วันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สัมภาษณ์ "115 ปีการพบ X-rays"

   สถานีวิทยุประเทศไทย สัมภาษณ์ รศ.มานัส มงคลสุข ในโอกาสครบ 115 ปีแห่งการค้นพบเอกซเรย์ (8 พ.ย.1895) ออกอากาศทางสถานีวิทยุประเทศไทย FM 105 MHz วิทยุไทยเพื่อเด็กและครอบครัว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 พ.ย. 2553 เวลา 19.30 น






ตอนที่ 1 การค้นพบและการเกิดภาพเอกซเรย์

ตอนที่ 2 ห้องเอกซเรย์และเทคโนโลยีปัจจุบัน

วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

แค่น้ำหยดเดียวก็มีค่ายิ่ง

  ผมได้เคยเขียนเรื่อง "ลิงเหมือนคน?" ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ genetic coding หรือ การทำตามๆกันมาโดยปราศจากการพัฒนา ปราศจากการคิดวิเคราะห์ที่เกิดจากตัวเรา ถ้าพูดแรงๆก็คือคิดไม่เป็น หรือไม่กล้าคิดแหวกแนว ทำให้เราไม่กล้าที่จะทำในสิ่งที่แตกต่างเพราะกลัวผิด ผมไม่ได้หมายความว่าทุกเรื่องนะครับ เรื่องไม่ดีเราจะทำไปทำไม เราต้องกล้าทำเรื่องดีๆในสิ่งที่แตกต่าง เพื่อให้เกิดการพัฒนา เพื่อให้มันดีขึ้น ไม่ใช่ให้มันแย่ลง หลายคนก็คิดไปว่า ผมกำลังตั้งตัวเป็นผู้รู้มาเที่ยวสอนชาวเรา หรือผมกำลังอวดศักดาอะไรประมาณนั้น จริงๆแล้ว ผมไม่ได้รู้อะไรมากนักหรอก อาจารย์ที่ผมเคารพนับถือท่านก็คอยเตือนเสมอๆว่า อย่าอวดตนเองว่าดีว่าเก่งกว่าผู้อื่นเขาจะดูไม่เข้าทีหรือทุเรศ ผมก็ระวังตัวและเตือนตัวเองอยู่เสมอ สิ่งที่เขียนแสดงออกไปนั้น มันออกมาจากใจเมื่อได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นและกำลังจะเป็นไปตามเหตุและปัจจัย ก็เท่านั้นเองครับ ชาวเราที่มีมุมมองในเชิงสร้าสรรก็สามารถแสดงออกได้ 



  วกมาเรื่องที่ตั้งใจจะเขียนดีกว่า มีหลายคนที่มีความกล้าที่จะทำในสิ่งที่แตกต่างเพื่อให้ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกับรังสีเทคนิคไทย คำว่ารังสีเทคนิคไทยผมหมายรวมถึง นักรังสีเทคนิค จิต วิญญาณ เกียรติภูมิ ความเป็นนักรังสีเทคนิค และทุกๆอย่างที่เกี่ยวกับรังสีเทคนิคของประเทศไทย แต่หลายคนเหล่านั้นอาจชอกช้ำเพราะมีชาวเราอีกหลายคนที่ไม่เข้าใจสิ่งที่เขาเหล่านั้นได้ทำไป โรคท้อก็ถามหา บางคนที่ทุ่มเทก็ฝ่อและเหี่ยวไปเลยอย่างน่าเสียดาย การให้เกียรติกัน การให้กำลังใจกัน การเห็นคุณค่าของกันและกัน ในยุคแห่งการเริ่มต้นบุกเบิก (โดยเฉพาะคนที่ใกล้ๆกัน ในชุมชนเดียวกัน) น่าจะดีกว่าอย่างมากๆๆไหมครับ มันจะดีกว่าการที่เรา พูดถึง รู้สึก แสดงออก ในเชิงเห็นคุณค่าหรือยกย่องใครก็ไม่รู้ที่อยู่ไกลจากชุมชนเราเหลือเกิน ว่าเก่ง ว่าดี ว่าเจ๋ง แม้ใครคนนั้นไม่ได้สนใจเรา ไม่ได้ให้คุณอะไรกับชุมชนของเราเลยแม้แต่น้อย

  ชาวเราหลายคนที่ทำงานในโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งมีแค่เครื่องเอกซเรย์ธรรมดา ไม่มีเครื่องมือรังสีที่ทันสมัย ราคาแพง เรียกว่าอยู่ในที่แห้งแล้งกันดานทางเครื่องมือและเทคโนโลยีมาก มาบ่นกับผมทำนองน้อยเนื้อต่ำใจ ที่ต้องทำงานในสภาพนี้ ดูไม่ค่อยน่าตื่นเต้น และก็ไม่มีใครเหลียวแล เรียนมาแทบเป็นแทบตาย แต่ให้ทำแค่นี้ ผมก็ให้กำลังใจไปว่า เราต้องมีศัทรา เอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ทำงานให้เกิดความสนุกสนาน ทำตรงนั้นให้ดีที่สุดจนสุดความสามารถของเรา เสมือนว่าตรงนั้นคือบ้านของเรา ถ้าเราทำจนบ้านดีน่าอยู่อาศัย เราก็อยู่ดีมีสุขไปด้วย ถ้าเราหนีไปทำงานในที่ที่มันมีอะไรพร้อมหมดแล้ว มองอีกด้านหนึ่งมันจะสนุกหรือมันตรงไหน เพราะพร้อมหมดแล้ว เราจะไปทำอะไรได้ ก็มีชาวเราที่ทำงานในที่ที่อุดมสมบูรณ์เกือบจะทุกอย่าง มาบ่นให้ผมฟังเหมือนกันว่าทำไมที่ที่ทำงานอยู่มันแห้งแล้งน้ำใจเหลือเกิน ผมก็ได้แต่รำพึงในใจว่าโลกนี้หาความพอดียาก เลยคิดถึงคำพระที่ว่า จงพอใจในสิ่งที่ตนมี วงเล็บอย่างถูกต้อง หมายความว่า ไอ้ที่เราได้มาหรือมีนั้นจะต้องมีหรือได้มาอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ไม่ทุจริต ฉ้อโกง หรือใช่เล่ห์กลเอามาเป็นของตนเอง

  อาจารย์สุพจน์ อ่างแก้ว ชื่อนี้ชาวเรารู้จักดี ท่านเป็นผู้ให้กำเนิดวิชาชีพนี้ครั้งแรกในประเทศไทย อาจารย์สุพจน์ต้องลำบากและขมขื่นแสนสาหัส กว่าวิชาชีพนี้จะเป็นตัวตนได้อย่างปัจจุบันนี้ ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับอาจารย์สุพจน์ค่อนข้างบ่อยมากในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาและหลังจากที่อาจารย์เกษียณแล้ว ทุกครั้งที่คุยกัน อาจารย์จะมีเรื่องดีๆ ข้อคิดดีๆ มาให้ผมได้ขบคิด บางเรื่องก็นำไปปฏิบัติในชีวิตจริง หลังเกษียณอาจารย์สุพจน์ท่านจะมาที่คณะฯที่ที่ท่านเคยทำงานอยู่ที่เดียวกับผม เพื่อสอนนักศึกษา และอ่านฟิล์มเอกซเรย์ที่ออกบริการชุมชนทุกอาทิตย์แต่ระยะหลังสุขภาพท่านไม่เอื้ออำนวย ท่านมักจะแวะเข้ามาหาผมที่ห้องทำงานและพูดคุยกัน อาจารย์สุพจน์สามารถคุยได้ทุกเรื่อง และเป็นเรื่องที่มีสาระเสมอ และผมจะรู้สึกเหมือนว่าอาจารย์มาช่วยเคาะสนิมในตัวผม ทำให้ผมโล่งและตาสว่างหลายเรื่อง วันหนึ่งได้คุยกับท่านและผมถามท่านว่า สมัยที่ท่านไปดูงานรังสีเทคนิคในต่างประเทศ ท่านมีโอกาสที่จะอยู่อาศัยและทำงานในต่างประเทศได้เลย เพียงแค่ใช้ทุนรัฐบาล และเงินเดือนที่ต่างประเทศก็สูงมากด้วย ทำงานไม่นานก็คุ้มกับเงินที่ชดใช้รัฐบาลแล้ว ท่านฟังจบแล้วก็ยิ้มพร้อมกับตอบว่า "ถ้าจะบีบคั้นหาความสามารถและความดีในตัวผม คงได้เป็นน้ำสักหยดหนึ่งเห็นจะได้ น้ำหยดนี้ ถ้าเราไปหยดในที่ที่ชุ่มชื้นอยู่แล้ว มันคงไม่มีค่าหรือมีความหมายสักเท่าไร เพราะมันชื้นแฉะอยู่แล้ว เหมือนในต่างประเทศที่เข้าพร้อมอยู่แล้ว ตัวผมคงไม่สามารถทำอะไรให้เขาได้มากเท่าไร แต่ถ้าเราเอาหยดน้ำนี้ไปหยดในที่ที่แห้งแล้ง แม้เพียงหยดเดียวก็ดูมีค่ายิ่ง เหมือนประเทศไทยของเรา ที่แห้งแล้งและขาดแคลนอย่างมากในเรื่องรังสี ถ้าผมมาอยู่ตรงนี้ที่ประเทศไทย ผมก็จะช่วยทำประโยชน์ได้มาก"

ถ่ายที่คณะวิศวกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่
  ผมฟังอาจารย์สุพจน์พูดจบแล้ว มีความรู้สึกซาบซึ้งจับใจมากอย่างบอกไม่ถูกทีเดียว อาจารย์สุพจน์เปรียบเทียบชนิดเห็นภาพทะลุทะลวงโปร่งตลอดไม่มีอะไรติดขัด และผมก็ไม่อยากจะเก็บความรู้สึกนี้ไว้คนเดียว เรียนอาจารย์สุพจน์ว่าผมขออนุญาตเอาคำพูดที่อาจารย์คุยกับผม มาเขียนในบันทึกประกายรังสีเพื่อให้ชาวเราได้รับทราบด้วย โดยเฉพาะชาวเราในที่แห้งแล้งที่กำลังคิดว่าเรียนมาแทบตายแล้วให้ทำแค่นี้ ซึ่งท่านก็อนุญาต แต่ท่านเตือนว่า ระวังเขาจะหาว่าเรายกตัวเองสูงกว่าผู้อื่น อาจหาญไปสอนเขา ผมหวังว่าชาวเราคงไม่คิดเช่นนั้นนะครับ เพราะเจตนาผมไม่ต้องการเช่นนั้นเลย เพียงแค่พบอะไรดีๆก็เอามาฝากครับ เป็นกำลังใจเล็กๆกับชาวเราที่กำลังหดหู่อยู่ในเวลานี้ครับ


มานัส มงคลสุข

วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

รำลึก 115 ปีแห่งการค้นพบ X-Rays

เรินท์เกน (Wilhelm Conrad Roentgen) คำนี้คุ้นหูมากสำหรับหลายคน และสำหรับหลายคนอีกเช่นกันที่คำนี้เป็นคำที่ฟังแล้วประทับใจ เกิดความศรัททา ความเคารพนับถือ

เรินท์เกน เป็นศาสตราจารย์สอนอยู่ที่สถาบันฟิสิกส์ มหาวิทยาลัย Wurgburg ประเทศเยอรมัน เป็นอาจารย์ที่มีความมุ่งมั่นในการค้นคว้า รักสันโดด ไม่ชอบเป็นข่าว วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2438 (ค.ศ. 1895) เวลาบ่าย แสงไฟวูบวาบอย่างเบาบางในห้องทดลองที่เกิดจากการเรืองแสงของแบเรียมพลาติโนไซยาไนด์ขณะที่เขาศึกษารังสีแคโทด เรียกร้องความสนใจของเรินท์เกนอย่างมาก ถ้าหากเรินท์เกนเป็นเหมือนคนทั่วๆ ไปที่ไม่เฉลียวใจในสิ่งที่ได้เห็นหรือเชื่อในสิ่งที่อธิบายไม่ได้อาจคิดว่ามันคงเป็นอิทธิฤทธิ์ของผู้วิเศษหรือปีศาจ จากนั้นคงจะวิ่งหนีสิ่งนั้นไปด้วยความกลัวหรือสับสนอย่างมากแล้วก็พยายามลืมมันซะหรือไม่ให้ความสนใจเลยตั้งแต่ได้เห็น

แต่เรินท์เกนไม่เป็นเช่นนั้น แสงวูบวาบเพียงเล็กน้อยนั้นทำให้เขาลืมโลกไปเลย เขาหมกมุ่นกับการไตร่สวนให้ได้ว่าแสงวูบวาบนั้นมาจากอะไร ? มันน่าจะเป็นเรื่องที่อธิบายได้ ถ้าเราทำใจให้เหมือนเรินท์เกนในตอนนั้นซึ่งไม่มีความรู้เรื่องโครงสร้างอะตอมของสสารเลย เราคงทั้งตื่นเต้นและประสาทนิดๆ ว่านี่เราเจออะไรเข้าให้แล้ว บนพื้นฐานความรู้ทางฟิสิกส์ของอะตอมเพียงน้อยนิดในตอนนั้นเป็นอุปสรรคสำคัญในการค้นคว้า แต่ก็ยังไม่สามารถขวางกั้นความกระหายอยากรู้ของเรินท์เกนได้

เรินท์เกนลืมวันลืมเดือน ใช้เวลาอยู่ในห้องทดลองและบ่อยครั้งที่นอนในห้องทดลองเพียงเพื่ออยากรู้ว่าแสงนั้นคืออะไร อะไรเป็นต้นเหตุให้เกิดแสง ในที่สุดเขาก็ทราบได้ว่า การที่แบเรียมพลาติโนไซยาไนด์เรืองแสงได้เป็นเพราะอิทธิพลของสิ่งหนึ่งที่ส่งออกมาจากหลอดรังสีแคโทด สิ่งนั้นมีอำนาจทะลุผ่านสูงมากสามารถทะลุผ่านกระดาษดำได้สิ่งนั้นเรียกว่าเอกซเรย์ (X-Rays)  มีบางคนพูดว่า “เอกซเรย์เป็นเหมือนปีศาจของหลอดรังสีแคโทด” เป็นปีศาจที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

เรินท์เกนสามารถทดลองและค้นพบความจริงที่น่าทึ่งเกี่ยวกับสมบัติของเอกซเรย์รวม 19 อย่าง แต่อันที่สร้างความประทับใจให้เรินท์เกนมากคือ การได้รู้ว่าเอกซเรย์สามารถเปิดเผยรายละเอียดโครงกระดูกภายในมืออันเรียวงามของภรรยาของเขาซึ่งทำให้เขาและภรรยาตื้นตาและปลื้มปิติอย่างมาก เพราะภาพที่ปรากฏบนฟิล์มเรนท์เกนสามารภเห็นโครงกระดูกและแหวนหมั้นได้ชัดเจน

เรินท์เกนได้ส่งภาพเอกซเรย์ที่เขารวบรวมได้ไปยังเพื่อนสนิท 7 คน แม้เรินท์เกนจะไม่ชอบเป็นข่าวแต่การกระทำเช่นนั้นทำให้โลกได้รับรู้และยินดีร่วมไปกับเขาด้วยในทันที ปฏิกิริยาตอบรับของผู้คนทั่วไปแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ท่ามกลางกระแสแห่งความชื่นชมยินดีก็ยังมีสายลมอ่อนๆ ของความหวาดระแวงของผู้คนโชยมา บางคนวิตกว่าต่อไปนี้ภายในร่างกายที่แสนหวงแหนของเขาจะถูกเปิดเผยออกมาไม่เป็นความลับอีกต่อไปแล้ว

แต่เมื่อเวลาผ่านไปเอกซเรย์ได้ถูกแสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจในเชิงสร้างสรรมากกว่าการทำลาย สามารถช่วยพยุงชีวิตของผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่มีการแยกชั้นวรรณะ ไม่ว่าใครจะยากดีมีจนขนาดไหน เด็กเล็กๆ หนุ่มสาว แก่เฒ่า ดีหรือชั่ว ก็ไม่สามารถต้านทานพลังอำนาจในเชิงสร้างสรรในการทะลุผ่านเข้าไปข้างในของมันได้

ในที่สุด เรินท์เกนจึงถูกเสนอชื่อให้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์เป็นคนแรกของโลกในปี พ.ศ. 2444 (ค.ศ. 1901) ครั้งหนึ่ง เรินท์เกนเคยพูดว่า

“ข้าพเจ้าไม่ชอบเดินไปตามทางที่ผู้คนใช้กันมากๆ ข้าพเจ้าชอบปีนป่ายหน้าผา บุกป่าฝ่าหนาม ถ้าข้าพเจ้าหายไปละก็ อย่าไปค้นหาตามถนนใหญ่เลย”

นับจากวันที่เรินท์เกนค้นพบเอกซเรย์จนถึงปัจจุบันนาน 115 ปีแล้ว อีกประมาณ 1 เดือนก็จะถึงวันครบรอบการค้นพบเอกซเรย์อีกครั้ง ผมขอรำลึกถึงวันเวลานั้นเพื่อเป็นการเตือนความทรงจำของพวกเราเพื่อให้มีกำลังใจและพลังใจดุจเดียวกับเอกซเรย์ที่ยังคงแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของมันอย่างไม่เสื่อมคลาย 

ปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกถือเอาวันที่ 8 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวัน "World Radiography Day"........ ชื่นใจจริงๆ


การถ่ายภาพเอกซเรย์แบบธรรมดา (Conventional Radiography)


เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (X-ray Computed Tomography)


การผลิตเอกซเรย์เพื่อใช้งานทางด้านการแพทย์ในปัจจุบัน ใช้หลอดสุญญากาศภายในประกอบด้วยไส้หลอด (cathode) และจานโลหะ (anode) เมื่อไส้หลอดถูกกระแสไฟฟ้าเผาจนร้อนจัดจะปล่อยอิเล็กตรอนออกมา ซึ่งจะถูกเร่งด้วยความต่างศักย์ไฟฟ้าสูงมาก (kVp) ทำให้เกิดกระแสหลอด (mA) และวิ่งเข้าชนจานโลหะอย่างแรง พลังงานจลน์ของอิเล็กตรอนได้เปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนประมาณ 99% และเป็นเอกซเรย์เพียง 1% 
มานัส มงคลสุข

นักรังสีเทคนิคมืออาชีพ

  

เรื่องที่ผมจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ ได้เก็บรายละเอียดจากการเสวนา เมื่อคราวที่ผมได้มีโอกาสไปเป็นผู้ดำเนินการอภิปรายเรื่อง "นักรังสีเทคนิคมืออาชีพ" ในการประชุม 9th HA National Forum"องค์กรที่มีชีวิต-Living Organization" เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2551 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

องค์กรกับองค์การ
  บางคนถามแบบตั้งข้อสังเกตว่า องค์กรและองค์การเหมือนกันหรือไม่ คำตอบคือไม่เหมือนกันทีเดียวนัก คำว่าองค์การ (มาจากคำว่า Organization) ฟังดูน่าจะมีองค์ประกอบที่ใหญ่โตมโหราฬกว่าองค์กร เป็นศูนย์รวมของกิจการ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นหน่วยงานเดียวกัน เช่น องค์การสหประชาชาติ ประกอบด้วยสมาชิกจากประเทศต่างๆจำนวนมาก คำว่าองค์กร (หรือ Organ) เป็นส่วนประกอบย่อยของหน่วยงานใหญ่ที่ทำหน้าที่สัมพันธ์กัน หรือขึ้นต่อกันและกัน เอาเถอะ เรียกอย่างไรก็ตาม ก็ใช้คำว่าองค์กรที่มีชีวิต-Living Organization แล้วกัน
องค์กรที่มีชีวิตเป็นอย่างไร
  คำว่า "มีชีวิต" ฟังดูไม่น่าจะมีปัญหาที่เข้าใจยาก ถ้าพูดถึงสิ่งมีชีวิต ชาวเราคงทราบได้ทันที่ว่า สิ่งนั้นจะต้องมีสมบัติของสิ่งมีชีวิต เช่น กิน ขับถ่าย เจริญเติบโต สืบพันธุ์ เป็นต้น แต่เมื่อเป็นองค์กรที่มีชีวิต มันจะเหมือนกับสิ่งมีชีวิตหรือไม่ วันนั้นเราได้ข้อสรุปว่า องค์กรที่มีชีวิตควรมีหลักพื้นฐานในเชิงความคิดที่สำคัญดังนี้
  • องค์กรมีชีวิตหรือไม่ อยู่ที่เรานักรังสีเทคนิคมืออาชีพนี่แหละ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ชาวเราก็เป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในองค์กร ชาวเราสามารถทำให้องค์กรเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและถูกต้อง หรือเสื่อมถอย หมดความขลังลงไป คือเป็นไปได้ทั้งนั้นจากการกระทำของชาวเรา
  • องค์กรที่มีชีวิตควรมีการปรับตัวอยู่เสมอ เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตในทุกระดับ คือ มีการปรับตัวอยู่เสมอ หากสิ่งมีชีวิตหยุดการปรับตัว มันจะตายหรือสลายตัวไป ความมีชีวิตก็จะหมดไป ชาวเราซึ่งเป็นส่วนขององค์กร ไม่ร่วมคุณสมบัติเช่นนี้ ชาวเราก็จะช่วยทำให้องค์กรเสื่อมลงและตายในที่สุด
  • การสื่อสารแบบมีชีวิต คือการสื่อสารที่เข้าใจง่ายและเป็นมิตร หากการสื่อสารที่ใช้ในองค์กรเต็มไปด้วยความมุ่งร้ายต่อกัน แฝงไว้ด้วยกระแสแห่งการฟาดฟันกัน รับรองได้ว่าพังครับ องค์กรตายแน่
  • มนุษย์มีธรรมชาติที่สำคัญคือไม่ชอบการบังคับ อาจกล่าวได้ว่า ที่ใดก็ตามที่มีการบังคับที่นั้นจะมีการต่อต้าน เพราะการทำงานตามที่ถูกบังคับให้ทำนั้น จะเป็นการทำงานไปอย่างนั้นเอง ทำไปเพียงเพื่อปกป้องตนเองไม่ให้ถูกว่าได้ โดยไม่คิดว่าได้ทำจนดีจนสุดความสามารถของตัวเอง สักแต่ทำ ไม่ได้ทำด้วยใจ หากเป็นเช่นนี้ คงไม่มีชีวิตสำหรับองค์กรนั้นแน่ๆ
  คงไม่มีใครอยากเห็น ชาวรังสีเทคนิคหรือรังสีการแพทย์ ที่เหลืออยู่ในองค์กรกลายเป็นเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่มีเพียงสมบัติของสิ่งมีชีวิตตามหลักวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่มีสภาพที่หมดไฟและขาดขวัญกำลังใจ และเป็นตัวถ่วงองค์กรให้เสื่อมถอยลงไป อยากแสดงความเห็นฝากไปถึงผู้นำองค์กรทั้งหลายด้วยความเคารพครับ ผู้นำองค์กรต้องนำความมีชีวิตเข้ามาสู่องค์กรอย่างเลี่ยงไม่ได้ งานของผู้นำองค์กร คงไม่น่าจะเรียบง่ายเพียงแค่การกำหนดตัวชี้วัดอย่างเมามัน และใช้สิ่งเหล่านั้นเพื่อการควบคุมกำกับให้เป็นไปตามตัวชี้วัด แต่ควรเป็นการนำความมีชีวิตมาสู่องค์กร หากจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ผู้นำองค์กรต้องทำให้คนในองค์กรเห็นคุณค่าของการเปลี่ยนแปลง (มองแบบ living organism) โดยไม่ใช้วิธีสั่งการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (มองแบบ mechanical view) ไม่มีชาวรังสีเทคนิคคนใดหรือใครชอบการสั่งให้เปลี่ยน จริงไหมครับ



การสอบใบประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคครั้งประวัติศาสตร์
เมื่อ พ.ศ. 2547 ประธานคณะกรรมการวิชาชีพ
รองศาสตราจารย์จิตต์ชัย สุริยะไชยากร ดูแลความเรียบร้อย

ดรรชนีความมีชีวิตขององค์กร
  เครื่องบ่งชี้ที่เป็นตัวบอกว่า องค์กรนั้นมีชีวิตชีวาคืออะไรบ้าง หลายคนจะมีวิธีมองในส่วนนี้แตกต่างกันไปบ้าง แต่เมื่อพิจารณาในมุมมองของชาวเรา ชาวรังสีทั้งหลาย วันนั้นพอสรุปได้ว่า
  • ดูที่หน้าตาและแววตาของชาวเรานักรังสีเทคนิคมืออาชีพทั้งหลาย หากชาวเรารู้สึกว่าภูมิใจในงานที่ได้ทำ มีความปิติที่ได้ทำให้ผู้ป่วยพ้นจากความทุกข์ทรมานจากโรคภัย โดยไม่คำนึงถึงอามิสสินจ้าง เช่นนี้ จะปรากฏออกทางใบหน้าและแววตา ใบหน้าจะอิ่มเอิบ แววตาจะดูใส อบอุ่นมีเมตตา กรณีนี้ ดรรชนีความมีชีวิตชีวาขององค์กรจะพุ่งปรี๊ดทีเดียว
  • หากชาวเราเห็นคุณค่าในตัวเราเอง ขณะเดียวกันก็มีผู้อื่นเห็นคุณค่าในตัวเรา ชาวเราเห็นคุณค่าของเพื่อนร่วมงาน ทั้งวิชาชีพเดียวกันและวิชาชีพอื่น ชาวเรารู้สึกรักองค์กรมากอย่างมีสติ อย่างนี้ ดรรชนีความมีชีวิตชีวาขององค์กรจะพุ่งปรี๊ด
  • หากชาวเราเลิกคิดแบบทำงานให้เพียงแค่ตัวเองอยู่รอดได้ ขณะเดียวกัน ก็ทุ่มเทความคิด ค้นหาวืธีว่า ทำงานอย่างไรให้องค์กรอยู่รอด เท่านี้ ดรรชนีความมีชีวิตชีวาขององค์กรจะพุ่งปรี๊ด
  กล่าวทิ้งท้ายว่า การที่นักรังสีเทคนิคหรือนักรังสีการแพทย์ต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทีมสุขภาพนั้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ชาวเราเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในองค์กร ซึ่งเปลี่ยนไปในทิศทางที่ทำให้องค์กรมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ได้ หากประสงค์ให้องค์กรมีชีวิต ชาวเราโดยเฉพาะชาวเราที่เป็นมืออาชีพควร ทำตัวเองให้มีชีวิตชีวา คำนึงถึงประโยชน์ของผู้อื่นเป็นหลัก (customer/patient focus) สื่อสารการทำงานระหว่างกันและกันให้รู้เรื่องเข้าใจ ปรับตัวอยู่เสมอ เห็นคุณค่าในตัวเองและองค์กร เลิกคิดแบบทำงานเพียงเพื่อตัวเองรอดไปวันๆ ควรคิดว่า ทำอย่างไรองค์กรจึงจะรอดอย่างถูกต้อง

“บ้านที่ไม่มีชีวิต เป็นบ้านที่ทรุดโทรมเร็วเพราะเกิดจากการทิ้งร้างไม่มีผู้คนอยู่อาศัย บ้านที่มีชีวิต เป็นบ้านที่มีผู้คนที่มีชีวิตอาศัยอยู่”

ลิงเหมือนคน?

ครั้งหนึ่งนานแล้ว ผมได้เคยอ่านบทความเกี่ยวกับ Genetic Coding เป็นการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ลิงมีการคิดและกระทำที่เลียนแบบกันจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง เรื่องนี้ ได้เคยนำไปเล่าให้นักศึกษาฟังบ่อยครั้ง ไม่รู้จำกันได้หรือเปล่า
     การวิจัยนั้นได้ทดลองเลี้ยงลิงจำนวน 4 ตัวไว้ในกรง ที่กลางกรงขังลิงมีเสาตั้งอยู่หนึ่งเสา ที่ยอดเสามีกล้วยหนึ่งหวีแขวนไว้ เหนือกล้วยขึ้นไปมีฝักบัวสามารถพ่นน้ำออกมาได้ คนเลี้ยงลิงเฝ้าสังเกตุพฤติกรรมของลิงอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีการให้อาหารลิงเลย เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า ลิงบางตัวเริ่มหิว และหิวจัด เมื่อลิงตัวนั้นทนหิวไม่ไหว มันก็ปีนเสาขึ้นไปเพื่อกินกล้วยที่แขวนไว้ แต่ก่อนที่ลิงตัวนั้นจะปีนเสาขึ้นไปถึงกล้วย คนเลี้ยงลิงจะบังคับให้ฝักบัวพ่นน้ำออกมา น้ำที่พ่นออกมาก็จะถูกลิงตัวที่ปีนเสา ทำให้ตัวมันเปียก สัญชาติญาณของลิงมันกลัวน้ำ มันจึงไต่เสาลงมาอย่างรวดเร็วโดยไม่ได้กินกล้วยเลยแถมตัวมันก็เปียก มันกลัวน้ำมากกว่ากลัวหิว และจากนั้นลิงตัวนั้นก็ไม่กล้าปีนเสาขึ้นไปอีกเลยยอมหิวตายดีกว่า ส่วนลิงตัวที่เหลืออีกสามตัวก็เริ่มหิวตามลำดับ ตัวไหนหิวจัดก่อนก็จะปีนเสาขึ้นไปและก็จะพบเหตุการณ์เหมือนตัวแรก โดยสรุปแล้ว ลิงทั้งสี่ตัวที่อยู่ในกรงมีประสบการณ์เดียวกันหมดคือ ไม่สามารถกินกล้วยที่อยู่บนเสาทั้งที่หิวจะตายและตัวเปียกทุกตัว
     ต่อมา คนเลี้ยงลิงนำลิงตัวใหม่ 1 ตัว มาแทนตัวเก่า 1 ตัว ดังนั้นขณะนี้ในกรงจะมีลิงเก่า 3 ตัวและมีลิงน้องใหม่ 1 ตัว รวมเป็น 4 ตัวเท่าเดิม เวลาผ่านไปลิงน้องใหม่เริ่มหิวและสงสัยว่าลิงรุ่นพี่ทำไมจึงนั่งน้ำลายยืดด้วยความหิว ทำไมไม่ปืนเสาขึ้นไปกินกล้วย ลิงรุ่นพี่กับลิงน้องใหม่มันคงคุยกันภาษาลิง ลิงรุ่นพี่เตือนลิงรุ่นน้องว่า อย่าปืนเสาขึ้นไปเด็ดขาดอันตรายมากอะไรทำนองนั้น ดูเหมือนลิงน้องใหม่ไม่ยอมเชื่อเพราะความหิวมันจึงฝ่าฝืนคำเตือนของรุ่นพี่ปืนเสาขึ้นไป ลิงรุ่นพี่เห็นดังนั้นก็ออกอาการโมโหจัดเพราะเตือนแล้วไม่ยอมฟัง ลิงรุ่นพี่ทั้งสามตัวพร้อมกันส่งเสียงเอะอะวิ่งพล่านรอบกรง ลิงน้องใหม่เริ่มลังเลใจหยุดปีนเสาและไต่กลับลงมาทั้งที่ไม่ได้กินกล้วยและไม่ถูกน้ำพ่นใส่ ก็คงพูดภาษากับลิงรุ่นพี่ว่า "จริงหรือพี่ ดีนะที่พี่เตือนไม่งั้นผมหรือหนูคงแย่เลย" จากนั้นลิงน้องใหม่ก็ไม่กล้าปีนเสาขึ้นไปอีกเลย การทดลองดำเนินต่อไปด้วยการเปลี่ยนลิงตัวใหม่เข้ามาแทนลิงตัวเก่าจนครบ 4 ตัวและเหตุการณ์ก็เกิดทำนองเดียวกัน โดยสรุป ขณะนี้ในกรงมีลิงชุดใหม่ทั้งหมด 4 ตัว ไม่กล้าปีนเสาขึ้นไปกินกล้วยทั้งที่หิวจะตายและทุกตัวไม่เคยเห็นน้ำพ่นออกมาจากฝักบัวได้ยินการบอกเล่าจากรุ่นพี่เท่านั้น
     การทดลองนี้ยังคงดำเนินต่อไป ลิงชุดใหม่ก็ถูกเปลี่ยนเข้ามาตามลำดับ และได้ข้อสรุปเหมือนกันคือ ลิงใหม่ทุกตัวไม่กล้าปีนเสาขึ้นไปกินกล้วยทั้งที่ไม่เคยเห็นและไม่โดยน้ำพ่นใส่

การทดลองนี้สนับสนุน Genetic Coding ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การถ่ายทอดความคิด กระบวนการคิด พฤติกรรม ฯลฯ จากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่งเป็นจริงในลิง คำถามคือ มนุษย์เราเป็นแบบนี้หรือไม่ อะไรเป็นคำตอบสุดท้าย มีเหตุผลหลายอย่างที่พอเชื่อได้ว่า มนุษย์ก็มีพฤติกรรมทำนองนี้ไม่แตกต่างจากลิง คงไม่ต้องชักตัวอย่างมากเพราะหลายคนอาจจะพอเห็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นรอบๆตัวอยู่แล้ว หรือเกิดแม้กับตัวเอง แต่ตัวเองไม่รู้สึกก็ได้
     พฤติกรรมเลียนแบบตามๆกันมา มีเยอะมาก ลองหยุดมองไปรอบๆตัวซิครับ เห็นไหม ตั้งแต่จุดเล็กๆ ไปถึงจุดใหญ่ระดับประเทศ เอาแบบเบาที่เห็นกันอยู่ดาดดื่น เช่น การรับน้องใหม่ การแซงคิวซื้อของ ขับรถแซงคิว ขับรถจี้กันติดๆมากเกินไปจนเกิดอุบัติเหตุง่ายๆ เป็นต้น 



     ชาวเราจะมีพฤติกรรมเช่นเดียวกับลิงที่เห็นรุ่นพี่ทำมาอย่างไรก็ทำไปตามนั้นโดยไม่ได้คิดว่าสิ่งที่ทำเหมาะสมในสถานะการณ์นั้นๆแล้วหรือไม่ ผมว่ามันมีเรื่องให้คิดเยอะและเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความกล้าในการกระทำที่แตกต่างในทางที่ถูกต้อง
     บางเรื่องที่ทำๆกันมาบางทีมันอาจไม่ถูกต้องเหมาะสมก็ได้ แต่ว่าก็ทำมากันจนเคยชินแล้วนานแล้วจนคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างนั้นแหละ ถามว่าทำไมต้องทำอย่างนั้น บางทีคิดไปคิดมาอาจงงๆเหมือนกัน คำตอบคือมันชินซะแล้วโดยไม่ยอมจะเป็นลิงรุ่นใหม่ที่กล้าปีนเสาขึ้นไปกินกล้วยยอมหิวตายดีกว่า ผมอยากให้ชาวเราช่วยกันสำรวจตัวเองว่าในแวดวงของพวกเรามีเรื่องลิงแบบนี้บ้างไหม เพราะผมมั่นใจว่า พฤติกรรมเช่นที่ว่ามานี้เป็นแรงเสียดทานหรือตัวถ่วงประการหนึ่งที่สำคัญมากต่อการพัฒนาสังคมของเรา