วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

ประสบการณ์สอนรังสีเทคนิค มอ. หาดใหญ่



ช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ทุกปีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ได้เชิญผม ให้ไปสอนนักศึกษาหลักสูตรรังสีเทคนิค (ต่อเนื่อง) ผมรู้สึกเป็นเกียรติและยินดี เต็มใจที่เดินทางไปสอน แม้จะห่างไกลกัน แต่ระยะทางไม่ใช่อุปสรรค อาจารย์สมบัติ อาจารย์ศิริพร คุณเสรี และอีกหลายๆท่าน ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น จริงใจ และรู้สึกว่า ไปครั้งใดน้ำหนักตัวของผมเพิ่มขึ้นทุกครั้ง อาจารย์ที่รังสีเทคนิคมหิดลหลายคนได้รับเชิญไปสอนด้วย ก็มีความเห็นตรงกับผม

ก่อนอื่นขอกล่าวถึงเรื่องการศึกษาก่อนครับ ประเทศไทยมีผลการจัดอันดับสูงสุดอันดับที่หนึ่งอยู่เรื่องหนึ่ง ทราบไหมครับว่าเรื่องอะไร คำตอบคือ การใช้เวลาเรียนในห้องเรียนสี่เหลี่ยมมากที่สุดในโลก จริงเท็จอย่างไรไม่ทราบครับ ใครจัดอันดับก็ไม่ทราบ แต่ผมได้ยินคนเค้าพูดมา ทำนองกระแนะกระแหนมากกว่า ว่ามัวแต่ให้อาจารย์สอนในห้องเรียนคือ สอนมาก เรียนรู้น้อย อะไรประมาณนี้ เลยทำให้นักศึกษาคิดไม่ค่อยเป็น ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่มีภาวะผู้นำ ต่อไปคงต้องปรับใช้วิธี สอนน้อย เรียนรู้มาก คือนักศึกษาต้องเรียนรู้ให้มาก ขณะที่อาจารย์ต้องจัดกระบวนการให้นักศึกษาได้เรียนรู้ได้อย่างสะดวก อย่าเชื่อที่ผมบอกนะครับ ขอให้ค่อยๆคิดไตร่ตรองดูว่า จริงหรือไม่?

อีกข้อหนึ่งที่ติดอันดับโลกคือ ห้องสี่เหลี่ยม ที่ที่คนสองคนได้แก่อาจารย์กับนักศึกษาไม่อยากมาพบกันมากที่สุด เรียกว่า ห้องเรียน คือ อาจารย์ก็ไม่อยากจะเข้าไปสอน เพราะสอนไปนักศึกษาก็ไม่ค่อยตั้งใจ เหมือนถูกพ่อแม่จ้างให้มาเรียน นั่งหลับบ้าง กดบีบีบ้าง จริงไหม? นักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่ไม่สนใจการเรียนในห้องเรียน ยอมถวายตัวเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์สองท่านที่เก่งมาก รู้ทุกเรื่อง และเป็นอาจารย์พิเศษสุดของทุกมหาวิทยาลัย คือ ศาสตราจารย์ ดร. Google และศาสตราจารย์ ดร. Wekipedia อาจารย์ทั้งสองท่านทำงาน 24 ชั่วโมง ไม่เคยบ่นและไม่รับค่าตอบแทน แล้วอาจารย์อย่างเราๆจะทำอย่างไร จะยังคงนัดเจอกันในห้องเรียนเพื่อเจอบรรยากาศเดิมต่อไปไหม

ทว่า ต้องรีบบอกตอนนี้เลยว่า ที่ผมไปพบกับนักศึกษารังสีเทคนิค คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ไม่ได้เป็นอย่างที่กล่าวข้างต้น

วันที่ไปสอนเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งนักศึกษาหลายคนที่มีภูมิลำเนาไกลจากหาดใหญ่จะต้องเดินทางมาที่หาดใหญ่ มาพบกัน มาพบกับอาจารย์ที่มาจากกรุงเทพฯ ช่วงเวลาที่ทำการสอนก็ตั้งแต่เช้าถึงเย็น แต่ผมไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย มันมีพลังวูบวาบแปลกๆเกิดในหัวใจ ที่สามารถทำให้ตัวผมสามารถยืนหยัดได้ทั้งวัน ผมมานั่งพิจารณาดู อ๋อ...อาจเป็นเพราะ นักศึกษาที่เรียกตัวเองว่า ส.ว. = ผู้สูงวัย ตั้งใจเรียนมากเหลือเกิน สายตาทุกคู่ จับจ้องที่ผมและสไลด์ของผม แววตาบ่งบอกถึงความกระหายรู้ ระหว่างที่ผมบรรยาย มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงวิชาการกัน รวมถึงเรื่องชีวิตความเป็นอยู่การทำงานในภาคใต้ โดยเฉพาะนักศึกษาหลายคนทำงานในสามจังหวัดที่มีปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย ทำให้ผมได้รับรู้ว่า นักศึกษามีปัญหาอย่างไร ต้องระมัดระวังเตรียมตัวกันอย่างไร แม้การเดินทางมาเรียนก็ต้องมีการกะเกณฑ์กันให้ดีว่าเวลาไหนเหมาะที่จะเดินทาง เพื่อให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุดจากการถูกรอบทำร้าย ทำไมนักศึกษาเหล่านี้ต้องยอมเสี่ยงภัยมากขนาดนี้? 

      แม้บางเวลาในเมืองหาดใหญ่เองก็ไม่ปลอดภัย มีอยู่ปีหนึ่ง ปกติคณะแพทยศาสตร์จะจัดโรงแรมที่พักให้ในเมืองหาดใหญ่ ที่โรงแรมมีชื่อแห่งหนึ่ง หลังจากสอนเสร็จแล้ว เดินทางกลับกรุงเทพฯ วันรุ่งขึ้น ปรากฏว่ามีการวางระเบิดที่หน้าโรงแรมแห่งนั้น และอีกหลายจุดในเมืองหาดใหญ่ อีกปีหนึ่ง มีการวางระเบิดที่สนามบินหาดใหญ่ อันนี้เล่นเอาขวัญกระเจิงเลย จนผมถูกภรรยาและลูกๆงดวีซ่า และขอร้องว่า พ่ออย่าไปอีกเลยมันเสี่ยง ผมก็รักภรรยาและลูกๆมาก ไม่ต้องการให้เขาห่วงกังวลว่าผมต้องไปเสี่ยง เลยต้องประวิงเวลาการเดินทางในบางครั้ง รอให้เหตุการณ์ร้ายๆซาลงไปเพื่อให้ความรู้สึกของภรรยาและลูกค่อยๆดีขึ้นก่อน แล้วจึงเดินทาง ผมว่าผมเสี่ยงน้อยกว่านักศึกษานะ มันเป็นเรื่องที่เกินความสามารถของผมที่จะจัดการกับเรื่องนี้ ได้แต่เห็นอกเห็นใจนักศึกษาที่เสี่ยงภัย ให้กำลังใจเพื่อให้นักศึกษาเหล่านี้สามารถดำรงความเป็นอยู่ต่อไปได้ และเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยกันทำงานเพื่อบริการประชาชน ตามภาระหน้าที่และความสามารถที่ตัวเองมี อย่างภาคภูมิใจและมีเกียรติศักดิ์ศรีแห่งการเป็นนักรังสีเทคนิค เหล่านี้กระมัง ที่ทำให้ผมไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเลยจริงๆ และก็ไปสอนทั้งสามรุ่น แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่บรรยากาศทุกอย่างที่นั่นทำให้ผมรู้สึกประทับใจ จนยากที่จะลืมเลือน

     ได้ทราบว่า บัณฑิตรุ่นปัจจุบันเป็นบัณฑิตรังสีเทคนิค (ต่อเนื่อง) รุ่นสุดท้าย ต่อไปคณะแพทยศาสตร์ได้จัดทำหลักสูตรรังสีเทคนิค 4 ปี ซึ่งเวลานี้มีความคืบหน้าในการร่างหลักสูตรไปมากแล้ว ซึ่งอาจารย์สมบัติและทีมงาน ได้เข้าร่วมการประชุมสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค (RT Consortium) ทุกครั้ง และหาแนวทางในการจัดทำหลักสูตรรังสีเทคนิค 4 ปีมาตลอด ต้องบอกว่าอาจารย์สมบัติและทีมงานมี spirit สูงมาก ครั้งล่าสุดเราไปประชุมกันที่ ภูอิงฟ้า และได้ร่วมกันทำร่าง มคอ 1 จนเรียบร้อย ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณากลั่นกรองของกระทรวงศึกษาธิการ


สัมมนาสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคครั้งที่ 2 (2nd RT Consortium) นเรศวรเป็นเจ้าภาพ ในคลิปนี้เป็นบรรยากาศที่บ้านแสงตะวันยามเย็น

สองปีที่ผ่านมา อาจารย์สมบัติขอให้ผมพูดอวยพรว่าที่บัณฑิตรังสีเทคนิค ในโอกาสงานปัจฉิมนิเทศ ผมยิ่งรู้สึกเป็นเกียรติยิ่งขึ้นอีกคลุกเคล้ากับความรู้สึกปิติยินดีที่ได้เห็นนักศึกษาส.ว. สำเร็จการศึกษา จึงขอนำ Video Clip ที่ได้กล่าวในทั้งสองครั้งมาบันทึกไว้ เป็นเครื่องเตือนความจำว่า เรามีความผูกพันกัน และเชื่อมั่นว่า สายใยแห่งการผูกพันกันนี้จะยั่งยืนนาน


บัณฑิตรังสีเทคนิค มอ. รุ่นที่ 2-2553 click>>>

บัณฑิตรังสีเทคนิค มอ. รุ่นที่ 3-2554


มานัส มงคลสุข


วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

วิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Fukushima Daiichi กับเหตุการณ์ 9/11: ความบังเอิญที่โหดร้าย

          วันที่เขียนบันทึกนี้ เป็นวัน 9/11 คือวันที่ 11 กันยายน 2554 ครบรอบ 10 ปีของเหตุการณ์ช็อคโลก อาคาร World Trade ที่นิวยอร์ค อเมริกา ถูกเครื่องบินโดยสารพุ่งชน จนถล่มลงมาทั้งสองอาคาร ผู้คนเสียชีวิตจำนวนมาก แม้จะผ่านมา 10 ปีแล้ว แต่ความรู้สึกเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานเลย ตอนที่เกิดเหตุ วันนั้นประมาณสองทุ่ม ผมทานข้าวกับลูกและภรรยาที่บ้าน และดูโทรทัศน์ด้วย จู่ๆ รายการก็ตัดเข้าข่าวด่วนที่นิวยอร์ค เท่านั้นแล่ะครับ ช็อคเลย
              และก็บังเอิญเหลือเกินที่วันนี้เป็นวันครบรอบ 6 เดือนของการเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ทางชายฝั่งตะวันออกของเกาะญี่ปุ่น และตามติดมาด้วยการถล่มชายฝั่งตะวันออกของเกาะญี่ปุ่นด้วยคลื่นยักษ์ Tsunami สูง 15-20 เมตร ผู้คนเสียชีวิตเป็นหมื่นๆคน และเป็นผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ Fukushima Daiichi
ช่วงแรกโลกแตกตื่น และคนไทยไม่น้อยหน้าแตกตื่น และแตกตื่นมากซะด้วย กลัวรังสีจะมาถึง ถึงขนาดเอาเบตาดีนชุบสำลีมาพันคอ เพื่อป้องกันรังสี ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด
              ละอองรังสียังไม่จางลง แต่ดูเหมือนโลกจะให้ความสนใจน้อยลงแล้ว  
              โดยเฉพาะคนไทยลืมง่ายมาก เป็นลักษณะเด่นที่รักษาไว้อย่างเหนียวแน่น 
              ขณะเดียวกันงหากคิดในแง่ดี ก็อาจเป็นเพราะมีหลายๆเหตุการณ์เข้ามากลบเกลื่อนไป เช่น การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และปรากฏการณ์ล่าสุด คนไทยจำนวนมาก (สิบล้าน) “คันหู ไม่รู้เป็นอะร้ายยยย” เป็นต้น

6 เดือน หลังภัยพิบัติที่ Fukushima Daiichi

และก็ไม่รู้ว่าบังเอิญอีกหรือเปล่า วันที่ 12 กันยายนถัดมา เกิดระเบิดที่โรงกำจัดกากนิวเคลียร์ของฝรั่งเศสที่ Marcoule มีผู้เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บอีก 4 คน ตามข่าวว่าไม่มีการแพร่ของรังสีจากการระเบิดครั้งนี้

Related Link: 

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

“ผลสัมฤทธิ์ของชีวิต” Outcome of life


(721 ครั้ง)
เมื่อคราวไปประชุมวิชาการประจำปี พ.ศ. 2554 ของที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ (ปอมท.) ที่หอประชุมกองทัพเรือ ระหว่างวันที่ 18-19 สิงหาคม 2554 จัดโดย ปอมท. ร่วมกับ สกอ.(สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้ฟังผู้ทรงภูมิปัญญาและประสบการณ์สูง เช่น ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ (เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา UNCTAD) รศ. ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ (อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิบัณฑิตย์) ศ.คลินิก นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร(อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล) คุณหญิงลักษณาจันทร เลาหพันธ์ (นายกสมาคมอาเซียน-ประเทศไทย)   เป็นต้น ท่านเหล่านี้ พูดให้ฟังหลายเรื่องเกี่ยวกับอุดมศึกษาของไทยกับประชาคมอาเซียน ทำให้ผมได้รับอาหารสมองแบบเต็มอิ่มจริงๆ และเชื่อว่าอาจารย์ส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมประชุมในวันนั้นก็คงจะอิ่มเหมือนผม

ยังมีเกร็ดเล็กๆ จากการอภิปรายหมู่เรื่อง การเตรียมความพร้อมของอุดมศึกษาไทยกับการปรับตัวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนตอนหนึ่งท่าน รศ. ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้กล่าวถึง “Outcome of life” หรือ ผลสัมฤทธิ์ของชีวิต ฟังแล้ว ส่วนตัวผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ต่อทั้งตัวเราเองและองค์กรที่เราทำงานอยู่

ท่านได้พูดถึงทฤษฎีของ Kazuo Inamori ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งองค์กร Kyocera ของประเทศญี่ปุ่นที่ประสพความสำเร็จอย่างมาก หลายท่านคงคุ้นหูดี ท่าน Kazuo Inamori ได้เสนอสูตรในการคำนวณหรือพิจารณา “Outcome of life” หรือ ผลสัมฤทธิ์ของชีวิตไว้ตามสมการ


Outcome of life = Ability x Effort x Attitude


การนำเอาความสามารถมาคูณกับความพยายาม จะได้คะแนนสูงสุดเท่ากับ 100 คะแนน คนทั่วไป มีความสามารถและความพยายามแตกต่างกันไป ลองพิจารณาเป็นกรณีไป

กรณีที่ 1 คนมีความสามารถสูงสุด 10 คะแนน และมีความพยายามสูงสุด 10 คะแนน ผลคูณที่ได้จะมีคะแนนสูงสุด 100 คะแนน คนแบบนี้จะมีไหม คงหายากมากๆ หลายองค์กรคงอยากได้คนแบบนี้

กรณีที่ 2 ถ้าคนมีความสามารถปานกลางมี 5 คะแนน แต่มีความพยายามสูงสุด 10 คะแนน ผลคูณออกมาเป็น 50 คะแนนอย่างนี้หมายความว่า คนที่มีความสามารถปานกลาง สามารถชดเชยได้ด้วยการเพิ่มความพยายามให้มากๆหน่อย

กรณีที่ 3 ถ้าคนมีความสามารถสูงสุด 10 คะแนน แต่ความพยายามปานกลาง 5 คะแนน ผลลัพธ์จะเป็น 50 คะแนนเท่ากรณีที่ 2 กรณีนี้คนมีความสามารถสูงมากแต่อุตสาหะต่ำ จะมีค่าเท่ากับคนมีความสามารถปานกลางแต่มีอุตสาหะสูงในกรณีที่ 2

ทั้ง 3 กรณีนี้ ยังไม่ได้นำทัศนคติมาคูณด้วยเลย หากคูณด้วยทัศนคติเข้าไปด้วย คราวนี้สนุกกันใหญ่ เพราะจะเป็น outcome of life ทันที ซึ่งจะมีค่าแกว่งแรงมาก ไปทางบวกหรือลบได้ทั้งนั้น

ตัวอย่างเช่น จากกรณีที่ 1 คนนี้มีผลลัพธ์คะแนนความสามารถและความพยายามสูงที่สุด หากเขามีทัศนคติเชิงบวก ลองคิดดูว่า outcome of life ของเขาจะมีผลลัพธ์กระฉูดขึ้นไปทางบวกขนาดไหน แต่หากเขามีทัศนคติเป็นลบละก็ outcome of life ของเขาจะมีผลลัพธ์ดิ่งลงไปทางลบ และไม่ว่าจะบวกหรือลบ เมื่อเขาทำงานอยู่ในองค์กร ก็จะส่งแรงสั่นสะเทือนถึง outcome of life ขององค์กรด้วย  เราอยากได้คนแบบไหน อันนี้เป็นคำถามที่วันนั้นท่านวิทยากรถามทิ้งท้ายไว้ แบบไม่ต้องการได้ยินคำตอบจากเหล่าอาจารย์ในหอประชุมกองทัพเรือขนาดใหญ่ เพราะท่านเดาได้ว่า หากจี้ถามไปที่อาจารย์ท่านใดก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า.....แล้วท่านผู้อ่านจะตอบว่ากะไร

พิจารณาตามทฤษฎีของ Kazuo Inamori สิ่งสำคัญที่สุดของ outcome of life จึงอยู่ที่....ทัศนคติของคน คิดบวก คิดลบ มีผลต่อความสำเร็จของแต่ละคนอย่างมากๆ ต่อให้เก่งมากแค่ไหน พยายามมากแค่ไหน แต่ถ้าคิดลบก็ไปไม่รอด องค์กรก็อ่อนแอไปด้วย เรื่องนี้ หลายคนอาจแย้งในใจว่า มันจะเป็นไปได้อย่างไร เก่งก็เก่ง ขยันก็ขยัน แล้วจะไม่รอดได้อย่างไร  (วะ) อยากให้ผู้อ่าน ชาวเราใจเย็นๆ ค่อยๆคิด ไม่ต้องเชื่อสิ่งที่ผมเขียนนี้ แต่ชวนให้คิดครับ

ในความเห็นของผม เรื่องนี้อยู่ที่ปลายจมูกของเรานี่เอง ที่ผมว่ามันอยู่ที่ปลายจมูกเพราะ บางทีเราก็เห็นปลายจมูกของเราเองถ้าตั้งใจดูดีๆ แต่หากเราไม่ตั้งใจให้ดีเราก็มองไม่เห็น ก็เหมือน outcome of life ของตัวเราหรือขององค์กร  หากตั้งสติให้ดีๆก็เห็นความสำคัญได้ แต่หากปล่อยให้สติล่องลอยไปก็ไม่เห็น



     ได้เคยอ่านคำสอนที่หลวงปู่ชา สุภัทโท สอนไว้ว่า



เธอจงระวังความคิดของเธอเพราะจะทำให้กลายเป็นความประพฤติ จงระวังความประพฤติของเธอเพราะจะกลายเป็นความเคยชิน จงระวังความเคยชินของเธอเพราะจะกลายเป็นอุปนิสัย และจงระวังอุปนิสัยของเธอเพราะจะเป็นตัวกำหนดชะตากรรมของเธอตลอดไป

ผมคิดว่า เข้ากันได้กับ outcome of life หรือผลสัมฤทธิ์ของชีวิต

     เรา ผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้บริหารและลูกน้องเพื่อนร่วมงาน มาช่วยกันลดเงื่อนไขที่ทำให้เกิดทัศนคติเชิงลบดีไหมครับ เพื่อผลสัมฤทธิ์ดีๆของตัวเราเองเป็นอันดับแรก และเป็นผลดีต่อองค์กรเป็นอันดับถัดไป เราได้ก่อน (win) องค์กรได้ทีหลัง (win) ทั้งคู่ เจ๋งไปเลย

 Related Links:
1. แนะมหาวิทยาลัยรวมหัวสู้รับประชาคมอาเซียน
2.    องค์กรที่ดี/เป็นพิษ/ยิ่งใหญ่
3.    แรงดูดแรงผลักทางความคิด