วันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557

รำลึก 10 ปีสึนามิกับรังสีเทคนิคไทย



(190 ครั้ง)
   สุดยอดภัยพิบัติอันดับ 2 ของโลก

     เมื่อ 10 ปีที่แล้วเช้าวันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม 2547 ถัดจากวันคริสต์มาส วันนั้นผมอยู่ที่บ้านไม้เล็กๆสองชั้น ริมคลอง แถวสี่แยกบ้านแขก กรุงเทพฯ ตื่นแต่เช้าประมาณ 7-8 น. เข้าครัวชงกาแฟ ระหว่างนั้นรู้สึกงงๆบ้านไหวเหมือนรถบันทุกหนักวิ่งผ่านหน้าบ้าน (แต่ไม่มีรถบันทุกหนักวิ่งผ่านมา) ทีแรกก็แปลกใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น ไม่ได้คิดถึงแผ่นดินไหวเลย พอถือถ้วยกาแฟมานั่งรับประทานกับซาลาเปาหมูสับของโปรดและดูโทรทัศน์ไปด้วย จึงได้ทราบว่าเกิดแผ่นดินไหวความรุนแรงประมาณ 9.0 ริกเตอร์ ศูนย์กลางอยู่ที่ตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดเนเซีย ผู้รายงานข่าวทางโทรทัศน์ก็ยังมีสีหน้าเรียบเฉย เวลาผ่านไปประมาณชั่วโมงครึ่ง ผู้รายงานข่าวทางโทรทัศน์เริ่มมีสีหน้าแปลกๆและรายงานแบบตื่นเต้นว่า มีน้ำทะเลเอ่อหนุนสูงอย่างเร็วเข้าท่วมบริเวณชายฝั่งทะเลที่ภูเก็ต พังงา ตอนนั้นยังไม่ได้ยินคำว่าสึนามิ สักพักเริ่มรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ในใจผมคิดว่าไหงมันเป็นอย่างนั้น พอตกตอนบ่ายก็เริ่มมีข่าวสถานการณ์ในพื้นที่ที่เกิดเหตุตลอดเวลา และก็เป็นอย่างที่ชาวเราทราบดีแล้ว นับเป็นโชคดีของประเทศไทยที่มีตอนบนของเกาะสุมาตราบังคลื่นสึนามิไว้บ้าง ทำให้มันสูญเสียพลังงานลงไปกว่าจะมาถึงไทย
เมื่อพูดถึงคลื่นสึนามิครั้งนั้น ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเกิดจากรอยต่อแผ่นดินที่อยู่ใต้มหาสมุทรอินเดียขยับตัวแรงมาก ทำให้เกิดคลื่นน้ำที่มีพลังงานมหาศาลแผ่ออกไปจากศูนย์กลาง เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมาก (>500km/hr) เมื่ออยู่ในน้ำลึกความยาวคลื่นยาวมาก (ระยะระหว่างสันคลื่นถึงสันคลื่นถัดกัน) และ amplitude ต่ำ สังเกตเห็นได้ว่าคลื่นเดินทางจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว ถึงชายฝั่งพังงา ภูเก็ต กระบี่ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง แต่เมื่อเคลื่อนที่มาถึงชายฝั่ง มันจะมีความเร็วลดลงมาก ความยาวคลื่นก็จะลดลง แต่ในทางตรงกันข้าง amplitude จะสูงขึ้น ตรงนี้เองที่พี่น้องของเราเห็นกับตา น้ำทะเลมันล้นขึ้นมาบนชายฝั่งด้วยความเร็วพอประมาณในระดับที่สูงกว่าระดับปกติ 5-10 เมตร ฉะนั้นชายฝั่งจึงถูกน้ำทะเลกวาดเรียบ พี่น้องเราจึงเสียชีวิตจำนวนมากมายและอย่างไม่ทันตั้งตัวเลย เป็นธรณีพิบัติภัยครั้งร้ายแรงที่สุดที่พี่น้องชาวไทยเคยประสบมา รวมแล้วเสียชีวิตประมาณ 230,000 คน (เฉพาะในประเทศไทยประมาณ 6,000 คน) มูลค่าความเสียหายรวมทุกประเทศที่ได้รับผลกระทบประมาณล้านล้านบาท ตอนนี้ มีการนำเหตุการณ์นี้ไปสร้างเป็นภาพยนต์ จะมีผลกระทบทางจิตใจกับผู้คนที่ได้รับผลกระทบหรือไม่ต้องดูกันไป ผมเชื่อว่ามีอย่างแน่นอน  


คลิปซึ่งเผยแพร่ในเว้ปไซด์สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทยเมื่อ มกราคม 2548

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมรู้สึกภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย เพราะสัมผัสได้ถึงน้ำใจของคนไทย ที่ไหลไปซับน้ำตาพี่น้องที่ประสบภัย ชนิดที่ผู้คนทั่วโลกทึ่งและชื่นชอบ 

เป็นห่วงชาวเรา นักรังสีเทคนิค รวมทั้งทีมแพทย์ พยาบาล และอีหลายๆทีม ที่ต้องทำหน้าที่ในพื้นที่ประสบภัยในวันเกิดเหตุ ผมคิดว่าวันนั้นชาวเราที่ทำหน้าที่อยู่ต้องเจองานหนักแน่ เพราะจะมีคนเจ็บและผู้เสียชีวิต เข้ามาเอกซเรย์จำนวนมากพร้อมกันในเวลาเดียวกัน และก็จริงตามคำบอกเล่าของชาวเราในพื้นที่ภัยพิบัติว่าหนักหนาสาหัสอย่างยิ่งยวด ในตอนนั้นก็ได้แต่ตั้งจิตอธิษฐานขอให้ชาวเราเข้มแข็งไว้ ทำหน้าที่ให้เต็มที่ ถึงแม้จะไม่มีใครพูดถึงส่วนนี้ก็ไม่เป็นไร แต่ก็ขอให้ทราบว่าพวกเราพอรู้ว่าเป็นอย่างไร 
คนที่ 1,3,4 จากซ้าย คือนักรังสีเทคนิค
ส่วนหนึ่งที่ทุ่มเททำงานในช่วงเวลามหาวิกฤติสึนามิ 
และได้มาเล่าให้ชาวเราฟังในการประชุมวิชาการ
ประจำปีของสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย
เมื่อ พ.ศ. 2548

     มองในอีกแง่หนึ่ง มันเหมือนเป็น Act of God ที่บันดาลให้เกิดห้องปฏิบัติการจริงๆขนาดใหญ่ ที่ให้ แพทย์ พยาบาล นักรังสีเทคนิคและทีมอื่นๆ ได้มีโอกาสฝึกภาคปฏิบัติที่หาไม่ได้ง่ายๆ เราจะรับมือกับเหตุฉุกเฉินขนาดใหญ่อย่างนี้อย่างไร มันเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากเหลือเกินที่เกิดขึ้นกับชาวเราที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น แม้ว่าจะเศร้าสลดใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงใดก็ตาม 

     อยากจะบอกชาวเราที่ทำหน้าที่ในเหตุการณ์วันนั้นว่าพวกท่านคือ hero ของผม แม้เวลาจะผ่านมา 10 ปีแล้ว แต่เหมือนเพิ่งผ่านไปหยกๆ....ใช่ว่าผมจะยึดติดอดีต แต่อดีตเป็นครูที่ดีของเราเสมอครับ

Related Links:
ผลกระทบแผ่นดินไหวต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

วันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง


(210ครั้ง)
     มีท่านผู้รู้กล่าวไว้ทำนองว่า 
การพูดหรือการสื่อสารให้คนฟังหรือคนรับสารรู้และเข้าใจอย่างที่เราต้องการ ปัจจัยสำคัญที่สุดอยู่ที่คนฟัง ไม่ใช่อยู่ที่คนพูด” 
ผมได้ยินเรื่องนี้เมื่อ พ.ศ. 2536 ตอนไปเป็นนักศึกษาหลักสูตรเตรียมผู้บริหารรัฐกิจ (หลักสูตร 3 เดือน) ของมหาวิทยาลัยมหิดล มีอาจารย์ระดับเทพของประเทศในด้าน บริหาร การปกครอง การเงินการคลัง กฎหมาย จิตวิทยา ฯลฯ ไม่ต่ำกว่า 20 ท่านมาสอน อาจารย์ท่านหนึ่งพูดไว้ตามที่กล่าวข้างต้น แรกๆที่ได้ฟังรู้สึกงงๆครับ และใจก็คัดค้านว่า จะเป็นไปได้อย่างไรที่ผู้ฟังจะสำคัญที่สุด มันน่าจะเป็นผู้พูดที่สำคัญที่สุด เพราะ ถ้าผู้พูดเตรียมตัวมาอย่างดีก็ต้องพูดให้คนฟังรู้และเข้าใจได้ แล้วผมก็แสดงความเห็นทำนองโต้แย้งให้อาจารย์ฟัง อาจารย์ท่านได้กรุณาขยายความว่า ถ้าคนฟังหรือคนรับสารไม่สนใจ ต่อให้เตรียมตัวดีอย่างไรเขาก็จะมีอาการ ได้ยินแต่ไม่ฟัง หรือ ฟังไปงั้นๆแล้วอาจารย์ก็ยกตัวอย่างให้พวกเราได้ทำความเข้าใจเรื่องนี้ อาจารย์เน้นว่าก่อนพูดต้อง ศึกษาคนฟังหรือคนรับสารให้ดี
     เวลาผ่านไป ด้วยลักษณะงานของผมคือ ต้องพูด ต้องสอน ต้องวิจัย ต้องโน่นนี่นั่นเยอะมาก จึงได้มีโอกาสได้ใช้แนวทางที่อาจารย์แนะนำไว้ข้างต้นเป็นเวลาร่วม 20 ปี ดังนั้น ในเวลาที่พูดคุยกัน lecture หรือพูดในที่ประชุมทุกที่ ผมสังเกตเห็นว่า...คนร่วมวงสนทนา คนฟัง มีอาการตอบสนองต่างกันหลายแบบ น่าจะสรุปได้ 5 แบบ คือ
A)…บางคนได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง (ignoring) ... ประเภทนี้บอดสนิทจะไม่รู้เรื่องในสิ่งที่พูดเลย ไม่รู้ว่าผู้พูดพูดเรื่องอะไรด้วยซ้ำ
B)…บางคนเกรงใจเลยแกล้งทำเป็นฟังไปงั้นๆ (pretending)...ประเภทนี้มีเยอะครับ เป็นประเภทพอจะรู้ว่าพูดเรื่องอะไร แต่อย่าถามรายละเอียดที่พูด เพราะเขาจะตอบไม่ได้ คือไม่รู้รายละเอียดของเรื่องที่พูด เค้าฟังแบบรักษามารยาท
C)…บางคนฟังมั่งไม่ฟังมั่ง คือเลือกฟังเฉพาะที่อยากได้ยิน (selective listening)...ประเภทนี้มีไม่น้อยเช่นกัน เป็นประเภทรู้ว่าพูดเรื่องอะไร แต่รู้รายละเอียดไม่ครบถ้วน เป็นความรู้แบบ ครึ่งๆกลางๆ เพราะเลือกฟัง
D)…บางคนตั้งใจฟังมากและฟังด้วยสมอง (attentive listening)...ประเภทนี้ฟังรู้เรื่องครบถ้วนและคิดตาม เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง
E)…บางคนฟังแบบว่าอยากเข้าใจความรู้สึก คือฟังด้วยหัวใจ (empathic listening)...ประเภทนี้ฟังรู้เรื่องครบถ้วน คิดตาม เข้าใจเรื่อง และเข้าถึงความรู้สึกของผู้พูด
เมื่อก่อน ไม่ว่าเวทีไหน บรรยาย หรือพูดในที่ประชุม ผมเคยคิดจริงจังแบบซีเรียสว่า
อะไรกัน พูดชัดเจนขนาดนี้ยังไม่ get”
คือคนพูดนะ get แต่คนฟังไม่ get คนฟังที่ไม่ get ก็ยังดีกว่าคนฟังที่ไม่ get แแต่แสดงการโต้แย้งแบบเข้าป่า-ออกทะเล....เมื่อค่อยๆพิจารณาไปเรื่อยตามแนวทางนี้..จึงสันนิษฐานว่า คนฟังหรือคนรับสารอาจตกอยู่ในข้อ A,B และ C ก็ได้ …..ดังนั้น เดี๋ยวนี้ผมจึงมองเห็นชัดเจนขึ้นว่า มันเป็นเรื่องธรรมดา
โดยทั่วไป การพูด-การฟัง การสื่อสาร เป็นเรื่องสำคัญ
ที่ทำให้ผู้พูดกับผู้ฟังเข้าใจกันก็ได้ ที่ทำให้เกิดปัญหากันก็ได้ แล้วทำให้เกิดความขัดแย้งตามมา เช่นตัวอย่างการทะเลาะกันสมัยพุทธกาลระหว่างพระวินัยธรกับพระธรรมกถึกที่เคยเล่าไปแล้ว
หรือ ทำให้ผู้ฟังที่เป็นแบบ A,B หรือ C เกิดความรู้แบบ ครึ่งๆกลางๆถ้าผู้ฟังเป็นแบบนี้ แล้วใช้ความรู้นั้นไปแก้ปัญหา อะไรจะเกิดขึ้น?
ท่านพุทธทาสเคยกล่าวไว้ว่า
"ความรู้ครึ่งๆกลางๆ ทำความเสียหายให้มากกว่าความไม่รู้ มิใช่เสียหายเพียงครึ่งเดียว"
เช่น แม่ลูกอ่อนคนหนึ่งตกใจมาก เมื่อลูกกลืนเหรียญทองแดงแล้วติดคอ ขณะกำลังตกใจ แม่เคยรู้มาว่าน้ำกรดสามารถกัดเหรียญทองแดงได้ แม่จึงรีบไปเอาน้ำกรดกรอกใส่ปากลูกเพื่อจะรีบช่วยลูก แล้วเหรียญทองแดงก็หลุดจากคอ แต่!! น้ำกรดก็ทำอันตรายกับอวัยวะของเด็กอย่างร้ายแรงเช่นกัน
เพราะอะไร?แม่จึงไม่รู้ข้อเสียร้ายแรงข้อนี้ เพราะมีความรู้แบบ ครึ่งๆ กลางๆ และในเวลานั้น ไม่รู้ตัว ขาดสติ ก็เลยเกิดความเสียหายใหญ่หลวง   
     จึงขอเชิญชวนชาวเรา ที่อยู่ในสภาวะ 
A,B,C ย้ายมาเป็น D หรือ E
กันดีกว่า และหากชาวเราบังเอิญรู้อะไรแบบ "ครึ่งๆกลางๆ" ก็ควรอย่างยิ่งที่จะรู้ตัวเองและไม่ขาดสติครับ และหากต้องการสลายความรู้แบบ "ครึ่งๆกลางๆ" ก็ควรเข้าถึงความรู้ที่ถูก ตรง เป็นความจริง แล้วทำความเข้าใจให้ได้

Related Links: