วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2562

AI: ปัญญาประดิษฐ์เพื่อนซี้หรือผู้คุกคาม

อรัมภบท
นับจากที่ศาสตราจารย์เรินท์เกนค้นพบเอกซเรย์ เมื่อวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1895 หรือปี พ.ศ. 2438 ตอนนั้นก็น่าจะเกิด disruption ของการตรวจวินิจฉัยโรคครั้งใหญ่ เนื่องจากเอกซเรย์สามารถส่องดูอวัยวะภายในของมนุษย์ได้ ช่วยให้การวินิจฉัยโรคดีขึ้นมากมาย แต่ผู้คนก็จะต่อต้านในระยะแรกๆ เพราะคิดไปว่าเอกซเรย์จะเปิดเผยความลับส่วนตัวของพวกเขา 
     ปัจจุบัน เราลองหันไปดูรอบๆตัว มองจากสิ่งที่ใกล้ตัวออกไป มีหลายสิ่งเกิดขึ้น ที่เป็นผลมาจากการค้นพบองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้การดำรงชีวิตของเรามีความสะดวกสบายมากขึ้น ที่เห็นชัดๆ คือ โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์เครื่องเดียว คือ "ประตูที่เปิดสู่โลกกว้าง"  ซึ่งมีการใช้ AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์แบบที่เราก็ไม่รู้หรอกว่ากำลังใช้อยู่
เราได้ใช้ AI เข้าไปทำให้การดำเนินชีวิตของเราสะดวกสบายขึ้น ได้แก่ การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคล รถสาธารณะ หรือเดิน โดยใช้แอปพลิเคชันนำทาง เช่น Google Maps , Garmin และ MapQuest เพื่อให้บริการนำทางแบบเรียลไทม์ ซึ่งมีข้อมูลการจราจรตรงไหนรถติดหรือรถไม่ติด ความเร็วในการเดินทาง และการวางแผนการเดินทางโดยมันจะบอกเส้นทางที่เราต้องการจะไปและประมาณเวลาการเดินทางให้ ไม่ต้องกางแผนที่เป็นแผ่นเหมือนสมัยก่อนแล้ว สะดวกสบายมาก
หลายคนอาจจะเคยไปประเทศญี่ปุ่น และได้ใช้ Google Maps นำทาง เนื่องจากในกรุงโตเกียวมีรถไฟฟ้าหลายสายพันกันไปมาเหมือนเส้นหมี่ ขึ้นรถไฟผิดขบวนก็หลงกันเลย แต่ผู้เขียนได้ลองใช้แล้วทำให้การเดินทางในโตเกียวด้วยรถไฟฟ้าสะดวกมาก ยากที่จะหลง เพราะ Google Maps จะแนะนำเราได้ดีทีเดียว เช่น เราจะเดินทางจากโรงแรมที่พักไปชิบูยา ไปนั่งจิบกาแฟดูผู้คนข้ามถนนตรงห้าแยกชิบูยาอันเลื่องชื่อ Google Maps จะแนะนำเราว่าเริ่มต้นจากสถานีอะไร ใช้รถไฟฟ้าสายอะไรบ้าง ใช้เวลาเดินทางกี่นาที และเสียค่าโดยสารเท่าไร เป็นต้น
อีกตัวอย่างของการเดินทางที่ใช้ AI แล้วคือ Autopilot บนเครื่องบินเชิงพาณิชย์ ในอนาคตไม่นานจากนี้ไป AI จะช่วยให้รถยนต์ขับเคลื่อนไปไหนมาไหนได้เองโดยไม่ต้องมีคนขับ
นอกจากนี้ ยังมีการใช้ AI ทางด้านการธนาคาร e-mail การให้เกรดและการประเมินผล เครือข่ายทางสังคม (social network) ทั้ง Facebook, Instagram, YouTube และอื่นๆ Google Home ที่ใช้เสียงควบคุมการทำงานในบ้านเรา การซื้อขายแบบออนไลน์ Smart Watch ฯลฯ
กล่าวได้ว่า AI อยู่รอบตัวเราเต็มไปหมดแล้วในขณะนี้ ทำให้เกิดการพลิกโฉมการใช้ชีวิตของเราอย่างมาก เช่น คนเริ่มไม่ดูรายการสดทางโทรทัศน์ ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ที่พิมพ์เป็นแผ่นกระดาษ คนหันมาดูรายการจาก YouTube อ่านข่าว online ผ่านโทรศัพท์มือถือ ทำให้หนังสือพิมพ์ นิตยสาร โทรทัศน์บางช่อง ต้องปิดตัวลงไป รวมไปถึงคนเริ่มหันมาทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มากขึ้น ทั้งโอนเงินและจ่ายค่าบริการต่างๆ ไม่ต้องไปที่ธนาคารแล้ว ธนาคารเริ่มใช้พนักงานน้อยลง ตัวอย่างเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี่เอง ทำให้อาชีพบางอาชีพได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
เราน่าจะได้เห็นสิ่งต่างๆต่อไปนี้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น เช่น การพัฒนารถยนต์ที่ไร้คนขับ แชทอัตโนมัติสำหรับการธนาคารแบบ online หุ่นยนต์ที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวมันเอง แขนหุ่นยนต์อัจฉริยะสำหรับการผ่าตัด แอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือที่ใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น มัลติมีเดียที่ขับเคลื่อนด้วย AI การใช้ AI สำหรับขับเคลื่อนธุรกิจขนาดใหญ่ นวัตกรรมใหม่ๆในเบราว์เซอร์ google chrome เป็นต้น

AI ทางรังสีวิทยา
เมื่อพูดถึง AI เชื่อว่า สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงคือหุ่นยนต์ที่มีความฉลาดเหมือนในภาพยนต์เช่น Star War แล้ว AI ที่เกี่ยวข้องกับทางด้านรังสีวิทยาจะมีน่าตาเป็นอย่างไร?
เมื่อพูดถึงรังสีวิทยา ก็ต้องบอกว่า ศาสตร์ทางด้านนี้เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและเครื่องมือรังสีอย่างมาก เนื่องจากมีการใช้รังสีเพื่อการวินิจฉัยโรคและรักษาโรค โดยมีรังสีแพทย์ นักรังสีเทคนิค นักฟิสิกส์การแพทย์ เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น หากเราติดตามอย่างใกล้ชิดจะพบว่า มันมีวิวัฒนาการของมันอย่างสม่ำเสมอ ตลอดเวลาเช่นกัน
AI ได้ก้าวหน้าลุกคืบเข้ามาอย่างรวดเร็วในรังสีวิทยาแล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เอง  AI ได้กลายเป็นหัวข้อยอดนิยมในรังสีวิทยาที่มีการพูดถึงกันบ่อยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประชุมทางวิชาการของสมาคมคมรังสีวิทยาต่างๆ รวมถึงการวิจัยล่าสุดจำนวนมากด้วย
มีผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ AI เพิ่มมากขึ้น ที่ส่งไปยังวารสาร Radiology วารสารอย่างเป็นทางการของ RSNA (Radiological Society of North America) ซึ่งเป็นวารสารทางวิชาการที่มีความน่าเชื่อถือสูงมาก โดยที่ปรากฎว่า ในปี 2558 ไม่มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับ AI ตีพิมพ์แม้แต่เรื่องเดียว ในปีถัดมา 2559 มี 3 เรื่อง ปี 2560 มี 17 เรื่อง และในปัจจุบันพบว่ามีจำนวน 10% ของผลงานที่ส่งมาที่พิมพ์ทั้งหมดเลยทีเดียว จนทำให้ RSNA ออกวารสารทางวิชาการขึ้นใหม่อีกฉบับเรียกว่า Radiology: Artificial Intelligence เมื่อต้นปี 2562 นี้เอง นับว่าวงการรังสีทางการแพทย์ให้ความสำคัญใน AI อย่างมาก
หากเราจะลองค้นหางานวิจัยใน PubMed โดยใช้คำสำคัญว่า "Artificial Intelligence Radiology" ณ.วันนี้ มีผลงานวิจัยอยู่ในฐานข้อมูลมากกว่า 6,000 เรื่อง ให้เราได้ศึกษาติดตามอย่างจุใจกันเลยทีเดียว

มาทำความรู้จัก AI
ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำงานได้ตามปกติที่ต้องใช้ความฉลาดของมนุษย์ใส่เข้าไป เช่น การรับรู้ภาพ การรู้/จำเสียง การตัดสินใจ และการแปลภาษา เป็นต้น
อีกวิธีง่ายๆในการบอกว่า AI เป็นอย่างไรก็คือ AI เป็นความสามารถของโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือเครื่องที่จะคิดและ “ฉลาด” มันจะทำงานด้วยตัวเองโดยไม่ต้องเข้ารหัสด้วยคำสั่ง AI ประกอบด้วยสององค์ประกอบ คือ การเรียนรู้ของเครื่อง (ML: Machine Learning) และการเรียนรู้ด้วยสมองเหมือนโครงข่ายประสาทของมนุษย์ (CNN: Convolutional Neural Networks) ในทางรังสีวิทยา AI มักอ้างถึงส่วนนี้ เป็นส่วนประกอบขั้นสูงของการเรียนรู้แบบลึกซึ้ง (deep learning)
มีเทคโนโลยีหลายประเภทที่สนับสนุนเชื่อมโยงกับ AI เช่น หน่วยประมวลผลกราฟิก (graphics processing units) อัลกอริธึมขั้นสูง (advanced algorithms) อินเตอร์เฟสการประมวลผลแอปพลิเคชัน (application processing interfaces) และ Internet of Things (IoT) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่สามารถรวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูล
อัลกอริทึมของ AI เป็นเรื่องที่เข้าใจยากสำหรับเราๆที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ใช้ใน deep learning ขณะนี้มีสิ่งที่น่าทึ่งในวิธีการจดจำรูปภาพ (image recognition) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิธีการของ AI จะจำแนกรูปแบบที่ซับซ้อนในข้อมูลภาพโดยอัตโนมัติ และทำการประเมินเชิงปริมาณของลักษณะภาพ สำหรับส่วนนี้ deep learning ของเครือข่าย CNN นั้นทำงานในลักษณะเดียวกับสมองมนุษย์อัจฉริยะ และเลียนแบบการทำงานของเครือข่ายประสาทของมนุษย์ มันจำเป็นต้องอาศัยภาพซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกป้อนเข้าไป และเลเยอร์ที่ซ่อนอยู่อย่างน้อยหนึ่งชั้น (แม้ว่ามักจะมีหลายเลเยอร์) ของแถวประสาท ซึ่งเป็นหน่วยคล้ายเซลล์ประสาท และแต่ละหน่วยจะโต้ตอบกับหน่วยใกล้เคียง ในชั้นสุดท้ายของแถวประสาทประกอบด้วยชั้นผลลัพธ์ ในการดำเนินการนี้มีโปรแกรมที่ใช้บ่อยที่สุดใน AI คือ Python และ R
AI จะทำงานได้ดีต้องมีการเรียนรู้ก่อนเรียกว่า Machine learning ใช้เครือข่ายประสาท (neural networks) ตามที่กล่าวมาแล้ว ที่จะกล่าวเพิ่มเติมคือ ส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของเครื่อง คือ การเรียนรู้อย่างลึกล้ำซึ่งเป็นเทคนิคที่ข้อมูลถูกกรองผ่านเครือข่ายนิวรัลที่ปรับได้เองขนาดใหญ่พร้อมชั้นของหน่วยการประมวลผลที่ใช้ในการเรียนรู้รูปแบบที่ซับซ้อน การเรียนรู้อย่างลึกซึ้งสามารถควบคุมหรือไม่ควบคุมก็ได้
ขอยกตัวอย่างงานวิจัยของ Yasaka และคณะ ตีพิมพ์ในปี 2561 ได้ทำการศึกษาโดยใช้ CNN เพื่อจำแนกลักษณะของโรคตับห้าประเภทโดยใช้การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบไดนามิก [dynamic computed tomography scan] ผลลัพธ์ของงานวิจัยนี้ยืนยันว่า การวิเคราะห์ของ CNN แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการวินิจฉัยที่สูงในการบอกความแตกต่างของ masses ในตับของภาพซีทีชนิดนี้
อีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นงานวิจัยของ Kuo และคณะ จากมหาวิทยาลัย UC San Francisco และ UC Berkeley สหรัฐอเมริกา เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน 2562 ได้พัฒนา CNN แบบใหม่ที่ชื่อว่า PatchFCN เพื่อวินิจฉัยภาวะฉุกเฉินทางระบบประสาทจากภาพซีทีของสมองและตรวจหาภาวะเลือดออกในสมองเฉียบพลัน ปรากฏว่าสามารถระบุความผิดปกติที่มีความแม่นยำที่เทียบเท่ารังสีแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดี

ต้องกลัว AI หรือไม่?
จากตัวอย่างงานวิจัยที่ยกมาข้างต้น ซึ่งในความเป็นจริงมีงานวิจัยมากมายที่เปิดเผยออกมา คำถามคือ "AI จะมีความสามารถเหนือกว่ามนุษย์หรือไม่ น่ากลัวไหม หรือจะมีการใช้ AI ในด้านรังสีวิทยาอย่างไรในอนาคต"
มีผลการสำรวจล่าสุดของผู้เชี่ยวชาญ AI ที่ดำเนินการโดย Grace และคณะ สรุปได้ว่า ในทศวรรษหน้า AI จะมีประสิทธิภาพในงานที่ซับซ้อนสูงกว่ามนุษย์ในหลายเรื่อง เช่น การแปลภาษาจะเกิดเป็นจริงจังภายในปี 2567  การขับรถบรรทุกโดย AI ภายในปี 2570 และการทำงานเป็นศัลยแพทย์ ภายในปี 2596 ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการสำรวจเชื่อว่ามีโอกาส 50% ที่ AI จะมีทักษะเหนือกว่าทักษะของมนุษย์ในอีก 45 ปี น่ากลัวไหม!!
ทีนี้ลองมาดูอีกตัวอย่างล่าสุดเลย ในประเทศจีน ยักษ์ใหญ่แห่งเอเซียของเรา โดยบริษัท iFlytek ได้สร้าง Xiaoyi ขึ้นมาซึ่งเป็นหุ่นยนต์แพทย์ AI-poweredrobot เป็นหุ่นยนต์ที่มีปัญญาประดิษฐ์ เปิดตัวครั้งแรกเมื่อต้นปี 2561 หุ่นยนต์ตัวนี้ได้ทำการสอบใบอนุญาตทางการแพทย์ระดับประเทศของจีนและก็สอบผ่านซะด้วย จึงทำให้มันเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกที่สามารถทำเช่นนั้นได้ มันไม่เพียงแต่ผ่านการสอบเท่านั้น แต่ยังได้คะแนน 456 คะแนนซึ่งสูงกว่าคะแนนที่กำหนด 96 คะแนนด้วย น่ากลัวไหม!!
เดือนกันยายน 2562 FDA ของสหรัฐอเมริกาให้การรับรองเครื่องเอกซเรย์วินิจฉัยที่มี AI เรียบร้อยแล้วเครื่องเอกซเรย์เครื่องนี้ผลิตโดยบริษัท GE Healthcare และใช้ แพลตฟอร์ม AI ของ GE’s Edison ซึ่งพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัย UC San Francisco อัลกอริทึมของมันจะสแกนข้อมูลการถ่ายภาพเอกซเรย์ในทันทีเพื่อแจ้งเตือนให้รังสีแพทย์ทราบถึงอาการปอดที่อาจผิดปกติ ทำให้ลดเวลาเฉลี่ยที่จำเป็นสำหรับแพทย์ในการตรวจสอบ pneumothorax ที่น่าสงสัยจากที่เคยใช้เวลานานเกือบแปดชั่วโมงไปเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น เรื่องแบบนี้เราน่าจะดีใจหรือกังวล
AI จะเป็นมิตรหรือศัตรูต่อ แพทย์ รังสีแพทย์ หรือแม้แต่นักรังสีเทคนิคกันแน่ มันก็ยากที่จะทำนาย ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนคิดว่า กรณีของหุ่นยนต์แพทย์นั้นน่าจะเป็นผู้ช่วยแพทย์ที่ทำให้แพทย์ทำงานได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น หรือแม้แต่มีความแม่นยำขึ้นด้วย ไม่น่ากลัวว่ามันจะมาแทนที่คน เรื่องที่ AI อ่านผลจากภาพเอกซเรย์ก็เป็นเรื่องที่ช่วยให้รังสีแพทย์ทำงานได้รวดเร็วขึ้น
แต่ก็มีบางคนมีการคาดการณ์ร้ายๆเกี่ยวกับ AI โดยมองว่า เราไม่ควรประเมิน AI ต่ำ มนุษย์อาจถูกแทนที่ด้วย AI อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ที่แท้จริงของการนำ AI ไปใช้ทางการแพทย์นั้นยังมีความไม่ชัดเจนอยู่ดี เพราะว่า ขณะนี้ ส่วนใหญ่มันยังเป็นเพียงหัวข้อการวิจัยเท่านั้น กล่าวคือ สำหรับในประเทศตะวันตกที่เทคโนโลยีพัฒนาไปมากแล้ว ยังไม่มีการใช้ AI ใดๆเพื่อให้คนได้ฝึกฝนทางรังสีวิทยา แต่ก็มีข้อมูลว่า บริษัทผู้ค้าเทคโนโลยี AI ที่มีชื่อเสียงและมีขนาดใหญ่ มีการขออนุมัติจากองค์การอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐเพิ่มมากขึ้น เพื่อใช้แอปพลิเคชันที่เกี่ยวกับอุปกรณ์ถ่ายภาพที่มี AI ขับเคลื่อน ซึ่งปรากฏว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ มีแนวโน้มว่า AI จะร่วมกับการถ่ายภาพเอกซเรย์ในการปฏิบัติงานประจำวัน สิ่งนี้อาจสร้างความหวาดระแวง AI หรือความกลัว AI ขึ้นมา

จินตนาการที่ขัดแย้งกับความจริง
ส่วนตัวผู้เขียนค่อนข้างเห็นด้วยกับผู้สันทัดกรณีบอกว่า จินตนาการเกี่ยวกับ AI เช่น ในภาพยนต์กับความเป็นจริงอาจไม่ตรงกันนัก เช่น
     AI จะนำไปสู่การทำลายล้างเผ่าพันธ์มนุษย์หรือการทำให้เป็นทาสของหุ่นยนต์ที่เหนือกว่า เช่น The Terminator เป็นต้น Stephen Hawking นักฟิสิกส์ผู้โด่งดังบอกว่า มันไม่น่าเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้ “ AI ไม่แตกต่างจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ช่วยให้มนุษย์มีประสิทธิภาพมากขึ้นและกระบวนการมีประสิทธิภาพมากขึ้น หุ่นยนต์ไม่สามารถแก้ปัญหาหรือตัดสินใจได้จนกว่าจะได้รับการออกแบบให้ทำเช่นนั้น หุ่นยนต์จะไม่มีขีดความสามารถในการรับรู้ตนเองอารมณ์และการใช้เหตุผลในแบบของความเป็นมนุษย์
     AI จะเข้ามาแทนที่งานทั้งหมด แม้ว่า AI จะมีศักยภาพในการปรับปรุงงานและกระทบต่อตลาดแรงงานบางอาชีพ แต่ไม่ทุกอาชีพ ตรงกันข้าม กลับจะมีแนวโน้มที่ความต้องการจ้างงานเกิดมีวิวัฒนาการมากกว่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ บางงานจะถูกแทนที่ แต่จะมีการสร้างงานเพิ่มเติมที่ต้องใช้ชุดทักษะที่แตกต่างกันเล็กน้อย เราควรเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ให้อยู่รอดได้ในขณะที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีแบบพลิกผัน
     AI มีสติปัญญาและความสามารถเหนือกว่ามนุษย์ จริงอยู่ ในบางเรื่องคอมพิวเตอร์และ AI มีประสิทธิภาพเหนือกว่ามนุษย์อยู่แล้ว เช่น การคำนวณอย่างรวดเร็ว การทำซ้ำๆมากๆ หรือการจดจำความสัมพันธ์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มนุษย์จะเหนือกว่าคอมพิวเตอร์และ AI ในด้านความฉลาดทางอารมณ์ การคิดเชิงกลยุทธ์ การแก้ปัญหาที่ท้าทายใหม่ๆ และการพัฒนาทฤษฎี
     ถ้าเราติดตามอย่างใกล้ชิดจะเห็นว่า AI น่าจะถูกพัฒนาได้รวดเร็วหากไม่มีความกลัวหรือหวาดระแวงเข้ามาเป็นแรงเสียดทาน และจะนำไปสู่การพลิกโฉมในด้านการดูแลสุขภาพขนานใหญ่ ที่ยังต้องมีการทำงานร่วมกันกับมนุษย์ ความกลัว AI ที่พูดถึงนี้ไม่ใช่เรื่องที่พูดเล่นๆ ดูจากการประชุมทางวิชาการในปี 2018 ของสมาคมรังสีวิทยาแห่งอเมริกาเหนือ (RSNA)ที่ McCormick Place ซิคาโก อเมริกา Dr.Vijay M Rao(ดร.วิเจย์เอ็มราว)ประธาน RSNA ได้ออกมาเรียกร้องให้ชาวรังสีวิทยาทั่วโลกต่อสู้กับความกลัว AI โดยในถ้อยแถลงของเธอ ได้ชี้ให้เห็นว่า AI จะส่งเสริมและเสริมสร้างรังสีวิทยาอย่างไร 

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ
     การพัฒนาหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ เช่นหุ่นยนต์ที่จีนเริ่มพัฒนาขึ้น Xiaoyi ที่ทำหน้าที่เป็นแพทย์ ตามที่กล่าวไปแล้ว
     การสร้างหุ่นยนต์ในรูปแแบบอื่นๆที่มีแขนกลเคลื่อนไหวอย่างอิสระ และมีน้ำหนักการสัมผัสเหมือนมนุษย์ ได้เริ่มนำออกมาโชว์กันแล้ว เช่น KUKA Medical robotics ผู้ผลิต Haptic Ultrasound With a Robot คือมันสามารถทำอัลตราซาวด์ได้โดยการควบคุมจากระยะไกลโดยแพทย์หรือนักรังสีเทคนิค ต่อไปมันจะฉลาดจนทำของมันเองได้ไหม
     ในการประชุมวิชาการ ECR 2018 ที่เวียนนา บริษัท Siemens เปิดตัวกล้อง 3D บวกกับความสามารถของ AI เพื่อช่วยให้นักรังสีเทคนิคสามารถจัดท่าผู้ป่วยในการทำสแกนด้วย CT หรือ MRI ได้ดีขึ้น เร็วขึ้น ใช้ค่าเทคนิคได้เหมาะสม และลดการทำซ้ำซึ่งหมายถึงลดปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับนั่นเอง
     ฯลฯ
     และต่อไปจะมีหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ที่ทำหน้าที่แทนนักรังสีเทคนิคหรือไม่ เราจะตกงานกันไหม ในทัศนะของผู้เขียน ไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้นตราบใดที่เรายังพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ตลอดชีวิตของเรา และรู้ทันการเปลี่ยนแปลง "เราคือผู้ควบคุม AI" 


วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2562

Blockchain มาแน่หรือไม่?

Blockchain มาแน่หรือไม่? 
AI, IoT มาแน่นหรือไม่??
กระทบชาวเราไหม?

เป็นคำถามที่ชาวเราบางคนอาจยังงงๆ ว่าถามทำไม

หลายคนคงพอทราบดีว่า แนวโน้มการเติบโตของการบริการทางการแพทย์ โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยเป็นรายบุคคล (personalized medicine) นั้นขยับตัวสูงขึ้น ขณะที่ตอนนี้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ด้านสุขภาพแบบที่ทำกันอยู่มีข้อจำกัดที่ทำให้การพัฒนาไม่ค่อยจะมีความก้าวหน้ามากนัก เพราะติดขัดเรื่องค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการบริหารจัดการสูง รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลยากมากและไม่เป็นสากล ระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่นั้น โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลแป็นผู้จัดเก็บและใช้งานเพียงฝ่ายเดียว โดยที่ผู้ป่วยเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นยาก

ชาวเราทราบไหมว่า ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่นำ Blockchain มาใช้ในการให้บริการทางการแพทย์

สำหรับตอนนี้ เมื่อเกิดคำถามกับผู้ที่อยู่หากไกลจากวงการว่า "เทคโนโลยี Blockchain คืออะไร??" เราจะนึกถึงอะไร

แรกเริ่มเดิมที Blockchain ดูจะห่างไกลจากงานบริการทางการแพทย์ เพราะมันถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในตลาดการเงิน โดยที่ Blockchain ทำหน้าที่เป็นผู้กระจายอำนาจในการทำธุรกรรม 
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยมองเห็นว่า มีลักษณะเฉพาะบางอย่างของเทคโนโลยีนี้ ที่น่าจะเหมาะสำหรับใช้ในการดูแลสุขภาพของผู้คนได้ด้วย มีการคิดถึง Blockchain ที่เป็นแอพพลิเคชั่นที่มีศักยภาพในทางการแพทย์ เช่น การเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพ การจัดเก็บข้อมูลและความปลอดภัย กลไกการชำระเงินตามมูลค่า ประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทานทางการแพทย์ และอื่น ๆ 

แต่ว่า Blockchain ยังเป็นเทคโนโลยีที่อยู่ในช่วงตั้งไข่ ฉะนั้นแล้ว ชาวเราน่าจะหาเวลาศึกษาทำความเข้าใจแนวคิด/หลักการพื้นฐานของ blockchain และที่สำคัญคือ เฝ้าติดตาม update ตัวเองเสมอๆ ให้รู้ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับอนาคตของการดูแลผู้รับบริการทางการแพทย์ มันมาแน่ครับ

Related Links:
รังสีเทคนิคไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า