วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

บัณฑิตคุณภาพในศตวรรษที่ 21


คราวนี้ขอเริ่มด้วยการแนะนำให้รู้จักกับ ThaiPOD แบบพอรู้จักเล็กๆน้อยๆครับ เพราะผมได้มีโอกาสไปประชุม National Conference ครั้งที่ 6 เรื่อง การศึกษามุ่งผลลัพธ์: ก้าวสู่บัณฑิตคุถณภาพในศตวรรษที่ 21 (Progressing towards the 21 Century Quality Graduates) ระหว่างวันที่ 28-29 กรกฎาคม 2554 ที่โรงแรมดิอิมพีเรียล ควีนปาร์ค สุขุมวิท กรุงเทพฯ
ThaiPOD ย่อมาจาก The Association of Thailand Professional and Organizational Development หมายถึง สมาคมเครือข่ายพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ควอท.) หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ThaiPOD มีความเป็นมาอย่างไร สามารถอ่านเพิ่มเติมได้โดย click>>>
พบเพื่อนเก่า
วันแรกของการประชุม พบเพื่อนพี่น้องสมัยเรียนที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยด้วยกันหลายคน พูดคุยกันสนุกสนานมาก ที่พิเศษหน่อยคือ รศ.กัลณกา สาธิตธาดา ซึ่งเป็นรุ่นพี่ แรกๆท่านเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า บางมด ปัจจุบันเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และเป็นคณะกรรมการบริหารThaiPOD ด้วย ก็เลยทำให้เห็นภาพของ ThaiPOD ชัดเจนขึ้น
นิยามมหาวิทยาลัยที่เรารู้จัก
เรามักจะเข้าใจว่า มหาวิทยาลัย คือสถานศึกษาที่นักศึกษาเข้ามาเรียนเพื่อให้ได้ปริญญาในระดับสูง ขณะเดียวกันก็มีอาจารย์ที่นอกจากจะทำหน้าที่สอนแล้ว ยังต้องทำวิจัยด้วย
นิยามมหาวิทยาลัยที่เราไม่รู้จัก
ในภาวะโลกไร้พรมแดน และความเจริญของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ถ้านักศึกษาและอาจารย์สามารถร่วมกันสร้างความรู้ขึ้นใหม่ๆขึ้นมาได้มาก มหาวิทยาลัยจะเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดในการพัฒนาคนและความรู้ นิยาม/ความคิดนี้จะส่งผลให้มหาวิทยาลัยเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ทั้งเรื่องวัฒนธรรมการเรียนรู้ และกระบวนการในการเรียนรู้ ที่ไม่ใช่มีแต่ Lecture-based learning แต่จะเป็นการผสมผสานวิธีการต่างๆเข้าด้วยกัน ตามความเหมาะสม ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เช่น Problem-based learning, Project-based learning, Service learning ฯลฯ
การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง (Civic Education) โดยบทบาทของอาจารย์ต้องสอนให้นักศึกษาเป็นกำลังของเมือง (พลเมือง = พละ+เมือง) ไม่ใช่สอนให้เป็นภาระของเมือง (ภาระเมือง) (ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายเรื่อง อุดมศึกษากับการพัฒนาความเป็นพลเมือง)
สอนให้นักศึกษาเข้าใจปัญหา มองเห็นถึงต้นเหตุของปัญหา ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่เกิดที่คน ต้องแก้ที่คน หากมองในภาพใหญ่ ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์วุ่นวายรุนแรงทางการเมืองมา 4 ครั้งแล้ว ตั้งแต่ ตุลาคม 2516, ตุลาคม 2519, พฤษภาคม 2535, เมษา-พฤษภา 2553 และจะเกิดครั้งที่ 5 ขึ้นอีก เพราะคนไม่รู้ว่าปัญหาทั้งหลายนั้นอยู่ที่คน ทำให้เกิดคำถามว่า ประชาธิปไตยไม่เหมาะกับประเทศไทยใช่หรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ มีตัวอย่างเยอะมากในต่างประเทศ ในช่วงกว่า 200 ปีที่ผ่านมา ที่ประเทศประชาธิปไตยเกิดเหตุวุ่วายฆ่ากันตายเป็นหมื่นเป็นแสน แต่ปัจจุบันประเทศเหล่านั้นเจริญรุ่งเรือง
มีความเห็นของนักศึกษาที่มองคนไทยว่ามีลักษณะเด่นอะไรบ้าง สิ่งหนึ่งที่สะท้อนได้เจ็บๆ คันๆ คือ นักศึกษาเห็นว่า คนไทยนั้น
สิทธิ      >>>>>         ชอบทวง
หน้าที่    >>>>>         ไม่ชอบทำ
เสรีภาพ  >>>>>         ชอบใช้
ประชาธิปไตยอำนาจเป็นของปวงชนชาวไทย ต้องสอนให้นักศึกษาเข้าใจถึงความเสมอภาค เคารพความเห็นที่แตกต่าง นักศึกษาจะมีระบบ Seniority นักศึกษาปี 4 คุมปี 3,2,1 นักศึกษาปี 3 คุมปี 2,1 และนักศึกษปี 2 คุมปี 1 เป็นลำดับลงมาตามแนวดิ่ง เมื่อนักศึกษาปี 1 ขยับขึ้นปี 2 ก็ทำตามแบบที่รุ่นพี่ปูทางเอาไว้ (อ่านลิงเหมือนคน) ดังนั้นในช่วงเปิดเทอมภาคต้นทุกปีระหว่างเดือนมิถุนายน-ต้นกรกฎาคม จะเป็นช่วงของ รับน้อง หรือมหกรรมการทำลายความเสมอภาค ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตยและความเป็นพลเมืองที่ดี คำถามคืออาจารย์พร้อมไหม
มีสถิติผู้หญิงไทยที่ถูกข่มขืนนั้น ประมาณ 40% เกิดจากแฟนของตัวเอง และมีจำนวนมากที่ท้องก่อนวัยอันควร และทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับ สื่อ-สิ่งพิมพ์ลามก ละครโทรทัศน์ประเภทตบจูบหรือน้ำเน่า ที่แพร่ภาพในช่วงเวลาดีๆที่มีคนดูกันทั้งบ้านทั้งเมือง เพราะดูแล้วซึมซับพฤติกรรมของตัวละคร แล้วก็นำไปใช้ในชีวิตจริงกันโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้ เรื่องนี้ อยู่ที่คน อยู่ที่เรา ผู้สร้างละครก็ทำละครตามผลสำรวจความนิยม คนที่ให้ความเห็นว่าชอบดูประเภทตบจูบคือเรา แสดงว่าเราคือผู้สร้างปัญหา ถ้าไม่แก้ที่เราแล้วจะแก้ที่ใคร ถ้าเราไม่อยากดูผู้สร้างก็ไม่สร้างเพราะโฆษณาไม่สนับสนุนเลย นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการเป็นพลเมืองที่ดีจะต้องเป็นอย่างไร
ทิ้งท้ายด้วยข้อความที่น่าคิดว่า
เปลี่ยนที่ตน   >>>>   มหาวิทยาลัยจะเปลี่ยน   >>>>   ประเทศจะเปลี่ยน
มุมมองของต่างชาติ
ศาสตราจารย์ Gerald W. Fry จากมหาวิทยาลัย Minnessota อเมริกา บรรยายเรื่อง “Reform Education: Reform Your Country” ได้กล่าวถึง วิกฤติของการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทยไว้ได้อย่างแซบทรวง เป็นมุมมองที่ท่านบอกว่ามันไม่ควรใช้คำว่า reform ควรใช้ revolution จะดีกว่า ต้องให้เหมือน tsunami ที่เกิดที่ญี่ปุ่น มีประเด็นเด่นๆที่ท่านพูดแบบเน้นๆ เยอะมาก และเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้บริหาร อาจารย์ ต้องหยุดคิด ขอยกตัวอย่างบางประเด็นเด็ด ดังนี้คือ อุดมศึกษาของไทยนั้น
Escalating costs ใช้จ่ายสูงไปกับสิ่งที่ได้กลับมาแบบไม่ค่อยคุ้มค่า
Esoteric research ผลงานวิจัยที่รู้กันในวงแคบๆ ซึ่งแทบจะไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อะไรได้อย่างจริงจัง เพียงแค่ให้ตัวเองได้ตำแหน่งทางวิชาการหรือเลื่อนตำแหน่งเท่านั้น
Emphasis on quantity คุณภาพไม่ค่อยเน้น ไปเน้นที่จำนวนเอาให้มากเข้าไว้

          เจ็บจี๊ดครับ

Related Links:
1.Thai education expert Fry delivers strong message on reforms
      2.ThaiPOD The Association of Thailand Professional and Organizational Development
      3.การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง


วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วิพากษ์พิมพ์เขียวรังสีเทคนิคมหิดล

ขอเล่าเรื่อง ซึ่งเป็นการเก็บตกจากการประชุมวิพากษ์หลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิค พ.ศ. 2554 ของมหิดล เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2554 ที่อาคารวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการแพทย์ ศาลายา
ก่อนอื่นขอขอบคุณผู้เข้าร่วมวิพากษ์หลักสูตรทุกท่าน ซึ่งภาควิชารังสีเทคนิคได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากผู้วิพากษ์หลักสูตร ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ใช้บัณฑิต ศิษย์เก่า อาจารย์จากคณะสังคมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณาจารย์ภาควิชารังสีเทคนิค ประมาณกว่า 30 ท่าน
ความเป็นมา
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ขอย้อนไปดูข้อมูลที่ผ่านมาอีกนิดครับ สำหรับหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขารังสีเทคนิค ที่กำลังปรับปรุงนี้ เป็นหลักสูตรที่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ (สกอ.) ให้การรับรองตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2551 และคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค ได้ให้การรับรองมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันผลิตบัณฑิตสาขารังสีเทคนิคโดยใช้หลักสูตรนี้ตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการวิชาชีพกำหนด ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2554 ถึง วันที่ 4 มกราคม 2559
อย่างไรก็ตามหลักสูตรนี้ต้องปรับปรุงตามวงรอบใหญ่ 5 ปีอยู่แล้ว ซึ่งตั้งแต่หลักสูตรนี้ถูกใช้งาน ภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ใช้กระบวนการในการ PDCA ในการประกันคุณภาพ ในวงรอบทุกปี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีการวิเคราะห์ผลกระทบต่อการผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคอย่างสม่ำเสมอ ประกอบกับช่วงนี้ เป็นช่วงเวลาที่ สกอ. ประกาศใช้กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา TQF โดยมีแนวปฎิบัติคือ ให้หลักสูตรเดิม หมายถึงหลักสูตรที่ใช้ผลิตบัณฑิตในขณะนี้ ต้องปรับให้เป็นไปตาม TQF ให้ทันใช้ในภาคต้นปีการศึกษา 2555 ดังนั้น สิ่งที่ต้องเร่งจัดทำให้สอดคล้องตาม TQF ได้แก่

มคอ 1 หมายถึง มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขารังสีเทคนิค หรือ พิมพ์เขียวรังสีเทคนิคระดับประเทศ ผมและอาจารย์ในภาควิชาส่วนหนึ่ง ได้เข้าร่วมประชุม RT Consortium หมายถึงที่ประชุมสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค 7 สถาบัน เพื่อจัดทำจนสำเร็จ ใช้เวลาจัดทำประมาณ 2 ปี ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้นประมาณ 1 ล้านบาท
มคอ 2 หมายถึง รายละเอียดหลักสูตร (Program Specification) วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิค หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2554 หรือพิมพ์เขียวระดับสถาบันผู้ผลิต
มคอ 3 หมายถึง รายละเอียดของรายวิชา เป็นรายวิชาที่จัดการเรียนการสอนแบบ บรรยายหรือปฏิบัติ
มคอ 4 หมายถึง รายละเอียดของประสบการณ์ภาคสนาม เป็นรายวิชาฝึกงาน
ในส่วนของ มคอ 2,3,4 นั้น คณาจารย์ของภาควิชารังสีเทคนิคทุกคน ช่วยกันระดมสมองจัดทำอย่างแข็งขัน ในรูปคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรฯ(คณะแต่งตั้ง) ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิและอาจารย์ของภาควิชาทุกท่าน และคณะกรรมการรับผิดชอบการปรับปรุงหลักสูตรฯ (ของภาควิชาฯ) และวันที่ 21 กรกฎาคม 2554 จึงได้มีการประชุมเพื่อวิพากษ์หลักสูตร มคอ 2 ขึ้น

ข้อคิดเห็นจากการวิพากษ์หลักสูตร
จากการวิพากษ์หลักสูตรเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2554 จุดตั้งต้นอยู่ที่อัตตลักษณ์ของบัณฑิตรังสีเทคนิคมหิดล ซึ่งภาควิชารังสีเทคนิคกำหนดให้ต้องมีสมรรถนะตามที่คณะกรรมการวิชาชีพฯกำหนด และ
1.มีความสามารถโดดเด่นด้านวิชาชีพรังสีเทคนิค
2.มีลักษณะตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดคือ มุ่งประโยชน์สุขเพื่อมวลมนุษยชาติ เป็นคนดี มีปัญญา นำพาสุข
3.มีศักยภาพรอบด้าน
นอกจากนี้ ผมได้เก็บเกี่ยวและรวบรวมข้อคิดเห็นและประเด็นต่างๆ ที่ผู้เข้าร่วมวิพากษ์มีต่อหลักสูตร ดังนี้
จุดเด่น
           
หลักสูตร
เป็นหลักสูตรที่ดี มีฐานความเป็นวิทยาศาสตร์และวิชาชีพรังสีเทคนิค
ผลลัพธ์
1.บัณฑิตสามารถทำงานในวิชาชีพได้ดี และเรียนรู้ได้เร็ว
2.บัณฑิตสามารถศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาได้ในหลายสาขาวิชา โดยเฉพาะการศึกษาต่อในสาขาฟิสิกส์การแพทย์นั้น ของเราศึกษาต่อได้ แต่รังสีเทคนิคในต่างประเทศการที่จะไปเรียนต่อฟิสิกส์การแพทย์เป็นเรื่องยากมาก

จุดที่ควรพิจารณา
เนื้อหา
วิชาพื้นฐาน
ควรมีวิชาด้าน Micro Biology, Molecular Imaging เหตุผลคือ เพิ่มช่องทางการทำวิจัยและเข้าใจโรค
กระบวนการจัดการเรียนการสอน
การฝึกงาน
1.เพิ่มเวลาในการฝึกงานให้มากขึ้น
2.เลือกสถานที่ฝึกงานให้เหมาะสม  มี case มากพอ อาจารย์ที่ดูแลฝึกงานมีความพร้อม และให้นักศึกษาสามารถฝึกงานได้จริง
3.ปรับปรุงกระบวนการเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาก่อนฝึกงานให้ดียิ่งขึ้น
3.เกณฑ์ในการวัดผลควรชัดเจน
วิจัย
แม้บัณฑิตรังสีเทคนิคจบไปไม่ได้เน้นทำงานวิจัย แต่ควรมีพื้นฐานการวิจัยเพิ่มขึ้น
ทักษะอื่นๆ
ควรเน้นเพิ่มขึ้นในเรื่อง
1.Service mind, emotional control, problem solving, analytical thinking
2.ทักษะการปฏิสัมพันธ์กับคน (Social skill)
3.ความสนใจในศาสตร์อื่นๆ
4.Productive skills ด้านภาษาอังกฤษโดยเฉพาะการพูดและการเขียน
5.พื้นความรู้ในการบริหารจัดการ
การบริหารหลักสูตร
กำลังคน
วางแผนจำนวนอาจารย์ให้ชัดเจน
งบประมาณ
ทำแผนงบประมาณให้ชัดเจน
อื่นๆ
ประชาสัมพันธ์
เพิ่มการประชาสัมพันธ์หลักสูตรให้มากขึ้น

ข้อคิดเห็นและประเด็นต่างๆนี้ จะได้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการรับผิดชอบการปรับปรุงหลักสูตรฯ ในวันอังคารที่ 26 กรกฎาคม 2554 เพื่อสรุปเป็นร่าง มคอ1,2,3 ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และดำเนินการต่อไปอย่างเร่งด่วน

ขั้นตอนที่ขัดกันของการเสนอปรับหลักสูตร
มีประเด็นที่เกี่ยวกับขั้นตอนในการดำเนินการปรับหลักสูตร ที่ต้องให้ความสนใจพิเศษคือ สกอ.จะรับพิจารณาหลักสูตรที่สภาวิชาชีพหรือคณะกรรมการวิชาชีพฯรับรองแล้ว
หมายความว่า สิ่งที่ควรจะเป็นคือ ร่างหลักสูตรที่เสนอไปยังสภามหาวิทยาลัยมหิดล จะต้องเสนอไปที่คณะกรรมการวิชาชีพฯพร้อมๆกันด้วย เพื่อทั้งสภามหาวิทยาลัยมหิดลและคณะกรรมการวิชาชีพฯ จะได้พิจารณาให้เสร็จก่อนส่งไป สกอ.
เมื่อดูบทบาทของคณะกรรมการวิชาชีพ ตามประกาศคณะกรรมการวิชาชีพฯ เรื่อง หลักเกณฑ์และแบบประเมินเพื่อการรับรองสถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตปริญญา หรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญา สาขารังสีเทคนิค พ.. ๒๕๕๑ นั้น เป็นการประเมินสถาบันซึ่งรวมหลักสูตรด้วย และใช้ระยะเวลาในการดำเนินการไม่เกิน 90 วันหรือ 3 เดือนหลังจากที่คณะกรรมการวิชาชีพได้รับแบบประเมินสถาบัน โดยที่แบบประเมินสถาบันนั้นต้องส่งโดยอธิการบดีด้วย ดังนั้น ระยะเวลาจริงที่ดำเนินการจะนานกว่า 3 เดือนหากนับจากที่ร่าง มคอ 2,3,4 จัดทำเสร็จแล้วโดยภาควิชาฯ
ระยะเวลาของการดำเนินการจริงก็เป็นปัญหาหนึ่ง อีกปัญหาหนึ่งที่ดูจะสำคัญมากกว่าคือ เกณฑ์ที่คณะกรรมการวิชาชีพกำหนดแนบท้ายประกาศนั้น มีการระบุว่า หลักสูตรของสถาบันที่จะขอรับการประเมินต้องได้รับการรับรองจาก สกอ. ซึ่งขัดแย้งกับ สกอ.ที่ว่า สกอ.จะรับพิจารณาหลักสูตรที่คณะกรรมการวิชาชีพรับรอง
ทางออกคืออะไร???........>>>>>>>>>>>>
ทางออกที่หนึ่ง ขอผ่อนผัน สกอ.ให้พิจารณาหลักสูตรที่ปรับปรุงไปก่อน โดยใช้เหตุผลว่า อยู่ในระหว่างการขอรับการประเมินสถาบันโดย คณะกรรมการวิชาชีพฯ ซึ่งเรื่องนี้มหาวิทยาลัยมหิดลมีแนวทางช่วยเหลืออยู่แล้ว แต่ภาควิชาฯจะต้องทำงานที่รับผิดชอบให้เต็มที่ก่อน
ทางออกที่สอง คณะกรรมการวิชาชีพฯ ทำการแก้ไขหลักเกณฑ์ท้ายประกาศ โดยให้สถาบันผู้ผลิต ยื่นขอรับการประเมินสถาบันได้เมื่อหลักสูตรอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภามหาวิทยาลัย หรืออาจแก้ไขให้สถาบันผู้ผลิตสามารถยื่นขอรับรองเฉพาะหลักสูตรก่อนเพื่อความรวดเร็ว และเพื่อสามารถยื่นหลักสูตรให้ สกอ. รับรองได้
ทางออกทั้งสองทางมีความเป็นไปได้ หากเป็นทางออกที่สอง คณะกรรมการวิชาชีพต้องรีบดำเนินการปรับแก้ไขเกณฑ์ และในอนาคต ควรมีกระบวนการในการประเมินหลักสูตร และการประเมินสถาบันเสียใหม่ ที่มีความคล่องตัวในการปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวทางของ สกอ. หรือสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินการ แต่ยังคงรักษาไว้ซึ่งคุณค่าและมาตรฐาน

Related Links:
ปัจจัยที่กระทบการผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค พ.ศ. 2555-2559
ผลกระทบประชาคมอาเซียน 2558
ยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทยสู่ประชาคมอาเซียน 2558
มคอ 1 : มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรีสาขารังสีเทคนิค

วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พิมพ์เขียวรังสีเทคนิค พ.ศ.2555-2559


ช่วงนี้ ประกายรังสีมีแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาด้านรังสีเทคนิค คือพอดีเป็นช่วงที่มีเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างเกิดขึ้น บางอย่างกำลังคืบคลานเข้ามา และมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค และเลยไปถึงผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิคด้วย คล้ายการเกิดแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นแล้วตามมาด้วยคลื่น Tsunami จึงจำเป็นต้องพูดถึงเรื่องนี้บ่อยๆ เพื่อเตรียมการรับมือ พอดีผมอยู่ในใจกลางของเหตุการณ์เหล่านี้ และมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ชุลมุลหมุนติ้วและสนุกดีเหมือนกัน จึงอยากบันทึกไว้เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันไปในทุกภาคส่วน แลกเปลี่ยนส่วนดีๆของกันและกัน เพื่อสร้างสิ่งที่ดี เหมาะสม และสังคมต้องการ ไม่ว่าจะเป็นคณาจารย์ในสถาบันผู้ผลิตต่างๆ ผู้ใช้บัณฑิต ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ผู้ปกครอง สมาคมวิชาชีพ คณะกรรมการวิชาชีพ
เริ่มต้นด้วยคำว่าพิมพ์เขียวระดับประเทศ ในที่นี้ผมหมายถึง มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรีสาขารังสีเทคนิคหรือ มคอ 1 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ของ สกอ. หรือ TQF กว่าจะได้พิมพ์เขียวชุดนี้มา คณาจารย์จากสถาบันผู้ผลิตทุกแห่ง ระดมสมองร่วมกันหลายครั้ง (RT Consortium) ใช้เวลานานเป็นปี ใช้งบประมาณรวมกันทั้งหมดเป็นล้านบาท ลำดับเหตุการณ์ (Milestones) เป็นดังนี้ครับ
เมษายน 2553 RT Consortium ครั้งที่ 6 ขอนแก่นเป็นเจ้าภาพ ประชุมกันที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ใช้เวลา 2 วัน คุยกันเรื่อง มคอ.1 ตอนนั้นเราไม่กล้าที่จะรับเป็นที่ปรึกษาของ สกอ. เพื่อทำ มคอ.1 เพราะเรายังไม่แน่ใจว่าจะทำได้ทันหรือไม่ เนื่องจากมีเวลาทำ 6 เดือนหลังจากตกลงกับ สกอ. แล้ว อย่างไรก็ตาม ที่ขอนแก่นเราได้คุยกันจนได้ คุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ Learning Outcome หรือมาตรฐานผลการเรียนรู้ 6 ด้าน
พฤศจิกายน 2553 RT Consortium ครั้งที่ 8 โรงเรียนรังสีเทคนิค โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นเจ้าภาพ ประชุมกันที่โรงแรมตะวันนา สุรวงศ์ กรุงเทพฯใช้เวลา 2 วัน คุยกันต่อลึกลงไปถึงเนื้อหาขั้นต่ำที่ รังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ควรมี รวมถึงการพิจารณา Curriculum Mapping ของรายวิชาในแต่ละสาขาจนครบถ้วน
ผลลัพธ์คือ สถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคทุกแห่งที่ผลิตหรือที่กำลังจะผลิตในอนาคต ต้องจัดทำหลักสูตรให้สอดคล้องกับ มคอ 1
แผนภูมขั้นตอนการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตตามกรอบ TQF

พิมพ์เขียวระดับสถาบันผู้ผลิต(มคอ 2)
มคอ 2 เป็นพิมพ์เขียวระดับสถาบันผู้ผลิตแต่ละแห่ง เป็นหลักสูตรด้านรังสีเทคนิคที่แต่ละสถาบันผู้ผลิตจัดทำขึ้นภายใต้กรอบของ มคอ 1 หรือพิมพ์เขียวระดับประเทศ สถาบันผู้ผลิตที่ดำเนินการหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขารังสีเทคนิค อยู่เดิมต้องปรับหลักสูตรให้เป็น มคอ 2 (รวม มคอ3 และ 4 ซึ่งเป็นรายละเอียดรายวิชาบรรยาย-ปฏิบัติ และรายวิชาฝึกงานภาคสนามตามลำดับ) และต้องทำให้เสร็จทันใช้ในปีการศึกษา 2555 สถาบันผู้ผลิตที่ดำเนินการหลักสูตรรังสีเทคนิคอยู่เดิมมีอยู่ 3 แห่ง คือ มหิดล เชียงใหม่ และนเรศวร ทั้ง 3 สถาบันนี้ต้องเร่งมือปรับหลักสูตรที่มีอยู่กันอย่างตั้งใจให้ทันและออกมาดีด้วย นเรศวรนำหน้าเพื่อนไปแล้ว คือเป็นสถาบันที่ได้ดำเนินการตามกรอบ TQF ไปแล้ว ส่วนของมหิดลและเชียงใหม่ อยู่ในขั้นตอนการจัดทำ ส่วนของสงขลานครินทร์ จุฬาฯ รามคำแหง ขอนแก่น อยู่ในระหว่างการจัดทำที่ไม่ติดกรอบเวลา คือไม่จำเป็นต้องให้ทันในปีการศึกษา 2555 เพราะ ต้องถือว่าเป็นหลักสูตรที่จัดทำขึ้นใหม่
ร่าง มคอ 2 หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขารังสีเทคนิค ของมหิดลจัดทำเสร็จแล้ว และมีการวิพากษ์หลักสูตรในวันที่ 21 กรกฎาคม 2554 ผู้ที่เข้าร่วมวิพากษ์หลักสูตรประกอบด้วย คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตร คณาจารย์ของภาควิชา ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกจำนวน 3 ท่าน ผู้ใช้บัณฑิตจำนวน 7 ท่าน ศิษย์เก่าจำนวน 7 ท่าน เมื่อผ่านกระบวนการนี้แล้ว ก็ส่งต่อไปยังคณะกรรมการกลั่นกรองหลักสูตรของมหาวิทยาลัย สภามหาวิทยาลัย และสกอ.ตามลำดับ แต่ก่อนส่งไปสกอ.ต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคเสียก่อน
จึงเห็นได้ว่า กระบวนการกว่าจะได้มาซึ่งหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขารังสีเทคนิค มีขั้นตอนสำคัญเยอะมาก และหากถามว่า ร่าง มคอ 2 ได้มาอย่างไร คำตอบคือ ได้จากการระดมสมองอย่างทุ่มเทของคณาจารย์ภาควิชารังสีเทคนิคมหิดลทุกคน เป็นเวลานานนับปี มีการวิเคราะห์ถึงสิ่งที่มีผลกระทบต่อการผลิตบัณฑิต เพื่อให้ร่าง มคอ 2 ออกมาสอดรับกับสถานการณ์หลายๆอย่าง เช่น ประชาคมอาเซียนในปี 2558, ทักษะมนุษย์ในศตวรรษที่ 21, Learning outcome ของมหาวิทยาลัยมหิดล, ความต้องการของตลาดแรงงาน, ฯลฯ
          จึงหวังว่า พิมพ์เขียวรังสีเทคนิคที่ได้กล่าวมาทั้งหมดโดยย่อนี้ จะตอบโจทย์ที่กล่าวข้างต้น เพื่อให้สังคมอบอุ่นใจ บัณฑิตสามารถอยู่รอดได้อย่างถูกต้อง และมีความสุข

Related Links:

วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ยินดีกับบัณฑิตใหม่รังสีเทคนิค

     บัณฑิตรังสีเทคนิคมหิดลประจำปีการศึกษา 2553 เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรที่หอประชุมกองทัพเรือ ในวันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม 2554 
     บัณฑิตรังสีเทคนิคมหิดล เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิค ซึ่งภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล รับผิดชอบในการดำเนินการจัดการศึกษา โดยรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมปลายสายวิทยาศาสตร์เข้าศึกษาเป็นเวลา 4 ปี ปีละ 60 คน โดยศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา และวิทยาเขตศิริราช และฝึกงานวิชาชีพรังสีเทคนิคในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลชั้นนำทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครร่วม 20 แห่ง
      หลักสูตรนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2508 ปัจจุบันมีบัณฑิตสำเร็จการศึกษาแล้ว 1,633 คน และในปีการศึกษานี้มีบัณฑิตรังสีเทคนิคมหิดลจำนวน 63 คน




Related Link:
ขันติเป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์
บัณฑิตรังสีเทคนิคมหิดลสอบผ่านใบประกอบครั้งแรก 91.9% ในปี 2554