วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ส่งบัณฑิตรังสีเทคนิคขึ้นฝั่ง ๒๕๕๕


จากเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาสายวิทยาศาสตร์ ก้าวสู่ชีวิตการเรียนรังสีเทคนิคในมหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งฟังการบรรยาย ลงมือปฏิบัติการจริง ออกไปฝึกงานตามโรงพยาบาลชั้นนำในกรุงเทพฯ รวมเวลาแล้วประมาณ 3,500 ชั่วโมง ไม่รวมเวลากิจกรรมอื่นๆที่พัฒนาสมองซีกขวา และส่วนหน้าอีกมากนับชั่วโมงได้เยอะแยะมากมาย มันคล้ายกับการเดินบนแผ่นกระดานที่วางบนพื้นสนามหญ้า มีโอกาสน้อยที่เราจะเดินพลาดออกจากแผ่นกระดาน และถึงแม้นจะพลาดเดินออกจากแผ่นกระดานก็มีพื้นหญ้า คือครูบาอาจารย์ที่ช่วยแนะนำสั่งสอนให้เดินต่อไปได้ โดยปลอดภัยไม่บาดเจ็บมากมาย มันเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่จะนำพาชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัยอย่างถูกต้อง

ต่อจากนี้ไป บัณฑิตรังสีเทคนิคทุกคน เมื่อพ้นจากอ้อมอกของเหล่าคณาจารย์ไปแล้ว ก็เปรียบเหมือนเดินไปบนแผ่นกระดานที่พาดไว้ระหว่างยอดเขาสองลูก ที่มีการประคับประคองน้อยลง การเดินก็ต้องมีสติ ระมัดระวังอย่าให้ตกจากแผ่นกระดาน เพราะตกลงมาแล้วคงจินตนาการได้ว่าจะได้รับบาดเจ็บแค่ไหน หรืออาจเสียชีวิตไปเลย
ในชีวิตการทำงาน มีรุ่นพี่บางคนถึงหลายคนบ่นให้ฟังถึงการทำงานรังสีเทคนิคว่า
ทำงานรูทีนเบื่อจัง เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำมืด ดึกดื่น เหมือนเดิม เซ็งง่ะอาจารย์ ทำไงดี
ก็เลยตอบไปว่า
“ดูก่อนชาวเรา....มีหลายสิ่งหลายอย่างที่รอดอยู่ได้จากดึกดำบรรพ์จนทุกวันนี้เพราะลักษณะปฏิบัติแบบรูทีนมิใช่รึ ดูอย่างการหายใจของเราก็เป็นรูทีน เราหายใจเข้าออกตลอดเวลาตั้งแต่คลอดออกจากท้องแม่ แม้ยามนอนหลับก็หายใจเข้าออก ลองไม่หายใจดูซิ อะไรจะเกิดขึ้น หรือแค่เปลี่ยนจังหว่ะการหายใจเข้าออกก็ได้เอ้า ไม่ต้องหายใจเข้าออกแบบรูทีนหรอก ลองซี่ เช่น หายใจเข้าอย่างเดียวแล้วกลั้นใจนิ่งไว้ ไม่ต้องหายใจออก จะเกิดอะไรขึ้น......” งานรูทีนมีเสน่ห์ในตัวมัน มีเส้นทางของมันที่ไม่ขี้เหร่เลย ค้นหามันให้เจอ

สุดท้าย ขอให้บัณฑิตทุกคน จงมี กัม-บั๊ต-เตะ-เนะ จงมีสติ จงมีความวิริยะอุสาหะ ในการทำความดี และสามารถช่วยเหลือพึ่งพาตัวเองได้ ทำให้ตัวเองอยู่รอดได้อย่างถูกต้องในทุกจังหวะอย่างก้าวของชีวิต เพื่อให้มีพลังในการทำความดีเพื่อสังคมต่อไป ตราบจนชีวิตหาไม่

รศ.มานัส มงคลสุข
หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค

Related Links:
ส่งบัณฑิตรังสีเทคนิคขึ้นฝั่ง ๒๕๕๓
ส่งบัณฑิตรังสีเทคนิคขึ้นฝั่ง ๒๕๕๔