรถนะกำหนดไว้ อันนี้จำเป็นต้องมีการกำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจนว่า อย่างไรจึงจะสามารถทำได้

แล้วเรื่องนี้จะไปทางไหน ในที่สุดแล้วจะเอาอยู่ไหม จะให้การทำถูกในสิ่งที่ผิดดำเนินต่อไป หรือจะดำเนินการต่อไปอย่างไร จะมีความชัดเจนในการปฏิบัติไปในทิศทางใด ที่กระทำเกินสมรรถนะอยู่ตอนนี้จะเอาอย่างไรกันดี  และอีกหลายๆคำถามที่ยังคาใจของชาวเรา ทั้งหมดนั้นขึ้นกับการให้ข้อมูลความคิดเห็นข้อเสนอแนะของชาวเราที่มีส่วนได้เสียโดยตรงและผู้มีส่วนได้เสียภาคส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อม 

Related Links:

วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

เก็บตก..การเตรียมพร้อม(อนาคต)ของรังสีเทคนิคไทยสู่ประชาคมอาเซียน


เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2555 สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ คณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค และคณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ได้จัดให้มีการสัมมนารับฟังความคิดเห็น ร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบโรคศิลปะ ของผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค พ.ศ. .... ที่โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี มีอาจารย์ผู้แทนจากสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคทั่วประเทศ และนักรังสีเทคนิคทั่วประเทศเข้าร่วมในการสัมมนาจำนวน 100 คน

ช่วงเช้า
นพ.ธารา ชินะกาญจน์ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการสัมมนา
จากนั้น มีรายการอภิปราย “ร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบโรคศิลปะ ของผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค พ.ศ. ....” ผู้ร่วมอภิปราย 5 ท่าน คือ นพ.ธารา ชินะกาญจน์ (ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ) นางจันทนา จินดาถาวรกิจ (ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ) นายดนัย สุวรรณา (กลุ่มกฎหมาย สนง.ปลัดกระทรวงสาธารณสุข) นายวรสิทธิ์ กาญจนสูตร (ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา) และนางสาวอำไพ อุไรเวโรจนากร (ประธานคณะอนุกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคด้านจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ)
มีการรับฟังความคิดเห็น ร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบโรคศิลปะ ของผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค พ.ศ. .... จากผู้อภิปรายและผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจตรงกันมากขึ้นว่า อะไรเป็นข้อจำกัดที่นักรังสีเทคนิคไม่สามารถทำได้เพราะอยู่นอกเหนือสมรรถนะ เช่น การเจาะหลอดเลือดดำหรือหลอดเลือดแดง การสวนปัสสาวะ การฉีดสารทึบรังสีหรือสารเภสัชรังสี การเตรียมสารกัมมันตรังสีแบบปิดผนึกหรือสอดใส่สารกัมมันตรังสีโดยตรง และวินิจฉัยโรคจากผลของการตรวจทางรังสีวิทยา เป็นต้น และอะไรเป็นเงื่อนไขเมื่อนักรังสีเทคนิคจำเป็นต้องทำในสิ่งที่อยู่นอกเหนือสมรรถนะของนักรังสีเทคนิค

ช่วงบ่าย
มีการบรรยายเรื่อง ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กับวงการแพทย์ไทย โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม คชินธร คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
และการบรรยายเรื่อง การเตรียมพร้อม(อนาคต)ของรังสีเทคนิคไทยสู่ประชาคมอาเซียน โดยผมเองครับ รองศาสตราจารย์มานัส มงคลสุข หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล รู้สึกหนักใจมากเพราะพูดเป็นคนสุดท้ายแล้วปิดงานเลย จะมีคนฟังไหมเพราะหลายคนเดินทางมาจากต่างจังหวัด ต้องรีบกลับหรือเปล่า แถมยังพูดตามหลังท่านคณบดีฯด้วย จึงหนักใจเป็นทวีคูณ ยิ่งได้ฟังท่านคณบดีฯพูดจบแล้วยิ่งหนักใจใหญ่เลย เพราะท่านพูดได้ดีมากและได้เนื้อความครอบคลุมครบถ้วน แล้วคราวนี้ผมจะพูดอะไรล่ะ
หลังจากพักรับประทานกาแฟแล้ว ถึงเวลาต้องพูด มีชาวเราเหลืออยู่ประมาณครึ่งหนึ่งก็โอเคแล้ว จึงสวมวิญญาณวิทยากรขึ้นพูด 1 ชั่วโมง งงตัวเองเหมือนกันว่าพูดไปได้ยังไงตั้ง 1 ชั่วโมงทั้งที่ตอนแรกหนักใจ

รายละเอียดที่พูดส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาผสมกันระหว่างภาคการศึกษาและองค์กรวิชาชีพรังสีเทคนิค ซึ่งสามารถอ่านได้ในบทความ การเตรียมพร้อมของสถาบันผู้ผลิต บัณฑิตสาขารังสีเทคนิค สู่ประชาคมอาเซียน


และได้เติมเรื่อง ลำดับเวลาวิชาชีพรังสีเทคนิค เพื่อเตือนความทรงจำดังนี้

ทิ้งท้ายเป็นการจบการบรรยายด้วยเรื่องเบาๆว่า

ทุกๆเช้า กวางมันรู้ตัวเองว่า มันจะต้องวิ่งให้เร็วกว่าเสือที่วิ่งเร็วที่สุด มิฉะนั้น มันจะถูกเสือวิ่งไล่ทันและจับเป็นอาหาร
ทุกๆเช้า เสือมันรู้ตัวเองว่า มันต้องวิ่งให้เร็วกว่ากวางที่วิ่งช้าที่สุด เพื่อจับกวางตัวนั้นมาเป็นอาหารให้ได้ มิฉะนั้นเสือมันก็จะอดตาย
ไม่ว่าเสือหรือกวาง ต่างก็ต้องวิ่งให่เร็วที่สุดเพื่อความอยู่รอด
แล้วเรานักรังสีเทคนิคล่ะ จะเป็นกวางที่วิ่งช้ากว่าเสือ หรือจะเป็นเสือที่วิ่งช้ากว่ากวาง หรือไม่เป็นอะไรทั้งนั้น

 สวัสดี