วันนี้เป็นวันที่สังคมให้ความสำคัญเพราะตระหนักดีว่า เอกซเรย์มีประโยชน์ต่อมวลมนุษย์อย่างมหาศาลและยาวนาน ทั้งการแพทย์ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม ฯลฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรังสีทางการแพทย์ วันนี้จึงถูกกำหนดให้เป็นวันรังสีเทคนิคโลกหรือ World Radiography Day เพื่อระลึกถึงการค้นพบเอกซเรย์ในวันนั้นเมื่อ 123 ปีที่ผ่านมา
สำหรับประเทศไทย มีการจัดกิจกรรมเพื่อระลึกถึงวันรังสีเทคนิคโลกกันจำนวนมาก รวมถึงคณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต ก็ได้จัดงานวันรังสีเทคนิคโลกขึ้นด้วยเช่นกัน และจัดเป็นปีที่ 3 แล้ว ปีนี้นักศึกษาเป็นผู้จัดงาน โดยมีอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล เชียงใหม่ ธรรมศาสตร์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ฯลฯ รวมทั้งพี่ๆนักรังสีเทคนิคจากโรงพยาบาลต่างๆ เช่น BDMS โรงพยาบาลสิงห์บุรี ฯลฯ เข้าร่วมงานจำนวนกว่า 200 คน ได้ชูประเด็น "Let the RT's Story Begin" เน้นไปที่รังสีรักษา
วันนี้การใช้เอกซเรย์ทางด้านการแพทย์กับผู้ป่วย ดำเนินการโดย รังสีแพทย์และนักรังสีเทคนิค ได้มีวิวัฒนาการแตกต่างจากเมื่อก่อนอย่างมากมาย จากการถ่ายภาพอวัยวะภายในร่างการมนุษย์ด้วยเทคนิคการเกิดเงาแบบธรรมดาและบันทึกภาพด้วยฟิล์ม พัฒนามาสู่ระบบดิจิทัล พัฒนาเทคนิคการถ่ายภาพธรรมดามาสู่การสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ เกิดเป็นเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือ CT และการพัฒนาศาสตร์ทางด้านนี้ได้แตกแขนงไปหลากหลายสาขามากมาย จนทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ ทั้งทางด้านวินิจฉัยและรักษาด้วยรังสี
นักรังสีเทคนิคในอนาคตจะเจออะไรบ้าง?? เชิญติดตามอ่านเรื่อง "รังสีเทคนิคไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า" ซึ่งได้เปิดมุมมองแนวโน้ม 6 ประการที่มีผลกระทบ ได้แก่ สังคมผู้สูงอายุ ความผูกพันของผู้ป่วย เทคโนโลยีสารสนเทศ การสร้างภาพระบบไฮบริด ความปลอดภัยของผู้ป่วย และความเชี่ยวชาญย่อยกับความเป็นเอกภาพของนักรังสีเทคนิค
การที่ชุมชนรังสีเทคนิคมีประชากรเพิ่มขึ้นเกือบ 5,000 คนแล้ว การเดินหน้าสู่สภาวิชาชีพ จึงเป็นเรื่องที่ควรมีความคืบหน้าและชัดเจนมากขึ้น โดยเมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการวิชาชีพฯตามข้อเสนอของสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย ได้เสนอเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการประกอบโรคศิลปะเพื่อพิจารณาและที่ประชุมสนับสนุนให้ดำเนินการต่อไป ซึ่งช่วงนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการตามลำดับขั้นต่อไป คงได้เห็นรูปร่างของสภารังสีเทคนิคชัดเจนขึ้นในไม่ช้าไม่นานนี้